กำแพงภาษีกระทบถ้วนหน้า อีสท์สปริงชี้จังหวะปรับพอร์ต

#อีสท์สปริง #ทันหุ้น - อีสท์สปริง ฟันธงกำแพงภาษีตัวใหม่สหรัฐกระทบถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐ ที่อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่เอเชียรับผลกระทบทั้งทางตรงจากการขึ้นภาษี และทางอ้อมเศรษฐกิจประเทศหลักชลอตัว จนกระทบส่งออก พร้อมแนะปรับพอร์ตกองทุนใหม่เน้นกลุ่ม Defensive เช่น เฮลธ์แคร์ โครงสร้างพื้นฐาน ตราสารหนี้ และทองคำ
อีสท์สปริง อินเวสท์เมนทส์ ออกบทวิเคราะห์ สำหรับมาตรการกำแพงภาษีครั้งใหม่ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งระบุว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา จากการประกาศขึ้นภาษีศุลกากรครั้งใหม่ และคาดว่าจะกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐเช่นกัน เนื่องจากภาษีดังกล่าวเปรียบเสมือนภาษีที่เก็บเพิ่มจากการบริโภค และการลงทุน ซึ่งในอดีตมาตรการเช่นนี้ มักนำไปสู่การสูญเสียทางสวัสดิการในวงกว้าง จากการที่ทรัพยากรถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
อัตราภาษีใหม่จะฉุดรั้งการเติบโตของ GDP สหรัฐ ในปี 2568 ลงอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมคาดโต 2.5% จะเหลือเพียง 0.6-0.8% ขณะที่ผลกระทบนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัจจัยลบอื่นๆ ทั้งมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง และการจำกัดการเข้าเมืองอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การที่คู่ค้าสำคัญอย่างจีน สหภาพยุโรป และแคนาดา มีแนวโน้มสูงที่จะใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า ก็จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของสหรัฐ อีกทางหนึ่งเช่นกัน
*สหรัฐเสี่ยงศก.ภาวะถดถอย
ปัจจัยลบที่ถาโถมเข้ามานี้ได้เพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) อย่างมีนัยสำคัญ โดยความน่าจะเป็นที่จะเกิดภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้าได้พุ่งขึ้นจากระดับประมาณ 20-25% ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ไปสู่ระดับเกือบ 50% ณ ต้นเดือนเมษายน ขณะที่อีสท์สปริง อินเวสท์เมนทส์ ประเมินว่า โอกาสที่สหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้าขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 60%
ในส่วนของเศรษฐกิจเอเชียนอกจากกระทบทางตรงแล้ว ยังมีแรงกดดันทางอ้อมจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ที่เป็นผลจากสงครามการค้า ซึ่งก็จะยิ่งทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าส่งออกของเอเชียลดลงไปอีก ขณะที่ผลกระทบของแต่ละประเทศจะไม่เท่ากัน เนื่องจากระดับการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ ที่ต่างกัน ซึ่งประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดคือ เวียดนาม, ไทยและมาเลเซีย ขณะที่ประเทศอย่าง อินเดีย และอินโดนีเซียจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
*กระตุ้นบริโภคในประเทศ
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ความสามารถในการดำเนินนโยบายภายในประเทศเพื่อชดเชยผลกระทบเชิงลบจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น จีน ซึ่งแม้มาตรการกระตุ้นทางการคลังที่ประกาศไปแล้วอาจไม่เพียงพอ แต่คาดว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายเพิ่มเติมในแนวทาง “ทำทุกวิถีทาง” (Whatever it Takes) เพื่อพยุงการเติบโตให้อยู่เหนือระดับ 4.5% โดยมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศเป็นหลัก
ในขณะที่อินเดีย ซึ่งมีการพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐ ในสัดส่วนที่ต่ำ (เพียง 2.2% ของ GDP) และมีอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลาง ทำให้มีช่องว่างในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย และการผ่อนคลายข้อจำกัดสินเชื่อภาคครัวเรือน นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังส่งสัญญาณอีกว่า พร้อมที่จะเจรจาลดอัตราภาษีของตนเองเพื่อแลกกับข้อตกลงการค้ากับสหรัฐ
*ปรับพอร์ตกองทุน
ในช่วงสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอน แนะนำกระจายการลงทุนไปยังกลุ่ม Defensive เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน เช่น กองทุน ES-HEALTHCARE ,ES-GINFRA ขณะที่ในฝั่งของตราสารหนี้ยังเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายการลงทุนเช่นกัน อย่างไรก็ตามหลัง Bond Yield ปรับตัวลงมาค่อนข้างเร็ว แนะนำกองทุนที่มีกลยุทธ์ยืดหยุ่นและมี Credit Rating สูงอย่าง ES-GINCOME และ ES-ALPHABONDS รวมถึงแนะนำกระจายการลงทุนในทองคำที่อาจได้รับประโยชน์จากความผันผวนที่เกิดขึ้นอย่าง ES-GOLD