รีเซต

หมอธีระวัฒน์ ค้านถอดโควิดออกจากการแพทย์ฉุกเฉิน ยังไม่ถึงเวลาประกาศโรคประจำถิ่น

หมอธีระวัฒน์ ค้านถอดโควิดออกจากการแพทย์ฉุกเฉิน ยังไม่ถึงเวลาประกาศโรคประจำถิ่น
ข่าวสด
15 กุมภาพันธ์ 2565 ( 09:54 )
58
หมอธีระวัฒน์ ค้านถอดโควิดออกจากการแพทย์ฉุกเฉิน ยังไม่ถึงเวลาประกาศโรคประจำถิ่น

หมอธีระวัฒน์ ค้านถอดโควิด ออกจากการแพทย์ฉุกเฉิน บอกยังไม่ถึงเวลาประกาศโรคประจำถิ่น ถ้าพิจารณาตามกฎเกณฑ์จะยังไม่มีทางเป็นไปได้

 

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ระบุว่า โควิดเป็นโรคประจำถิ่นถอดออกจากการแพทย์ฉุกเฉิน รักษาตนเองตรวจเอง และต่อไปประกาศตัวเลขสัปดาห์ละครั้ง

 

ข้อสังเกตวัคซีนโควิดที่ออกมาเป็นการใช้ในสภาวะฉุกเฉินโดยมีการพัฒนารวดเร็วมาก เทียบกับวัคซีนต่างๆที่ผ่านมา ถึงแม้จะป้องกันได้ระดับหนึ่งแต่ก็มีผลแทรกซ้อน ดังที่ได้ พยายามให้มีการฉีดเข้าชั้นผิวหนังซึ่งมีความปลอดภัยกว่ามาก ในเมื่อเป็นการฉีดป้องกันโรคประจำถิ่น เมื่อเกิดผลข้างเคียงถึงชีวิตหรือเจ็บป่วยใดๆ จะสามารถเรียกค่าชดเชยจาก สปสช.ได้หรือไม่ ดังที่มีมาก่อนและผ่านมามากกว่า 10,000 ราย ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานของ สปสช.

 

อนึ่งการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ที่มีความปลอดภัยกว่านั้นไม่ใช่เพราะปริมาณน้อยกว่าอย่างเดียว แต่มีกลไกคนละประเภทกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ นอกจากนี้ นพ.ธีระวัฒน์ ยังโพสต์ด้วยว่า ประกาศเป็นโควิดเฉยๆ ได้มั้ย?

 

การประกาศเป็นโควิดเฉยๆ เหมือนอย่างที่พูดว่า จะกลายเป็นเชื้อประจำถิ่น ถ้าพิจารณาตามกฎเกณฑ์จะยังไม่มีทางเป็นไปได้เนื่องจาก การเป็นโรคประจำถิ่นหมายความว่าโรคนั้นสามารถทราบลักษณะความประพฤติ ปฏิบัติตัวได้อย่างชัดเจนว่าจะมาในเดือนใดฤดูกาลใด กระทบคนจำนวนเท่าใดและจะเกิดเจ็บป่วยหนักเสียชีวิตในระดับใด พูดง่ายๆก็คือ รับมืออยู่หรือเอาอยู่ได้ชัดๆ

แต่สถานการณ์ของโควิดขณะนี้ที่มีโอมิครอนพี่ และจะทดแทนด้วยโอมิครอนน้อง ในระยะเวลาอันใกล้ เพียงแต่ทราบว่าความรุนแรงน้อยกว่า แม้ว่าจะติดได้รวดเร็วกว่ามากก็ตาม เหตุผลที่รุนแรงน้อยกว่า อธิบายได้จากในพื้นที่หรือในประเทศต่างๆนั้น ต่างเคยติดเชื้อมาก่อนถ้วนหน้า หรือได้รับวัคซีนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างน้อยสามเข็มในระยะเวลาไม่นานนัก

และอีกประการสำคัญก็คือสัดส่วนของผู้สูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัวไม่มากนักที่จะตกเป็นเหยื่ออาการหนักของโอมิครอน หรือถ้าพูดอย่างคนในประเทศนั้นเองแดกดันว่า คนเปราะบางตายไปหมดแล้วตั้งแต่ระลอกที่หนึ่ง สองและสาม เช่น ในประเทศอังกฤษ จนกระทั่งสามารถประกาศอิสรภาพได้ จะไปไหนเปิดหน้ากากเฮฮาปาร์ตี้ได้ไม่ต้องมีการตรวจยืนยันการฉีดวัคซีนหรือมีการตรวจเอทีเคด้วยซ้ำ

การพิจารณาว่า จะเป็นโควิดเฉยๆ อาจจะดูได้จากหนึ่ง ตัวเลขคนติดเชื้ออยู่ในขาลง สอง ตัวเลขคนที่มีอาการจะต้องเข้าโรงพยาบาลรวมทั้งที่มีอาการหนักอยู่ในจำนวนคงที่และมีแนวโน้มว่าลดลงโดยไม่เป็นภาระต่อระบบสาธารณสุข

แต่ในประเทศสวีเดนตามข่าวดูเหมือนว่ายังไม่ครบทั้งสองข้อนี้ แต่เนื่องจากต้องการประหยัดงบประมาณ โดยที่ใครอยากตรวจต้องออกเงินเองใครเจ็บป่วยต้องรับผิดชอบตนเอง นัยว่าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาหรือ หมดสตางค์แล้ว

ประเทศไทยเริ่มมีประกาศติดตามมาตั้งแต่จะยกเลิกระบบการแพทย์ฉุกเฉินโควิดและกลายเป็นโรคที่รับผิดชอบตนเองและจนกระทั่งจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่มีการประกาศตัวเลขอีกต่อไป และใครจะเข้าจะออกประเทศหรือสถานบริการ สถานสาธารณะ จะเป็นอิสระเหมือนเมื่อก่อนปี 2563

ความเห็นนี้ไม่ได้คัดค้านหรือสนับสนุน แต่น่าจะเป็นรูปแบบของการผสมผสานและยืดหยุ่นโดยดูตามสถานการณ์เป็นระยะและต้องไม่ลืมว่าโควิดไม่น่าจะจบที่โอมิครอน โดยที่จุดกำเนิดของโอมิครอน น่าจะมาจากไวรัสอู่ฮั่นจากคนไปหนู จนมีวิวัฒนาการและปล่อยจากหนูมาคน

โดยที่ต้องไม่ลืมว่า ความพยายามเพาะบ่มตนเองในสัตว์ประเภทอื่นที่ส่งผ่านมาจากคนมีเนิ่นนานตั้งแต่เมษายน 2563 ในเสือ แมวหมา ตัวมิ้งค์ ตลอดจนกระทั่งกวางในอเมริกา ขึ้นอยู่กับว่าสัตว์ชนิดใดจะเอื้ออำนวยให้มีการพัฒนาการสูงส่งและกลับมาเป็นตัวร้ายเข้ามนุษย์ที่ครบถ้วนกระบวนความทั้งติดง่าย แพร่เร็ว หลบหลีกภูมิคุ้มกัน เพื่อก่อโรครุนแรงไปพร้อมกับจนกระทั่งมีการแพร่ทางอากาศโดยสมบูรณ์

สรุปว่านาทีนี้แล้วแต่กรรม หรือตัวใครตัวมันหรือเปล่า?

หมายเหตุ และแล้วการควบรวมผสมระหว่างเดลต้าและโอไมครอนก็เกิดขึ้นจริงในประเทศอังกฤษ จากที่เคยตั้งข้อสงสัยว่ารายงานจากไซปรัสนั้นเป็นความผิดพลาดในห้องปฏิบัติการ

ทั้งนี้รอเวลาว่า เดลต้า และโอไมครอน ที่มีการพัฒนากันคนละสาย แต่มาอยู่ด้วยกันเป็นไฮบริด จะแสดงศักยภาพได้เก่งเท่าใดในแง่ติดง่าย แพร่ ง่ายและรุนแรงมากขึ้นหรือไม่?

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง