รีเซต

อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ความร่วมมือแห่งอนาคต

อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ความร่วมมือแห่งอนาคต
มติชน
27 กันยายน 2564 ( 06:46 )
141
อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ความร่วมมือแห่งอนาคต

 

///
หมายเหตุ “มติชน”นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ ที่ดูแลกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เล่าให้ฟังถึงความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนส่วนใหญ่กลับไม่รู้จัก และเป็นความร่วมมือที่ครอบคลุมในหลายด้าน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนไทยและต่ออนุภูมิภาค ทั้งยังเป็นความหวังในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-19
////

 

๐ถึงแม้แม่น้ำโขงจะใกล้ตัว แต่หลายคนไม่รู้จักและไม่เข้าใจว่าการรวมตัวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงคืออะไร

 

เมื่อพูดถึงความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นแค่ความร่วมมือในเรื่องน้ำ การระเบิดเกาะแก่ง หรือการเดินเรือในแม่น้ำโขง แต่ความจริงแล้วความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครอบคลุมความร่วมมือกว้างขวางทุกมิติ ตั้งแต่เรื่องการค้าชายแดน ความเชื่อมโยงระหว่างกันทั้งทางบก-น้ำ-รถไฟ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมสายสัมพันธ์ระดับประชาชน หรือเศรษฐกิจดิจิทัล ความร่วมมือเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยมาก และไม่ได้มีแค่คนริมฝั่งโขง 70 ล้านคนที่จะได้ประโยชน์ แต่ประชาชนในอนุภูมิภาคมากถึง 240 ล้านคนก็จะได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน

 

ความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงหมายถึง 5 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ผูกพันกันด้วยสายน้ำโขง โดยส่วนลำน้ำที่อยู่เหนือเมียนมาขึ้นไปเรียกว่าแม่น้ำล้านช้างอยู่ในจีน ซึ่งลำน้ำทั้งหมดมีความยาวจากทิเบตถึงกว่า 4,880 กิโลเมตร และอยู่ในจีนกว่า 2,130 กิโลเมตร จากเหนือไปใต้ ถือเป็นจิตวิญญาณของประชาชนตลอดลำน้ำโขง ทั้ง 5 ประเทศที่อยู่ในความร่วมมือดังกล่าวมีพรมแดนติดกับไทยเกือบทั้งหมด สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดภาวะดิสรัปชันขึ้นทั่วโลก ยิ่งทำให้ความร่วมมือในอนุภูมิภาคทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น คนหันมาพึ่งพาการค้าขายกับท้องถิ่นและอนุภูมิภาคที่มีพรมแดนติดต่อกัน เพราะการเดินทางและการขนส่งสินค้าข้ามทวีปไม่สะดวกและราบรื่นเหมือนเคยจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด

 

ถ้าเรามองจากจุดที่เรายืนอยู่ตั้งแต่ด้านตะวันออกไปยังตะวันตกในแนวนอนก็จะเห็นชีพจรชีวิตที่ถูกเชื่อมโดย 2 มหาสมุทรสำคัญ คือ มหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญ เป็นเส้นทางขนส่งสินค้ายุทธศาสตร์ด้วย เช่น น้ำมัน นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าเรายังมีระเบียงเศรษฐกิจมากมายที่เชื่อมโยงจากเหนือไปใต้ ตะวันออกไปตะวันตก เป็นความเชื่อมโยงที่พาดผ่านตั้งแต่เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา ไปจนถึงเวียดนาม อนุภูมิภาคนี้ยังร่ำรวยด้วยทรัพยากร เห็นได้จากการที่นานาประเทศ อาทิ ญี่่ปุ่นและเกาหลีใต้ ก็เข้ามาใช้เป็นฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญเพื่อการส่งออกมาเป็นเวลานาน

 

ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจึงหันมาคุยกันว่าเราจะใช้ประโยชน์จากจุดเด่นนี้ และร่วมกันพัฒนาอนุภูมิภาคของเราให้เจริญงอกงามไปพร้อม ๆ กันได้อย่างไร เพื่อให้คนของเราอยู่ดีกินดี และอยู่ร่วมกันได้โดยผาสุก ตั้งแต่เรื่องการค้าข้ามแดน การบริหารจัดการน้ำที่เป็นจุดเชื่อมโยงจิตวิญญาณของทุกประเทศ เรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งไทยมีบทบาทมากในเรื่องนี้ผ่านกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) เพื่อช่วยส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือในเรื่องดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชัน เศรษฐกิจดิจิทัล โควิด-19 เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้า การศึกษา สาธารณสุข หรืออุตสาหกรรมต่างๆ เรามองว่า ควรจะต้องมีดิจิทัลแพลตฟอร์มของอนุภูมิภาคขึ้นมาเหมือนอาลีบาบา หรือลาซาดา ที่จะช่วยให้การฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19 มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ ความร่วมมือต่างๆ เหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้เกิดขึ้นร่วมกัน เพราะปัจจุบัน ทุกประเทศในโลกต้องพึ่งพากันมากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงของเรา

 

๐ประชาชนคนไทยได้ประโยชน์อะไรที่เป็นรูปธรรมจากความร่วมมือดังกล่าว

 

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นศักยภาพในเชิงยุทธศาสตร์คือ ความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีทั้งสิ้น 13 กรอบความร่วมมือ มีประเทศภายนอกจำนวนมากเข้ามาตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อช่วยให้สมาชิกของประเทศลุ่มน้ำโขงใช้พัฒนาขีดความสามารถด้านทรัพยากรมนุษย์ เช่น การพัฒนาดิจิทัล การส่งเสริมการค้าการลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน การบริหารจัดการน้ำ การสร้างความเชื่อมโยง และการพัฒนาที่ยั่งยืน เงินในกองทุนและความร่วมมือเหล่านี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่ลงสู่ชุมชน

 

ตัวอย่างเช่นกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลีใต้ ซึ่งไทยได้รับทุนมาแล้ว 5 โครงการ อาทิ การบริหารจัดการน้ำในชุมชนให้เกิดความยั่งยืน เมื่อมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มีการทำโครงการเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ เรื่องข้าว และเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ของจีน ไทยก็ได้รับทุนมาแล้ว 41 โครงการ เป็นต้น นอกเหนือจากทุนต่างๆ แล้วยังมีความร่วมมือในลักษณะของการสัมมนาวิชาการ ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปจนถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน กลไกความร่วมมือระหว่าง 5 ประเทศในอนุภูมิภาคกับประเทศภายนอกมีหลากหลาย มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับคนไทยและประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคอย่างแท้จริง

 

ในกรอบแม่โขง-ล้านช้าง ไทยยังมีข้อเสนอในการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจที่ อ.เชียงของ กับเขตเศรษฐกิจบ่อหาน-บ่อเต็น การจัดตั้งระเบียงนวัตกรรมควบคู่ไปกับเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ในฐานะรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 และการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความร่วมมือในอนุภูมิภาคเป็นต้น

 

๐ความร่วมมือในเรื่องบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขงเป็นอย่างไร

 

การบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีพัฒนาการในหลายเรื่อง ในปี 2020 ที่ผ่านมา จีนยินยอมให้ข้อมูลระดับน้ำตลอดทั้งปีจากเดิมที่จะมีการแบ่งปันข้อมูลแค่ในฤดูน้ำหลาก ซึ่งถือเป็นความคืบหน้าที่สำคัญที่ช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลน้ำในแม่น้ำล้านช้าง และแจ้งเตือนประชาชนที่อากศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขงให้ปรับตัวได้อย่างทันท่วงที แน่นอนว่าทั้งหมดไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่มีพัฒนาการที่เราต้องทำร่วมกันต่อไปกับกรอบที่ดูแลเรื่องน้ำเช่นกันคือ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ด้านอุทกศาสตร์และการจัดการกับตะกอนในลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือเรื่อง Mekong Water Data Initiative ของกรอบหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐ ที่ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการน้ำของไทย และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดาวเทียมที่ทำให้สามารถดูข้อมูลตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่และต่อประชาชนโดยตรง และมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

 

๐คนมองว่าอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอาจกลายเป็นพื้นที่แข่งขันของมหาอำนาจในอนาคต

 

เรายินดีที่หลายประเทศเข้ามาร่วมมือกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่เป็นการเข้ามาอย่างสร้างสรรค์ มีกองทุนที่ช่วยสนับสนุนเงินในโครงการเพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพต่างๆ และเราอยากให้มองว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำแห่งความร่วมมือมากกว่าเป็นปัญหา เพราะเป้าหมายสำคัญของเราคือ เป็นพื้นที่ของความร่วมมือที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น และลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศของสมาชิก

 

การที่มีผู้เล่นหลายคนเข้ามาในอนุภูมิภาคนี้ย่อมแสดงถึงความสำคัญของเรา เห็นได้ชัดจากความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาคที่มีอยู่หลายกรอบ อนุภูมิภาคนี้ไม่ได้มีประเด็นทางการเมืองเหมือนทะเลจีนใต้ เหมือนที่บางคนและบางกลุ่มตั้งข้อสังเกต การเป็นอย่างนั้นไม่ได้มีผลดีกับทุกฝ่าย แทนที่เราจะเอาพลัง ทรัพยากรทั้งคนและเงิน มาใช้กับการพัฒนาและการฟื้นตัวจากโควิด-19 ถ้ามีความขัดแย้ง จะไม่ส่งผลดีกับเจ้าของบ้าน และเราต่างก็ไม่อยากให้เกิดภาพเช่นนี้

 

ความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีมาตั้งแต่ 20-30 ปีก่อน คือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ที่ญี่ปุ่นกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เข้ามาช่วยวางรากฐานทางเศรษฐกิจ ช่วยเรื่องการพัฒนาและลดช่องว่างระหว่างประเทศต่าง ๆ จากนั้นมีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงต่าง ๆ ทยอยจัดตั้งขึ้นมา เช่น กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง-คงคา ซึ่งมีความคืบหน้าด้านความร่วมมือวัฒนธรรมที่ชัดเจน หรือกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่นที่เน้นการสร้างศักยภาพองค์ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การอบรมการรีไซเคิลรถยนต์ที่ใช้แล้วทั้งคันและการไปสุ่เป้าหมายการเติบโตสีเขียว ที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ การที่อนุภูมิภาคนี้มีความเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นพื้นที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก มีความเป็นเอกภาพ ก็จะทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เป็นไปได้เร็วขึ้น หากเราเข้มแข็งก็จะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากการเติบโตนี้ด้วยเช่นกัน

 

เป้าหมายของความร่วมมือในอนุภูมิภาค เราเน้นให้เกิดรูปแบบ Win-Win คือ เป็นการพัฒนาที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เราต้องมองประเทศสมาชิกทั้ง 5 ประเทศ เป็นกระดานเดียวกัน มีตลาดที่มีประชากร 240 ล้านคน ถ้าเรามองทุกอย่างเป็นแนวเดียว ก็จะมีศักยภาพอย่างมหาศาลและทุกคนจะได้ไปด้วยกัน

 

๐ความร่วมมือในกรอบแอคเมคส์ (ACMECS) ที่ไทยเป็นผู้ริเริ่มตั้งแต่ปี 2546 มีความสำคัญและมีความคืบหน้าอย่างไร

 

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (แอคเมคส์) เป็นกรอบความร่วมมือเดียวที่มีอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นแกนกลาง คนอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อ แต่เป็นกรอบที่ชาติลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 5 ชาติ ต่างเป็นสมาชิก เราต้องพูดให้เป็นเสียงเดียวกัน สร้างความเข้มแข็งและแข็งแกร่งให้กับแอคเมคส์ด้วยกัน เพื่อผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของเราจะได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ขณะนี้ อาทิ เรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่อยากให้ประเทศที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาแบ่งปันหรือร่วมมือกับอนุภูมิภาคในการผลิตวัคซีนโควิด เพราะโรคโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนาน หรือเรื่องดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน และเรายังสามารถนำไปต่อยอดในการทำอี-คอมเมิร์ซให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีต่างๆ ได้อีกด้วย

 

นอกจากนี้ การส่งเสริมการค้าชายแดนนำมาสู่รายได้ที่สำคัญของอนุภูมิภาค เราจึงจะร่วมกันผลักดันเรื่องระบบ National Single Window (NSW) เพื่อการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ สำหรับการนำเข้า ส่งออกสินค้า การสัญจรของประชาชน และโลจิสติกส์ เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่และเต็มศักยภาพ เพราะปัจจุบัน มีเส้นทางเชื่อมโยงใหม่ๆ และจุดเติบโตตามเส้นทางต่างๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสใหม่อีกมากที่รออยู่

 

หน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศคือทำอย่างไรที่จะทำให้ทุกคนมองเห็นภาพกระดานเดียวกันเช่นนี้ และเห็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการร่วมกันดังกล่าวอย่างเป็นองคาพยพ ไทยสามารถเป็นข้อต่อสำคัญของความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนที่ขาดไม่ได้ในอนุภูมิภาค เราเชื่อว่าเมื่อฟื้นตัวจากโควิด-19 อนุภูมิภาคนี้จะกลับมาเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิมด้วยศักยภาพและความมุ่งมั่นที่มีอยู่ เพราะศตวรรษนี้เป็นศตวรรษของเอเชีย

 

กระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่มองภาพรวมว่า ประเทศไทย ประชาชนและภาคเอกชนของไทย จะได้ประโยชน์จากความร่วมมือที่เรามีอยู่นี้ได้อย่างไร เราเป็นคนชี้เป้าและนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม อนุภูมิภาคนี้จะได้กลับมาเติบโตได้เหมือนเดิมอย่างมีพลังและ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ร่วมกัน เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของโลกหลังโควิด-19 และเชื่อว่าเราจะไม่ตกขบวน เพราะทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างก็มีฐานการผลิตในอนุภูมิภาคนี้อยู่แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง