รีเซต

อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก : "เผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป" กับ 26 ปีในตำแหน่งประธานาธิบดีเบลารุส

อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก : "เผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป" กับ 26 ปีในตำแหน่งประธานาธิบดีเบลารุส
บีบีซี ไทย
12 สิงหาคม 2563 ( 12:18 )
130
อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก : "เผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป" กับ 26 ปีในตำแหน่งประธานาธิบดีเบลารุส

Reuters

ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก เป็นผู้นำประเทศที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดในยุโรป อดีตผู้บริหารงานเกษตรกรรมของอดีตสหภาพโซเวียตวัย 65 ปี ผู้นี้เพิ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเบลารุส ซึ่งจะเป็นการดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 6 ของเขา

 

ขณะที่ชาวเบลารุสจำนวนมากออกมาประท้วงต่อต้านผลการเลือกตั้งจนเกิดการปะทะกันกับตำรวจในหลายเมืองทั่วประเทศ ด้าน นางสเว็ตลานา ทีคานอฟสกายา ผู้นำฝ่ายค้านไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และหนีออกนอกประเทศไปยังลิทัวเนียเพื่อความปลอดภัย

 

เขาเผชิญกับการประท้วงต่อต้านที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี มาตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง 9 ส.ค.

มีการจับกุมผู้ประท้วงหลายร้อยคนจากการประท้วงหลายระลอกที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือน พ.ค.

 

นายลูกาเชนโก ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 1994 เป็นผู้นำที่ใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เหมือนกับในยุคโซเวียต ควบคุมสื่อหลัก กลั่นแกล้งและคุมขังศัตรูทางการเมือง

ด้านนางทีคานอฟสกายา ซึ่งเป็นคู่แข่งหลัก ได้ลงสู่สนามเลือกตั้ง หลังจากที่นายเซอร์ไก ทีคานอฟสกายา สามีของเธอ ซึ่งเป็นบล็อกเกอร์ที่มีคนชื่นชอบจำนวนมาก ถูกขัดขวางไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งและถูกจำคุก

 

Reuters
เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ฝูงชนจำนวนมากออกมาเดินขบวนสนับสนุนนางสเว็ตลานา ทีคานอฟสกายา

 

องค์กรว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe--OSCE) ซึ่งเป็นหน่วยงานสังเกตการณ์เลือกตั้งแถวหน้า เห็นว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาในสมัยของนายลูกาเชนโกไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

 

 

แผลเป็นจากสงคราม

หลายปีแล้วที่นายลูกาเชนโกพยายามที่จะโน้มน้าวให้พลเมือง 9.5 ล้านคน เชื่อว่า เขาเป็นผู้ที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพขึ้นในประเทศ เป็นคนรักชาติยิ่งยวด และคอยปกป้องประชาชนจากการแทรกแซงของต่างชาติ

เรื่องนี้ยังเรียกคะแนนจากชาวเบลารุสสูงวัยได้อยู่ โดยในช่วงที่ประเทศเบลารุสได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ตกเป็นเหยื่อของนโยบายทำลายล้างข้าศึกที่รุกรานมา มีคนเสียชีวิตไปราว 1 ใน 3 ของจำนวนประชากร ทำให้การระแวงชาวต่างชาติและความภาคภูมิใจในกองกำลังความมั่นคงถูกใช้ในการหาเสียงอย่างได้ผล

 

ย้อนกลับไปในปี 2005 รัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ ได้เรียกรัฐบาลเบลารุสว่า "ระบอบเผด็จการที่แท้จริงแห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ใจกลางยุโรป"

นายลูกาเชนโก เคยเตือนทุกคนที่เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านว่า พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็น "ผู้ก่อการร้าย" และ "เราจะหักคอพวกเขา เหมือนกับหักคอเป็ด"

 

Reuters
มีผู้ถูกจับกุมจำนวนหนึ่งจากการประท้วงเมื่อคืนวันอาทิตย์ (9 ส.ค.)

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย และนายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บัน ของฮังการี ก็ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงของชาติตะวันตกจากการข่มเหงศัตรูทางการเมืองและขยายอำนาจของตัวเองเช่นกัน

 

ไม่กลัวโควิด-19

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้เพิ่มความวุ่นวายทางการเมืองในเบลารุสในอีกมิติหนึ่ง

ผู้ที่ต่อต้านนายลูกาเชนโก เห็นว่า ความอวดดีของเขาเกี่ยวกับไวรัสนี้ เป็นการขาดความยั้งคิดและเป็นสัญญาณว่า เขาเป็นพวกขาดความรู้ที่ทันสมัย

ในช่วงปลายเดือน พ.ค. เขากล่าวว่า เบลารุสทำถูกแล้วที่ไม่ล็อกดาวน์

"คุณเห็นไหมในชาติตะวันตกที่มั่งคั่ง การว่างงานเพิ่มขึ้นมากมายจนควบคุมไม่ได้ ผู้คนพากันออกมาเคาะหม้อขออาหารกิน ขอบคุณพระเจ้าที่เราไม่เจอแบบนั้น เพราะเราไม่ได้ปิดประเทศ"

ในเดือน มี.ค. ช่วงที่หลายประเทศทั่วยุโรปเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์ เขากล่าวว่า "ผมเชื่อว่า เราอาจจะลำบากจากความตื่นตระหนกมากกว่าจากไวรัส" เขาแนะนำให้ต่อสู้กับไวรัสนี้ด้วยการทำงานหนัก อบซาวน่า และดื่มวอดก้า

เมื่อชาติอื่นในยุโรปยกเลิกการแข่งขันฟุตบอลต่าง ๆ เบลารุสยังจัดการแข่งขันต่อไป และมีผู้เข้าชมเต็มสนาม จนกลายเป็นที่โจษจันไปทั่วโลก

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ นายลูกาเชนโก ก็ออกมาเตือนเรื่องการแทรกแซงจากต่างชาติเช่นเคย แต่คราวนี้รัสเซียดูเหมือนจะถูกมองเป็นวายร้าย

Getty Images
ในเดือน ก.พ. นายลูกาเชนโก (กลาง) เล่นฮ็อกกี้น้ำแข็งกับ นายปูติน (ซ้าย) ในการแข่งขันนัดกระชับมิตร ในเมืองโซชิ ของรัสเซีย

ความตึงเครียดกับรัสเซีย

เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคงของนายลูกาเชนโก เคยกล่าวหากองกำลังของรัสเซียที่ไม่ได้ระบุชื่อว่า พยายามจะช่วยเหลือศัตรูของเขาและก่อความไม่สงบขึ้น

รัสเซียยังคงเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของเบลารุส พวกเขามีการซ้อมรบร่วมกัน และเศรษฐกิจที่ไม่แข็งแกร่งของเบลารุส ต้องพึ่งพาการค้ากับเพื่อนบ้านมหาอำนาจอย่างรัสเซีย

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างเบลารุสและรัสเซียเย็นชาลง นับตั้งแต่รัฐบาลรัสเซียยุติการจัดหาน้ำมันและก๊าซราคาถูกกว่าท้องตลาดให้

สัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ทางการเบลารุสจับกุมชาวรัสเซีย 33 คน ใกล้กับกรุงมินสก์ และบอกว่า พวกเขาเป็นคนของ แวกเนอร์ (Wagner) ซึ่งเป็นกลุ่มทหารรับจ้างรัสเซียที่ลึกลับ ปฏิบัติการอยู่ในยูเครน, แอฟริกา และตะวันออกกลาง

รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาของเบลารุสที่บอกว่า ชาวรัสเซียที่ถูกควบคุมตัวอยู่กำลังวางแผนก่อการร้าย และยืนกรานว่า พวกเขากำลังรอเปลี่ยนเที่ยวบินไปยังนครอิสตันบูลของตุรกี

นายลูกาเชนโก อดีตผู้อำนวยการกิจการเกษตรของอดีตสหภาพโซเวียต ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 1994 หลังจากเป็นผู้นำในการผลักดันการต่อต้านการทุจริตเข้าสู่รัฐสภา

ในเดือน ส.ค. 1991 รัฐประหารที่ล้มเหลวในการพยายามโค่นล้มนายมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำโซเวียต นายลูกาเชนโกเป็นฝ่ายที่สนับสนุนกลุ่มคอมมิวนิสต์สุดโต่ง

เช่นเดียวกับวลาดิเมียร์ ปูติน นายลูกาเชนโกยังคงโหยหาความยิ่งใหญ่ของอดีตสหภาพโซเวียต และชื่นชอบการเล่นฮ็อกกี้น้ำแข็งเหมือนกันด้วย

EPA
นายลูกาเชนโกหย่อนบัตรเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งในกรุงมินสก์

การลงประชามติในปี 2014 ส่งผลให้มีการยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไม่เกิน 2 สมัย ทำให้นายลูกาเชนโกสามารถครองอำนาจได้เรื่อยไป

เขาเติบโตมาจากการเลี้ยงดูของแม่เลี้ยงเดี่ยวในหมู่บ้านที่ยากจนทางตะวันออกของเบลารุส

เขาแต่งงานกับนางกาลินา ลูกาเชนโก และมีลูกชายด้วยกัน 2 คน คือ วิกเตอร์ และ ดมิทรี เขาให้สัมภาษณ์ในปี 2015 ว่า ไม่คิดที่จะหย่ากับกาลินา แม้ว่าทั้งคู่จะไม่ได้อยู่ด้วยกันมานานหลายสิบปีแล้ว

นายลูกาเชนโก มีลูกชายคนที่ 3 ชื่อนิโกไล ซึ่งเกิดในปี 2004 กับภรรยาที่ชื่อว่า นางอีรีนา อาเบลสกายา ซึ่งเป็นแพทย์ประจำตัวเขา

"การใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จในการปกครองเป็นลักษณะเด่นของผม แล้วผมก็เป็นเช่นนี้มาตลอด" เขากล่าวในเดือน ส.ค. 2003 "คุณจำเป็นต้องควบคุมประเทศ และสิ่งสำคัญคือ อย่าทำลายชีวิตประชาชน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง