การซื้อขายทองคำกลับมา “คึกคัก” อีกครั้ง หลังจากที่ราคาตลาดโลกช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับขึ้นไปทดสอบแนวต้านสำคัญบริเวณ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี
และในสัปดาห์นี้ยังคงปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 ราคาปรับขึ้นไปอยู่ระดับ 1,818 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ถือเป็นราคาที่ปรับขึ้นมาสูงสุดในรอบเกือบ 9 ปี (8 ปี 8 เดือน) หรือตั้งแต่ปี 2554
หากมาดูความเคลื่อนไหวของราคาทองคำช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าได้ให้ผลตอบแทนสูงถึง 17% โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มาอยู่ที่ระดับราว 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนราคาในประเทศไทยขยับขึ้นจากบริเวณ 21,500 บาทต่อบาททองคำ มาอยู่ที่ระดับ 26,500 บาทต่อบาททองคำ
สำหรับผลตอบแทนของทองคำที่ 17% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นระดับที่สูงกว่าผลตอบแทนทั้งปีของปี 2562 ที่ทำได้ในระดับ 10%
นอกจากนี้ หากเทียบผลตอบแทน “ทองคำ” กับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ แล้ว ทองคำถือเป็นสินทรัพย์เดียวที่สามารถให้ผลตอบแทนเป็น “บวก” ได้ในปีนี้
โดยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ “ทองคำ” ให้ผลตอบแทน +17% // “หุ้นไทย” ให้ผลตอบแทน -13% // ”ดาวน์โจนส์” ให้ผลตอบแทน - 10.5% // และ “น้ำมันดิบ” ให้ผลตอบแทน -37%
อย่างไรก็ดี หากดูการเคลื่อนไหวของราคาทองคำตั้งแต่ต้นปีจนถึงล่าสุดนี้ พบว่าเพิ่มขึ้นกว่า 19 เปอร์เซนต์แล้ว ขณะที่ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวน์ โจนส์ กลับร่วงลงกว่า 15 เปอร์เซนต์แล้วในปีนี้ เช่นเดียวกับ ดัชนี S&P 500 ที่ร่วงลงกว่า 10 เปอร์เซนต์
ราคาทองคำตลาดโลกที่ปรับขึ้นร้อนแรง ยังส่งผลต่อเนื่องถึง “กองทุนทองคำ” ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนในกองทุนทองคำของไทยเป็นบวกอย่างน่าพอใจ ซึ่งจากการจัดอันดับของ บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน(บลน.) เว็ลธ์ เมจิก พบว่า 5 อันดับกองทุนทองคำในไทยที่ให้ผลตอบแทนดีสุด ช่วง 1 ปีย้อนหลังคือ
1. กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลด์ ของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ไทยพาณิชย์ ให้ผลตอบแทน 24.91%
2.กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล โกลด์ ฟันด์ ของ บลจ.เอ็มเอฟซี ให้ผลตอบแทนที่ 24.87%
3.กองทุนเปิดบัวหลวงโกลด์ฟันด์ ของ บลจ.บัวหลวง ให้ผลตอบแทนที่ 24.27%
4.กองทุนเปิดธนชาตทองคำแท่ง-UH ของ บลจ.ธนชาต ให้ผลตอบแทนที่ 24.05%
5.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลด์ THB เฮดจ์ ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ให้ผลตอบแทนที่ 23.60%
การปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องของราคาทองคำ มาจากปัจจัยความวิตกหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อCOVID-19 รายใหม่ในสหรัฐพุ่งต่อเนื่อง และได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่ารัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นักลงทุนจึงโยกเงินมาซื้อทองคำ เพราะถือเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่ ‘ปลอดภัย’ มากสุดในช่วงเวลานี้
นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนต่อตลาดทองคำ เพราะดอลลาร์ที่อ่อนค่าจะทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐนั้น มีราคาถูกลงและมีความน่าดึงดูดมากขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น
ขณะที่ ‘ผู้เล่นรายใหญ่’ อย่าง ‘กองทุน SPDR’ ซึ่งถือเป็น ‘กองทุนทองคำ’ รายใหญ่สุดของโลก พบว่า ในปีนี้ได้เข้าซื้อทองคำรวมถึง 283.6 ตัน ส่งผลให้ กองทุน SPDR ถือทองคำรวมกว่า 1,187.90 ตัน เป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2556
ด้าน สภาทองคำโลก (WGC) รายงานเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 ก.ค.) ว่า เม็ดเงินสุทธิทั่วโลกที่ไหลเข้าสู่กองทุน ETF ทองคำมีจำนวนมากถึง 39,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าสถิติรายปีที่เคยทำไว้ในปี 2559
ทั้งนี้ ความเห็นจาก “เจอรัลด์ สแปร์โรว์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน ของบริษัท Sparrow Capital Management ระบุว่า ราคาทองคำมีแนวโน้มที่จะทะยานขึ้นต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจาก ธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึง "เฟด" ยังคง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่ต่ำมาก รวมถึง ยังพยายามเพิ่มเงินเข้าสู่ระบบ ด้วยโครงการเงินกู้ที่หลากหลาย อาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง รวมไปถึงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลดีต่อตลาดทองคำทั้งนั้น
ด้าน นายกฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการกลุ่ม บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก ประเมินว่า ราคาทองคำในช่วง 4 สัปดาห์ข้างหน้า มีโอกาสปรับขึ้นทะลุระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในขณะที่ระยะกลางถึงยาวมีลุ้นปรับขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ได้เช่นกัน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่อง อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็มีแนวโน้มอ่อนค่าซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนต่อราคาทองคำ
นอกจากนี้ เริ่มเห็น ‘รัสเซีย’ และ ‘จีน’ เข้ามาซื้อทองคำเพิ่มต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดการลงทุนอื่นๆ โดยเฉพาะหุ้นยังมีความเสี่ยงจากภาวะตึงตัว ทั้งหมดนี้จึงหนุนให้ทองคำเป็นเป้าหมายของการลงทุนในช่วงเวลานี้
ด้าน นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ YLG ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและส่งออกทองคำแท่งรายใหญ่ของไทย ประเมินว่า ปีนี้มีลุ้นที่ราคาทองคำจะขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่เหนือระดับ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดเดิมที่เคยทำไว้เมื่อปี 2554
อย่างไรก็ตาม ระยะข้างหน้ายังมีอย่างน้อย ‘5ปัจจัย’ ที่นักลงทุนควรต้องติดตาม คือ
1.ความเสี่ยงจากการระบาดรอบ 2 ของโรคโควิด-19 ซึ่งจะกดดันเศรษฐกิจโลกให้ถดถอยรุนแรงหนักขึ้น
2.การผ่อนคลายนโยบายการเงินของ เฟด ทั้งนโยบายการทำ QE แบบไม่จำกัดวงเงิน และการส่งสัญญาณดำเนินนโยบายดอกเบี้ยระดับต่ำที่ 0-0.25% ไปจนถึงปี 2565
3.ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่าง ‘สหรัฐ’ และ ‘จีน’ ยังสร้างความกังวลใจให้กับผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง
4.ปัจจัยการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งชายแดนจีน-อินเดีย สหรัฐ-อิหร่าน คาบสมุทรเกาหลี รวมถึงประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐ
5. กองทุนทองคำขนาดใหญ่ SPDR รวมทั้งธนาคารกลางต่างๆ ที่ถือครองทองคำเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จะมีทิศทางอย่างไรต่อไป
ทั้ง 5 ปัจจัยนี้ถือว่าเป็นปัจจัยที่ ‘หนุน’ ให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้ในระยะข้างหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปัจจัยเรื่องโควิด-19 หากสามารถควบคุมการระบาดได้ อาจส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงได้เช่นกัน
แต่ตราบใดที่นักลงทุนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัส ก็จะยังคงมองหาการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยต่อไป ซึ่ง ‘ทองคำ’ ถือเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ในการปิดความเสี่ยง เพราะเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับภาวะเศรษฐกิจ
ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน ตลาด “ทองคำ” คึกคัก นักลงทุนแห่ซื้อปิดความเสี่ยง