รีเซต

ศบค.หวั่นคลัสเตอร์ ร.ร.-พิธีกรรม ยัน ‘Test&Go’ เข้าไทยได้ใน 7 วัน

ศบค.หวั่นคลัสเตอร์ ร.ร.-พิธีกรรม ยัน ‘Test&Go’ เข้าไทยได้ใน 7 วัน
มติชน
3 กุมภาพันธ์ 2565 ( 14:12 )
50

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า วันนี้ถือได้ว่ามีความสำคัญ ทั้งเป็นวันทหารผ่านศึก และในสัปดาห์หน้า ก็จะครบระยะเวลาที่ ศบค.ชุดใหญ่จะพิจารณาทิศทางการผ่อนคลาย หรือกำหนดมาตรการต่างๆ ซึ่งในวันที่ 21 มกราคมได้มีการประกาศข้อกำหนดที่ 42 ส่วนในสัปดาห์นี้จะเป็นช่วงที่ทุกหน่วยงานเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อเสนอ ศบค.ชุดใหญ่

 

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) มีความเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีหลายประเทศที่กำหนดนโยบายผ่อนคลายมากเกินไป โดยให้เหตุผลว่าสายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลกตอนนี้ มีรายงานว่าติดเชื้อไปแล้วเกิน 90 ล้านราย ซึ่ง WHO ระบุว่า สูงกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งปีของปี 2563 และมีทิศทางไม่เห็นด้วยกับการผ่อนคลายมากเกินไป

 

ที่ประกาศออกมาชัดเจนคือ ประเทศเดนมาร์ก ยกเลิกมาตรการสาธารณสุขที่จำเป็นหลายอย่าง ทั้งการยกเลิกการสวมหน้ากาก และการสมัครงานหรือเข้ารับบริการต่างๆ ไม่ต้องแสดงหลักฐานการรับวัคซีน เป็นต้น เช่นเดียวกันกับประเทศฝรั่งเศส ที่มีการยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัย และจะมีการเปิดให้บริการไนท์คลับ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศเหล่านี้พร้อมรับความเสี่ยงที่จะตามมา และอัตราการตายทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ซึ่งยังไม่สูงเท่าสายพันธุ์เดลต้า ดังนั้น ขอเน้นย้ำในเรื่องของการฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อให้ครอบคลุม

 

พญ.อภิสมัยเผยว่า ในส่วนของเอเชีย ที่ ศบค.ชุดเล็กมีความเป็นห่วง คือ ประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม ที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้น และเป็นการสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด

 

 

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทย ประจำวันนี้ (3 ก.พ.) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,172 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยในประเทศ จำนวน 8,950 ราย จากการค้นหาเชิงรุกจำนวน 34 ราย จากเรือนจำ จำนวน 61 ราย และผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ จำนวน 222 ราย ซึ่งทำให้มีจำนวนผู้ป่วยรวมสะสม 242,288 ราย ในส่วนของผู้ที่หายป่วยวันนี้ มีจำนวน 7,832 ราย รวมหายป่วยสะสม 190,588 ราย มีผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับการรักษาอยู่ 84,413 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยอาการหนัก 517 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 107 ราย

 

ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตในวันนี้ มีจำนวน 21 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 22,228 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.90

“สำหรับผู้เสียชีวิตในวันนี้ เป็นผู้เสียชีวิตจากกรุงเทพมหานคร 1 ราย ปทุมธานี 2 ราย สมุทรปราการ 1 ราย กาฬสินธุ์ 2 ราย ชัยภูมิ นครราชสีมา และมหาสารคาม 1 ราย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ 1 ราย ตรัง ปัตตานี สงขลา และสตูล 1 ราย กาญจนบุรี 2 ราย ชลบุรี นครนายก พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี 1 ราย โดยร้อยละ 100 เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งหมด ซึ่งในจำนวน 21 รายที่เสียชีวิต มี 11 ราย ไม่ได้รับวัคซีนเลยสักเข็ม” พญ.อภิสมัยกล่าว

 

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีน ประเทศไทยฉีดวัคซีนแล้วรวม 115,820,553 โดส โดยวันนี้ฉีดวัคซีนไป 289,389 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 เพิ่มขึ้น 27,476 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.3 ของจำนวนประชากรทั้งหมด เข็มที่ 2 เพิ่มขึ้น 49,312 ราย คิดเป็นร้อยละ 70.1 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และเข็มที่ 3 เพิ่มขึ้น 212,601 ราย คิดเป็นร้อยละ 21.1 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

 

“ทั้งนี้ขอให้ประชาชนที่ได้รับเข็ม 2 ครบระยะเวลา 3 เดือน ให้เข้ารับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ซึ่งที่ผ่านมากรมควบคุมโรคได้รายงานผลการฉีดวัคซีนให้แก่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งหมด 4,320,076 โดส คิดเป็นร้อยละ 45.39 ของจำนวนประชากรต่างชาติทั้งหมดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ได้มีการจัดสรรวัคซีนให้แก่เด็ก โดยจะเริ่มฉีดจากประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อน และไล่ลงมา เช่น ป.5 ป.4 ตามลำดับ” พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยระบุว่า สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อ 1,432 ราย สมุทรปราการ 854 ราย, ชลบุรี 399 ราย, ภูเก็ต 395 ราย, นนทบุรี 324 ราย, นครศรีธรรมราช 194 ราย, มหาสารคาม 193 ราย, ปทุมธานี 179 ราย, ระยอง 175 ราย และศรีสะเกษ 175 ราย

 

ในส่วนของคลัสเตอร์ที่ ศบค.ยังคงเป็นห่วง คือคลัสเตอร์โรงเรียนและสถานศึกษา มีรายงานทั้งหมด 11 จังหวัด ไม่ว่าจะเป็น จ.ขอนแก่น, อุดรธานี, ประจวบคีรีขันธ์, หนองบัวลำภู, ยโสธร, สุพรรณบุรี, มหาสารคาม, ศรีสะเกษ, กรุงเทพมหานคร, สระแก้ว และชลบุรี

 

“ในช่วงที่ผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือกับกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการแนะนำแผนเผชิญเหตุ โดยแนะนำให้ปิดห้องนั้น หรือชั้นเรียนนั้นเป็นเวลา 3 วัน งดกิจกรรมรวมกลุ่มโดยเด็ดขาด แต่ถ้าเจอผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 ราย หรือทั้งชั้นเรียน หากทางโรงเรียนจะปิดโรงเรียน จะต้องผ่านการปรึกษากับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน”พญ.อภิสมัยกล่าว

 

พญ.อภิสมัยชี้ว่า นอกจากโรงเรียนแล้ว ยังมีคลัสเตอร์ที่รายงานถึง 21 จังหวัด คือ คลัสเตอร์ตลาด นอกจากนี้ยังมีคลัสเตอร์บุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย ในส่วนของความเป็นห่วงของ ศบค.ชุดเล็ก คืออยากให้เน้นย้ำมาตรการ เพราะเราเพิ่งผ่านเทศกาลตรุษจีน แต่ตัวเลขดังกล่าวยังไม่ใช่ตัวเลขที่เกิดจากเทศกาลตรุษจีน และคงต้องฝากไปยังผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ให้ศึกษาชัดเจน และจัดการตลาดให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ถ้าไม่มีความปลอดภัย ขอให้พี่น้องประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา นอกจากนี้ยังมีคลัสเตอร์พิธีกรรม ซึ่งจังหวัดส่วนมากเป็นจังหวัดเมืองรอง ไม่ใช่จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ทั้งนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จังหวัดเมือรองไม่ได้มีการรณรงค์ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่เพียงพอ ซึ่งคงต้องฝากให้แต่ละจังหวัดไปวิเคราะห์ ขอให้ประชาชนตรวจสอบความเสี่ยงของตัวเอง ขอให้เข้มงวดในมาตรการ และหมั่นตรวจเอทีเคเป็นประจำ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของมาตรการ Test & Go ที่เปิดลงทะเบียนไปแล้วนั้น คาดว่าจะสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้เมื่อไหร่ และตรวจสอบอย่างไร ใช้เวลาประมาณกี่วัน

 

พญ.อภิสมัยเปิดเผยว่า สำหรับมาตรการ Test & Go ได้มีการเปิดลงทะเบียนไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถ้าจะเดินทางทันที คงเป็นไปไม่ได้ ต้องมีระยะเวลาในการตรวจสอบหลักฐานต่างๆ

 

นอกจากนี้ ยังจะต้องตรวจสอบหลักฐานการชำระค่าโรงแรม ที่ได้มาตรฐาน SHA Extra Plus และยังจะต้องทบทวนถึงประกันสุขภาพของนักท่องเที่ยวด้วย รวมแล้ว คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 7 วันที่จะอนุมัติ และสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง