รีเซต

จุดกำเนิด “สยามคณิกา” การเข้ามาของ “ไฟฟ้า” ในสยามกับความนิยม “เริงรมย์ยามราตรี”

จุดกำเนิด “สยามคณิกา” การเข้ามาของ “ไฟฟ้า” ในสยามกับความนิยม “เริงรมย์ยามราตรี”
TNN ช่อง16
9 พฤษภาคม 2567 ( 09:18 )
32

การเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคณิกานั้น มักได้รับการจับตามองมาแต่ไหนแต่ไร เพราะถือเป็นประเด็นที่ “กระตุกต่อมจริยธรรม” อย่างมาก บางส่วนอาจมองว่าไม่เหมาะสม หรือถึงขั้นเรียกร้องให้เกิดการแบนเลยทีเดียว เหมือนกรณีอย่าง คังคุไบ ภาพยนตร์อินเดียบนเน็ตฟลิกซ์


สังคมของสยามนั้น อยู่คู่กับเรื่องราวลักษณะนี้มาช้านาน และขยายตัวมากขึ้น ในช่วงที่สยามประเทศนำเข้า “กิจการไฟฟ้า” เข้ามา


สถานเริงรมย์สยามในอดีต


ต้องอธิบายก่อนว่า การกำเนิดสถานเริงรมย์ในแผ่นดินไทยนั้น มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เสียด้วยซ้ำ หากแต่ในช่วงที่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ จะย้อนไปได้ถึงสมัย “สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง” หรือต้นราชวงศ์อู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่ง “ราชอาณาจักรอยุธยา” ซึ่งหลักฐานปรากฏในกฎหมายตราสามดวง ความตอนหนึ่งว่า


“มาตราหนึ่ง ชายใดสู่ขอเอาหญิงคนขำ คนรำเที่ยวขอทานเลี้ยงชีวิต แลหญิงนครโสเภณีมาเลี้ยงเป็นเมีย… ให้เอาหญิงนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง ผจานด้วยไถนาสามวัน”


หรือในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ได้มีการเก็บภาษีโสเภณี ดังที่ปรากฏในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ความตอนหนึ่งว่า “... หากบุตรีคนใดทำชั่ว ก็ให้ขายบุตรีส่งแก่ชายผู้หนึ่ง ซึ่งมีความชอบธรรมที่จะเกณฑ์ให้เป็นหญิงแพศยาหาเงินได้ โดยชายผู้นั้นต้องเสียภาษีถวายพระมหากษัตริย์” ซึ่งจะตั้งฐานอยู่ใกล้กับชุมชนชาวจีน บริเวณท่าเรือ เพื่อรับลูกค้าทั้งต่างชาติและไทย ดังที่ปรากฏในแถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี ความว่า


“ตลาดจีนบ้านปากคลองขุนละครไทย มีหญิงละครโสเภณีท้ายตลาดอยู่ 4 โรง รับจ้างชำเราบุรุษ …”


และในบรรดาหญิงโสเภณีนี้ สามารถจัดแบ่งประเภทยิบย่อย แต่หนึ่งในนั้นที่น่าสนใจ ก็คือ “คณิกา”


เพราะตามคติของอารยธรรมอินเดียนั้น คณิกาจัดว่าเป็น “โสเภณีสูงสูงสุด” ที่จะต้องเชี่ยวชาญศิลปวิทยาการในหลากหลายแขนง ไม่เพียงแต่การบริการ เต้นรำ นาฏลีลา หรือขับร้อง แต่ยังต้องจัดดอกไม้ ร้อยมาลัย แต่งร้อยกรอง แสดงดนตรีเครื่องดีดและตี เย็บปักถักร้อย หรือถึงขั้นปรุงยาเสน่ห์ เลยทีเดียว


แน่นอน ในหลายอารยธรรม โดยเฉพาะโลกตะวันออก จะจัดคณิกาให้แยกออกมาจากโสเภณี อย่างญี่ปุ่น ที่จะมี “เกอิชา” และ “โออิรัน” โดยหญิงประเภทแรก เน้นให้บริการแบบเน้นการแสดง ส่วนจะมีเรื่องของเสพเมถุนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ตกลงกัน ในขณะที่อย่างหลัง เน้นเสพกามรมณ์เป็นหลัก


แต่สำหรับสยามนั้น ไม่ได้มีการแบ่งแยกคณิกาและโสเภณี โดยทำการถอดความคณิกาว่าเป็น “สตรีแห่งชุมชน” ซึ่งหมายถึง สตรีที่ได้รับการเชยชมโดยผู้ใดก็ตามมากหน้าหลายตาเป็นนิจศีล หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเรียกแบบใด พวกนี้ก็ขายเรือนร่างด้วยกันทั้งสิ้น


ยิ่งเข้าสู่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โสเภณียิ่งกลายเป็นประเด็นทางสังคม ขนาดที่ว่ามีการเรียกสถานบริการทำนองนี้ว่า “โรงหญิงชั่ว” ดังที่ปรากฏในนิราศเมืองแกลง ของสุนทรภู่ ความว่า


“ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน

มีซุ้มซอกตรอกนางจ้านประจาน ยิ่งสราญร้องขับไม่หลับลง”


นิราศบทนี้ มีความน่าสนใจในบทสุดท้าย เพราะทำให้คิดได้ว่า โรงหญิงชั่วนั้น เปิดให้บริการยามค่ำคืน ซึ่งถือว่าผิดวิสัยอย่างมาก เพราะตามหลักคิดที่ว่าด้วย “Night Sphere” ของโลกตะวันออกนั้น เป็นพื้นที่ที่บรรดาภูติผีปีศาจจะออกอาละวาด ผู้คนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ ไม่เช่นนั้นอาจพบกับความน่ากลัวของภูติผี


อย่าลืมว่า ในสมัยก่อน ที่มีเครื่องให้แสงสว่างเพียงไต้หรือคบไฟ หากมีเงินก็จะเป็นตะเกียงเจ้าพายุ ย่อมเป็นการยากยิ่งที่จะใช้บริการโรงโสเภณีได้ ดังนั้น ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จะมีไม่กี่บริเวณเท่านั้น ที่จะมีสถานบริการประเภทนี้ หนึ่งในนั้นคือท่าเรือ ที่มักจะพลุกพล่านตลอดเวลา 


ส่วนอีกทางหนึ่งคือโรงโสเภณีตาม “ชุมชนชาวจีน” ในเขตเมือง เพราะมักจะเป็นนายทุนในการจ้างที่ให้รายได้งาม ซึ่งเป็นการดีต่อหญิงที่หมายมั่นจะเข้าสู่เส้นทางนี้


ด้วยเหตุนี้ บรรดากิจการค้ากามนายทุนจีน จึงมีแต่สาวงาม พร้อมให้บริการทั้งสิ้น ดังที่ร้อยกรองนิราศชมตลาดสำเพ็งได้บรรยายไว้ ความว่า 


“ถึงตรอกอาเนี่ยเก็งยืนเพ็งพิศ ล้วนชนิดนางจีนถิ่นอาศัย

แต่งตัวยั่วยวนเป็นนวลใย ให้จีนใหม่ชอบพอไต้ล่อตา”


จนในที่สุด เมื่อกิจการไฟฟ้าสยาม ได้เริ่มก่อรูปขึ้นมา ก็จะยิ่งทำให้ธุรกิจโรงโสเภณีแพร่สะพัดในระดับสุดปอดสุดโค้งอย่างไม่น่าเชื่อ


ยามแสงไฟสาดส่อง


ในช่วงก่อนกิจการไฟฟ้าสยามจะเริ่มต้น ชุมชนชาวจีนได้ Market Shared บริการค้ากามแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเบลีวิวบาร์และสะเปล็นดิดบาร์ย่านบางรัก คลับจางหวางหม่องที่วรจักร คลับเบอร์สิบที่เจริญกรุง หรือคลับยี่สุ่นเหลืองตรงข้ามตรอกเต๊า 


แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุด หนีไม่พ้น “สำเพ็ง” เพราะสร้างสมชื่อเสียงด้านคณิกางามเลิศในสยาม ตั้งแต่สมัยสำนักยายแฟง จนมีคำขวัญติดตลกที่ว่า


“ยายฟักขายข้าวแกง ยายแฟงขายกะหรี่”


มีบุรุษติดอกติดใจกะหรี่ยายแฟงหนักมาก ถึงขนาดที่กำไรทั้งหมดที่ได้มา ยายแฟงถวายเพื่อสร้างวัด ที่ในปัจจุบันชื่อว่า “วัดคณิกาผล” เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ตรงข้าม สน. พลับพลาไชย 2 เลยทีเดียว


แน่นอน ยามที่เกิดกิจการไฟฟ้าสยาม ราวพุทธทศวรรษ 2430 เป็น “จุดตัดสำคัญ” ที่ทำให้โรงโสเภณีจึงไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะที่ แต่ยังได้ไปแฝงฝังอยู่ตาม “กิจกรรมยามค่ำคืน” ที่เกิดขึ้นมากับการมีไฟฟ้าอย่างมหาศาล 


ไม่ว่าจะเป็น “โรงบ่อนเบี้ย” ที่เปิดให้แทงหวยกันตอนกลางคืน ในระหว่างที่รอผลหวยออก ย่อมสามารถที่จะเสพกามรมณ์ไปพลางก่อนได้ โดยในช่วงแรก เป็นการดีลธุรกิจระหว่างโรงบ่อนเบี้ยและโรงโสเภณี แต่ภายหลัง โรงบ่อนเบี้ยได้ให้บริการโสเภณีด้วยตนเอง เป็นการหารายได้อีกทอดหนึ่ง


หรือกระทั่ง “โรงมหรสพ” ที่หันมาเปิดแสดงยามค่ำคืน โชว์แสง สี เสียง ตระการตา ทำให้สามารถโชว์ “Performing Art” ไม่ว่าจะเป็นละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง ละครนอก โขน ยี่เก ได้แบบที่ช่วงเวลากลางวันทำไม่ได้


ยิ่งไปกว่านั้น ยังมี “การโชว์พิสดาร” อีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะ “โรงฮอลล์” ย่านสุรวงศ์ เพราะจะมีการโชว์เต้นยั่วยวน ซึ่งเป็นรอยทางของ “การเต้นอะโกโก้และปิงปองโชว์” ในยุคปัจจุบัน ดังที่ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ นักเขียนสารคดี ได้ประพันธ์ร้อยกรองไว้ ความว่า


“ระบำยามร่ำร่าย เอวองค์ส่วยย้ายไปมา

กรอกพักตร์ยักนัยน์ตา ขาแขนหล่อนอ่อนละมัย

เปลือยกายผายหน้าอก เห็นบัวบกอยู่รำไร

คุณขาช้าอยู่ใย ไปดูกันวันนี้เทอญ”


ซึ่งภายหลังจากการทำการแสดง หากหญิงนางโชว์ต้องการหารายได้เพิ่ม ย่อมสามารถที่จะติดต่อแขกได้อีกทอดหนึ่ง


ทั้งนี้ สถานโสเภณีได้มีการแยกเป็นกิจจะลักษณะโดยรัฐสยาม เพราะจัดให้มี “การติดโคมเขียว” เพื่อสะดวกต่อการเก็บภาษี ซึ่งโคมเขียวนี้ กลายมาเป็นอีกชื่อเรียกหนึ่งของโสเภณีเลยทีเดียว


เมื่อมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า การเสพกามรมณ์อยู่คู่กับประเทศมาช้านาน ทั้งนี้ การเสพกามรมณ์ยังกระทำการในช่วงเวลากลางคืน แม้จะมีความยากลำบาก แต่ชาวสยามก็ยังสรรหาให้เกิดขึ้นได้ และยิ่งมีไฟฟ้ายิ่งแล้วใหญ่ โรงโสเภณีกระจายไปตามเขตเมืองหลวงอย่างยิ่ง


แหล่งอ้างอิง


  • วิทยานิพนธ์ ชีวิตยามค่ำคืนในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2427-2488

  • วิทยานิพนธ์ โสเภณีกับนโยบายของรัฐบาลไทย พ.ศ. 2411-2503

  • รายงานวิจัย แม่หญิงสิขายตัว: ชุมชน และการค้าประเวณีในสังคมไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง