รีเซต

เจาะลึกเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 จากอังกฤษ อิตาลี และญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Tempest

เจาะลึกเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 จากอังกฤษ อิตาลี และญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Tempest
TNN ช่อง16
7 สิงหาคม 2567 ( 11:31 )
16
เจาะลึกเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 จากอังกฤษ อิตาลี และญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Tempest

เทมเพสต์ (Tempest) คือ โครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 ที่มีอังกฤษ อิตาลี และญี่ปุ่น ผนึกกำลังร่วมกันพัฒนาขึ้นมา ซึ่ง TNN Tech ได้รวบรวมข้อมูล พร้อมเปรียบเทียบความแตกต่างกับการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 โดยยกตัวอย่างรุ่นที่มีชื่อเสียง อย่างเอฟ 35 ไลท์นิง ทู (F-35 Lightning II) ของสหรัฐอเมริกา


สรุปความสามารถเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5

ในปัจจุบัน เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 (5th Generation fighter jet) ตอนนี้มีเพียงไม่กี่รุ่นจากผู้ผลิตในบางประเทศเท่านั้นที่สามารถผลิตและใช้งานได้ อย่างเช่น F-22, F-35 ของสหรัฐอเมริกา , เฉิงตู เจ 20 (Chengdu J-20) ของจีน , ซุคฮอย (Sukhoi Su-57) ของรัสเซีย ไปจนถึงแผนพัฒนา TAI TF Kaan หรือ MMU ของตุรกี และ KF-21EX ของเกาหลีใต้ 


ซึ่งทุกแบบจะต้องมีจุดเด่นของความเป็นเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 ได้แก่ ความสามารถซ่อนเร้น (Stealth) หรือความสามารถในการหลบหลีกเรดาร์ศัตรูได้ เช่น ค่าพื้นที่แนวตัดขวางในเรดาร์ (Radar Cross Section: RCS) ของ F-35 จะมีขนาด 0.005 ตารางเมตร ซึ่งมีความแตกต่างที่สูงมากเมื่อเทียบกับเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 4 อย่างเช่น F-16 ที่มี RCS 4 ตารางเมตร หรือต่างกันกว่า 800 เท่า


นอกจากเรื่องการหลบหลีกเรดาร์ เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 ยังมีจุดเด่นสำคัญในการจัดตั้งระบบเครือข่ายขั้นสูง ที่สามารถเชื่อมต่อกับยุทโธปกรณ์และฐานข้อมูลอื่น ๆ ทั้งรับและส่งข้อมูลได้  ความสามารถที่เรียกว่าซูเปอร์ครูซ (Supercruise) หรือการบินความเร็วสูงแบบเสถียรโดยไม่ต้องเผาไหม้เครื่องยนต์อีกรอบ หรือเรียกว่าการทำอาฟเตอร์เบิร์นเนอร์ (Afterburner) และยังเป็นเครื่องบินรบแบบพหุภารกิจ (Multirole) ที่มีขีดความสามารถในการรบที่สูงอีกด้วย


เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 VS เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6

ในปัจจุบัน ยังไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่าเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 ต้องมีจุดเด่นอย่างไร แต่ทิศทางหลัก ๆ ของโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 ที่เป็นอยู่ตอนนี้ นอกเหนือจากเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 ทำได้แล้ว จะมีจุดเด่นหลักอีก 3 ด้าน ดังนี้


  1. 1. เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 มีการพัฒนาให้รองรับการใช้งาน AI ช่วยตัดสินใจในการบินได้ เช่น การควบคุมอาวุธ ควบคุมฝูงโดรน หรือแม้แต่โหมดไร้คนชับ
  2. 2. รองรับการติดอาวุธเลเซอร์ที่ใช้พลังงานจากเครื่องยนต์ที่แปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยตรง
  3. 3. การพัฒนาระบบควบคุมเสมือนจริง (Virtual cockpit) ที่ผสานระบบการสั่งการและการออกสั่งโดยไม่ต้องใช้ปุ่มหรือกลไก แต่เป็นระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่ง TNN Tech มองว่าเสมือนเป็นการขับเครื่องบินขับไล่แล้วใช้งาน Apple Vision Pro รุ่นทางการทหารไปพร้อมกันด้วย


Tempest - โครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6

โดยชาติที่ประกาศว่าจะทำเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 ตอนนี้ มีทั้งรูปแบบโครงการที่มีเพียงชาติเดียวพัฒนา อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย อินเดีย บราซิล รวมถึงโครงการที่เป็นการรวมกลุ่มประเทศเพื่อพัฒนาร่วมกัน ซึ่งมีกลุ่มของฝรั่งเศส สเปน เยอรมนี กลับกลุ่มโครงการเทมเพสต์ (Tempest) จากอังกฤษ อิตาลี และญี่ปุ่น


โครงการ Tempest มีอังกฤษเป็นแกนนำที่วางแผนมาตั้งแต่ปี 2015 และมีการเปิดตัวพร้อมแถลงข่าวการเริ่มโครงการเป็นครั้งแรกภายในงาน Farnborough Airshow ปี 2024 นี้ พร้อมกับออกตัวว่าจะพัฒนาร่วมกับอิตาลีแล้วก็ญี่ปุ่น ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นรูปธรรมว่ามีการพัฒนาอย่างไรบ้าง เนื่องจากอยู่ในช่วงการวางแผนเท่านั้น แต่โดยสรุปแล้วจะเป็นการต่อยอดจากเครื่องบินขับไล่ Eurofighter Typhoon โดยให้โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) พัฒนาเครื่องยนต์ใหม่ที่สามารถแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าให้เครื่องยิงเลเซอร์ได้


นอกจากนี้ ยังมี MBDA มาร่วมพัฒนาจรวด BVR (Beyond Visual Range Air to Air Missile) แบบใหม่ให้กับ Tempest โดย MBDA อย่างเมทีเออร์ (Meteor) ที่เป็นที่พูดถึงจากกรณีที่กองทัพอากาศไทยกำลังอยู่ระหว่างพิจาณณาจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ Gripen ซึ่งรองรับการติดตั้ง Meteor


ในขณะที่บริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์ (Mitsubishi Heavy Industries) จากญี่ปุ่น และ Leonardo S.p.A จากอิตาลี ที่เข้ามาร่วมพัฒนาด้วยกัน โดยข้อมูลเบื้องต้นเปิดเผยว่าจะเป็นการทำให้มีแรงต้านอากาศน้อยลง มีหางหางเครื่องบินเป็นรูปตัวเอส (S) และปรับปรุงช่องดักอากาศ (Duct) เพื่อลดการสะท้อนเรดาร์และเพิ่มแรงยกตัวเครื่องบินด้วย


นอกจากพวกโครงสร้าง ยังมีซอฟต์แวร์อย่าง Deep Learning AI ที่สามารถมีเหมือนโหมดไร้คนขับในรถยนต์ แต่เป็นในรูปแบบสำหรับเครื่องบินรบแทน และสามารถสั่งการฝูงบินโดรนได้ พร้อมระบบสั่งการแบบ virtual cockpit ด้วยเช่นกัน


งบพัฒนาของเครื่องบิน Tempest 

ทั้งนี้ โครงการ Tempest คาดว่าจะใช้เงินระยะแรกราว 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ในการเริ่มวิจัยและกำหนดทิศทางการพัฒนาร่วมกันสามประเทศให้ไปทางเดียวกัน โดยใช้เวลา 18 เดือนนับจากนี้ และคาดว่าจะได้เห็นการเปิดตัวต้นแบบที่บินได้จริงภายในปี 2035 ก่อนที่จะใช้เวลาพัฒนา ปรับปรุง และผลิตประจำการในอังกฤษ อิตาลี ญี่ปุ่น และชาติอื่น ๆ ที่สนใจ


ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่าเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 อย่างรุ่น F-35 ได้ใช้งบประมาณในการพัฒนารวมกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.4 ล้านล้านบาท จึงน่าจับตามองว่า โครงการ Tempest จะใช้งบประมาณในการพัฒนารวมแล้วมากน้อยเพียงใด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง