รีเซต

กระทรวงพลังงานดันแผนพลังงานชาติ - เอกชนแนะตั้งกองทุนฯ 2 ล้านล้านบาท พลิกโฉมประเทศ

กระทรวงพลังงานดันแผนพลังงานชาติ - เอกชนแนะตั้งกองทุนฯ 2 ล้านล้านบาท พลิกโฉมประเทศ
ข่าวสด
14 ธันวาคม 2563 ( 16:06 )
66

ดันแผนพลังงานชาติ - นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังงานประชุมเชิงปฏิบัติการ “คนพลังงานร่วมใจ สู่ทิศทางไทยในอนาคต” ว่า กระทรวงพลังงานได้จัดประชุมระดมสมองเพื่อจัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว หรือ Thailand Integrated Energy Blueprint (TIEB) ที่มีความยืดหยุ่น มีเป้าหมายในระยะสั้น ระยะปานกลาง 5-10 ปี มากกว่าการวางแผนในระยะยาว 20 ปี รองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิตอล และการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบของโควิด-19 ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง น่าจะได้ข้อสรุปกลับมารายงานอีกครั้งใน 3 เดือนข้างหน้า และคาดจะแล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย. 2564 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติต่อไป

 

เบื้องต้นกำหนดรับฟังความคิดเห็นแผนดังกล่าวช่วงเดือนมี.ค. 2564 โดยไม่มีการพิจารณาเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินจากที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 แต่อย่างใด และจะพิจารณาปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีส่วนในการลดปริมาณการสำรองไฟฟ้าที่มีสูงขึ้นถึง 30-40% จากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งในอนาคตมีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) รถไฟฟ้า 13 สาย และการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G อาจส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น

 

“ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศว่ามีจำนวนทั้งหมดเท่าไหร่ ทั้งโรงไฟฟ้าเก่าและโรงไฟฟ้าใหม่ มีกำลังการผลิตอยู่ที่เท่าใด เปิดใช้งานมาแล้วกี่ปี มีประสิทธิภาพในการทำงานเป็นอย่างไร เพื่อดูว่าจะต้องปลดระวางกี่แห่ง รวมถึงโรงไฟฟ้าอื่นด้วย ส่วนการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าใหม่น่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2564 ในการประชุมครั้งนี้ยังไม่มีการตั้งเป้าหมายชัดเจน ถือเป็นการคิกออฟเพื่อแจกโจทย์ว่าพลังงานควรจะมีทิศทางอย่างไร”

 

นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เบื้องต้นเสนอรัฐบาลให้จัดตั้งกองทุนพลังงานสร้างชาติ 2 ล้านล้านบาท รองรับการส่งเสริมอีวี ช่วยรัฐประหยัดพลังงานได้ปีละ 1 แสนล้านบาท กองทุนดังกล่าวควรจะมาจากการออกพันธบัตรของรัฐบาล 30 ปี ในรูปแบบการระดมเงินตามความจำเป็นที่ควรใช้ เพื่อรัฐจะได้ไม่มีภาระในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในอนาคต

 

ทั้งนี้ นอกจากจะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (พีเอ็ม 2.5) ยังสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในการนำมาใช้เปลี่ยนระบบเป็นอีวี 2 แสนล้านบาท และอีก 1.8 ล้านล้านบาท นำไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ อีกส่วนหนึ่งนำไปเยียวยาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่โรงกลั่นก็ต้องปรับตัวไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีมูลค่าสูง

 

ปัจจุบันไทยมีการใช้น้ำมันดีเซลอยู่ที่ 55-60 ล้านลิตรต่อวัน และเบนซิน 20 ล้านลิตรต่อวัน หากอนาคตสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้รถอีวี จะสามารถลดต้นทุนการนำเข้าพลังงานได้จำนวนมาก ซึ่งปัญหาการลงทุนของภาครัฐมีอุปสรรคเรื่องงบประมาณที่มีอยู่จำกัด ดังนั้นการตั้งกองทุนฯ จะทำให้สามารถนำเงินนี้มาใช้ประโยชน์ได้รวดเร็วขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง