รีเซต

ส่องหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งกระฉูดแค่ไหน

ส่องหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งกระฉูดแค่ไหน
TNN ช่อง16
1 กุมภาพันธ์ 2564 ( 11:38 )
312
ส่องหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งกระฉูดแค่ไหน

ความเปราะบางเศรษฐกิจจากมหันตภัยร้าย "โควิด"หนุนให้ภาระหนี้ครัวเรือนกลับมาพุ่งกระฉูดอีกระลอก  โดยจากข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าคนไทยมีหนี้มากถึง 483,950.84 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งขยายตัวสูงถึง 42.3% สูงสุดในรอบ 12 ปี นับจากปี 52 โดยแรงจูงใจก่อหนี้มาจากการขาดรายได้ เนื่องจากถูกออกจากงาน และรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เนื่องจากการค้าขายยากลำบากขึ้นทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลัง จากภาวะโควิด จึงมีภาระหนี้สินมากขึ้นล้นพ้นตัวมากขึ้น  

ขณะที่ค่าครองชีพนับวันยิ่งถีบตัวสูงขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเข้ามาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ด้วยการออกมาตรการต่างๆ เข้ามาเสริม เช่น คนละครึ่ง การเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเติมเงินกระเป๋าให้ประชาชน ก็ยังไม่สามารถช่วยลดปัญหาลงได้ โดยจากข้อมูลการก่อหนี้ เป็นหนี้ใหม่สูงถึง 70% ส่วนใหญ่มาจากหนี้ในระบบหรือผ่านระบบสถาบันการเงินสูงถึง 75.3% และนอกระบบ 24.7%

โดยการก่อหนี้ที่ครองแชมป์สูงสุดคือ บัตรเครดิต 40.3%  รองลงมาเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล(อุปโภคบริโภค) 34.7% ที่เหลือเป็นยานพาหนะ ประกอบธุรกิจ   ที่อยู่อาศัย  และการศึกษา  

สำหรับเหตุผลที่ไทยมีหนี้ครัวเรือนเป็นสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลสูง เพราะเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และปัจจุบันเป็นสินเชื่อในระบบที่คนไทยเข้าถึงได้ง่ายที่สุด

 สอดรับกับข้อมูลของ "ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) " สิ้นไตรมาส 3/ 63 หนี้สินครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 13.76 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.32% เทียบกับไตรมาส 2/2563 ที่หนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 13.58 ล้านล้านบาท และสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 86.6% ต่อจีดีพี เทียบกับไตรมาส 2/2563 ที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 83.8% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปี

ขณะที่ "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" คาดว่าหนี้ครัวเรือนในปี 64 จะเพิ่มขึ้นมาที่ 91.0% ต่อจีดีพี แต่ขึ้นอยู่กับว่าการแพร่ระบาดโควิดรอบ 2 จะยืดเยื้อมากน้อยแค่ไหน เพราะจากตัวเลขในไตรมาส 3/63  ของธปท. หนี้เพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่  เพิ่มขึ้น 1.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 88% ของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น 1.82 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ 13.77 ล้านล้านบาท และยังมีสัญญาณการก่อหนี้ในส่วนอื่นๆ ทั้งหนี้ก้อนใหญ่ เช่น หนี้เพื่อการประกอบอาชีพและหนี้เช่าซื้อรถยนต์ และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่กลับมาเร่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ที่น่าตกใจอย่างยิ่งเห็นจะเป็นภาระหนี้ต่อรายได้(ดีเอสอาร์) โดยเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งประเทศอยู่ที่ 27% แต่ครัวเรือนในกลุ่มรายได้น้อย หรือมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน กลับมีดีเอสอาร์อยู่ในระดับสูง และสูงกว่าค่าเฉลี่ยดีเอสอาร์ของครัวเรือนทั้งประเทศหลายเท่า

 โดยเฉพาะครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน มีดีเอสอาร์สูงถึง 84% ขณะที่ครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ ระหว่าง 5,000-10,000 บาทต่อเดือน มีดีเอสอาร์ 40% สะท้อนสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างตึงตัว และมีความอ่อนไหวต่อปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤติโควิด ซึ่งหากยังยืดเยื้อไม่มีท่าที่จะหยุดการแพร่เชื้อแล้วล่ะก็ จะกระทบต่อความสามารถในการชำหนี้ และนำไปสู่ภาวะหนี้เสียในระบบเพิ่มขึ้น

จากสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกหย่อมหญ้าทำให้รัฐต้องออกมาตการเยียวยาบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน และผู้ประกอบการรายเล็กรายใหญ่ โดย ธปท.ขอให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน หรือนอนแบงก์ เร่งช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย เพื่อบรรเทาผลกระทบ พร้อมขยายเวลาการยื่นขอรับความช่วยเหลือไปสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.นี้ จากเดิมสิ้นสุด 31 ธ.ค.

ทั้งนี้กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา หรือมาตรการขั้นต่ำ หรือมาตรการอื่น ให้ผู้ให้บริการทางการเงิน หรือสถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ และผู้ให้บริการทางการเงินต้องจัดให้มีแผนปรับโครงสร้างหนี้ ในลักษณะเดียวกับคลินิกแก้หนี้สำหรับลูกหนี้ที่เป็น NPL ซึ่งจะเป็นมาตรการเพิ่มเติมตามความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก

แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐและสถาบันการการเงินจะพร้อมใจกันคลอดมาตรการเข้ามาเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน และลูกค้าในระดับหนึ่งแล้ว แต่ต้องยอมรับว่า ผลกระทบจากวิกฤติโควิดมาเร็วและแรงเกินที่ลูกหนี้บางส่วนจะตั้งรับ และต้องการเวลาในการเยียวยาเพิ่มเติมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องอาศัยการปรับพฤติกรรมของลูกหนี้เอง โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อย ที่คงต้องเปลี่ยนหรือรอบคอบกับการใช้จ่ายให้มากขึ้น ไม่ก่อหนี้เกินตัว หรือหากมีหนี้เกิดขึ้นแล้วจะต้องเคลียร์ให้จบในเร็ววัน รวมทั้งไม่ควรกู้หนี้ใหม่มาโป๊ะหนี้เก่าเหมือนงูกินหางมีปัญหาไม่สิ้นสุด

เพราะหากถึงทางตันลูกหนี้แบกรับภาระหนี้ไม่ไหว ก็อาจจำเป็นจะต้องหันไปพึ่งหนึ้นอกระบบหวังแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้ยากขึ้นไปอีก และจะทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ฝังรากลึกถ่วงเศรษฐกิจไทยมานาน กลายเป็นเรื่องที่ใหญ่จนเกินแก้ และสร้างอันตรายให้แก่เศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินในอนาคต





เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง