รีเซต

สิทธิกร ดิเรกสุนทร ชู3เครื่องยนต์-4P ขับเคลื่อน ศก.ไทย

สิทธิกร ดิเรกสุนทร ชู3เครื่องยนต์-4P ขับเคลื่อน ศก.ไทย
มติชน
27 มกราคม 2565 ( 13:00 )
113

หมายเหตุ – มติชนสัมภาษณ์พิเศษ นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หนึ่งในผู้บรรยายพิเศษในงาน สู่ศักยภาพใหม่:Thailand 2022Ž วันที่ 31 มกราคม 2565 เวลา 09.00-12.00 น. สามารถรับฟังในรูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่ง ผ่านสื่อออนไลน์ในเครือมติชน ทั้ง Facebook มติชนออนไลน์, ประชาชาติธุรกิจ, ข่าวสด และ YouTube มติชนทีวี รวมถึงช่องทาง Line มติชน, ข่าวสด

 

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2565 นั้น มองว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ผู้ประกอบการและภาครัฐได้ปรับตัวหลังเกิดวิกฤต ทำให้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2564 ที่หลายสำนักคาดว่าน่าจะติดลบ ก็กลับมาเป็นบวกได้ และในปี 2565 หลายสำนักก็คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5-4% ต่อปี ซึ่งก็มีมุมมองไปในแนวทางเดียวกัน คือ อยู่ที่ 4%

 

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามนั้น มองว่า มี 3 ปัจจัย ส่วนที่ 1 เรื่องมาตรการของภาครัฐ ที่จะเข้าสอดรับ ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนผ่าน ซึ่งในอีกไม่นานโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ก็คงจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไป

 

ดังนั้น ต้องมาดูว่ามาตรการของรัฐที่ออกมา เช่น ช้อปดีมีคืน การลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับผู้มีรายได้น้อย จะช่วยกระตุ้นเรื่องของการบริโภคได้มากน้อยแค่ไหน และจะช่วยพยุงห่วงโซ่ธุรกิจภายในประเทศอย่างไร

 

ขณะที่ภาคการส่งออกนั้น คิดว่าไม่เป็นห่วง เพราะในส่วนภาคธุรกิจที่ส่งออกได้ก็คงไปได้ดีอย่างต่อเนื่อง อาทิ สินค้าเกี่ยวกับทางการแพทย์ สินค้าเกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน หรือ เวิร์ก ฟรอม โฮม และสินค้าเกษตร

 

ส่วนปัจจัยที่ 2 คือเรื่องการท่องเที่ยว ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากว่ารายได้ของประเทศประมาณ 1 ใน 5 นั้น มาจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเดินทางในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ พบว่าการท่องเที่ยวนั้น มีการฟื้นตัว เริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับมา และคาดว่าจะกลับมาได้

 

แต่เสียดาย ที่มีโควิด สายพันธุ์ โอมิครอน เข้าเสียก่อน จึงทำให้ผลเป็นไปในทางตรงกันข้าม รัฐบาลจึงต้องรักษาสมดุลในสองส่วน คือ ด้านเศรษฐกิจ กับด้านสาธารณสุข ถ้าเลือกให้น้ำหนักด้านสาธารณสุขไปข้างเดียว ก็จะส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

 

โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีห่วงโซ่ธุรกิจที่ยาวที่สุด รวมทั้งมีทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางตรง และทางอ้อมจำนวนมาก จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่จะรักษาสมดุลระหว่างด้านสาธารณสุขกับด้านเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งควรต้องจับตาดู

 

เชื่อว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 คงจะได้เห็นภาพแล้วว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับ 3.5-4% ต่อปีจะดีดกลับมาที่จุดคาดการณ์ไว้หรือไม่

 

สำหรับปัจจัยที่ 3 นั้นเป็นเรื่องที่จับตากันมานานแล้ว คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่ง บสย.ก็จับตาเรื่องนี้มาตลอดเช่นกัน มีการประมาณการยอดเคลมประกันสินเชื่อ และประมวลผลการขอเคลมจริง ปรากฏว่าไม่ใช่ยอดเคลมประกันสินเชื่อของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หรือไม่ใช่ยอดเคลมจากกลุ่มภาคธุรกิจ

 

แต่กลับเป็นกลุ่มเปราะบาง อย่างประชาชนรายย่อย (ไมโคร) ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าจำนวนรายจะเยอะมาก แต่วงเงินการขอเคลมจากรายย่อยนั้นน้อย เพราะวงเงินสินเชื่อเฉลี่ยต่อรายนั้นต่ำ สอดคล้องกับข้อมูล ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ระบุว่า ในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 หนี้ครัวเรื่อนอยู่ที่ 89% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) และคาดว่าในปัจจุบันน่าจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 90% แล้ว ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่ารายได้ที่ประชาชนได้ไป จะนำไปจ่ายเป็นการชำระหนี้ในสัดส่วนที่สูงมาก ทำให้สะท้อนกลับไปที่ความสามารถด้านการบริโภคของประชาชนในประเทศก็จะลดลงไป

 

เพราะฉะนั้นเรื่องของหนี้ครัวเรือน ก็ต้องคอยพยุงกันไป ซึ่งจะมาสอดคล้องกับการทำงานของ บสย.ในการเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศไทย

 

โดยบทบาทของ บสย.กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศไทยนั้น ได้แก่ การทำหน้าที่เป็นผู้เร่งการสร้างเครดิต (Credit Accelerator) โดยการค้ำประกัน ให้กับทุกภาคส่วน ตั้งแต่กลุ่มเปราะบาง กลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ง่ายและสะดวกขึ้น จุดนี้ยังคงเป็นหน้าที่หลักของ บสย.

 

ส่วนที่ต้องเพิ่มเติมของ บสย.คือการเป็นประตูเชื่อมทางการเงิน (Financial Gateway) หมายความว่าบทบาทของ บสย.คือการให้บริการกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็น ผู้ประกอบการที่มีปัญหาเรื่องหลักประกัน ในการยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน จำเป็นที่จะขอหนังสือค้ำประกันจาก บสย.ไปเติมเต็ม เพราะฉะนั้นการเป็นประตูเชื่อมกับสถาบันการเงิน จึงเป็นอีกจุดสำคัญ ไม่ใช่ว่าลูกค้าต้องไปที่สถาบันการเงินแล้วจึงมายื่นขอหนังสือค้ำประกันกับ บสย. แล้วค่อยกลับไปหาสถาบันการเงินอีกครั้ง แต่ควรเป็นการให้บริการที่ลูกค้ามาติดต่อที่ บสย.แล้วทาง บสย.จะประมวลผลข้อมูลในเบื้องต้นส่งกลับไปให้สถาบันการเงินเอง

 

และในการเป็นประตูเชื่อมนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเชื่อมเฉพาะสถาบันการเงินเท่านั้น แต่จะต้องเชื่อมเข้ากับแพลตฟอร์มที่ให้บริการทางการค้าทุกส่วน ที่มีอยู่ในตลาด อาทิ ช้อปปี้ ลาซาด้า แกร็บ หากถามว่า บสย.จะเชื่อมทำไมนั้น ก็เป็นเพราะ บสย.ต้องการให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงทุกกลุ่มเข้าถึงแหล่งเงิน และเข้าถึงตลาดกลาง ทางการค้าขายได้ด้วย

 

บทบาทต่อมา คือ การให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบโดยเฉพาะเอสเอ็มอีนั้น มีความสามารถในการผลิตสินค้า มีความรู้ในการให้บริการที่ดี

 

แต่อาจจะขาดความรู้ในการเข้าถึงเงินทุน รวมถึงความรู้เรื่องดิจิทัล (Digital Literacy) ด้วย ผู้ประกอบการต้องมีความรู้ในการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นพื้นฐาน เข้ามาจัดการบริหารงาน ในกระบวนการขาย ในการสื่อสารกับลูกค้า ถ้างั้นคงไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า แชตบอท (ระบบการโต้ตอบสนทนาอัตโนมัติ) หรือการขายโดยผ่านการอินบ็อกซ์ (การสนทนาผ่านกล่องข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์) ซึ่งเป็นส่วนที่จะต้องเพิ่มทักษะเข้าไป และ บสย.จะช่วยเติมเต็ม 2 บทบาทนี้ เพื่อให้ศักยภาพของประเทศไทยนั้นเพิ่มขึ้น บสย.ไม่ได้เติมแค่เงินทุนเพียงอย่างเดียว แต่จะเติมความรู้ เติมโอกาส ในครบถ้วนทุกด้าน

 

ในการที่จะขับเคลื่อน บสย.ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น ก็จะต้องกลับมาวางตำแหน่งใหม่ ส่วนแบ่งทางการตลาดนั้นชัดเจน คือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป้าหมายก็ชัดเจนเช่นกัน คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีปัญหาเรื่องการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน

 

ดังนั้น ตำแหน่งของ บสย.จะเป็นแบบเดิมไม่ได้ แต่ต้องเป็นการก้าวไปข้างหน้า และเป็นที่พึ่งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ ก่อนที่ผู้ประกอบการจะล้มหายตายจากไปก่อน

 

สำหรับแนวคิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ขับเคลื่อนองค์กร บสย.นั้น การที่จะให้องค์กรก้าวไปข้างหน้า เชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน ส่วนแรกคงหนีไม่พ้นเทคโนโลยีดิจิทัล จากข้อมูลที่มี ตัวเลขผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่ทำสำมะโนบัญชีไว้ มีจำนวน 3 ล้านราย นอกบัญชีอีก 3 ล้านราย และเชื่อว่าอาจจะมีที่ตกสำรวจอีกเป็นล้านราย โดยพบข้อมูลตัวเลขที่น่าทึ่งมาก คือในจำนวน 3 ล้านรายในบัญชีนั้น มีจำนวนผู้ประกอบการที่เข้าถึงสถาบันการเงินเพียง 22% เท่านั้น ซึ่ง บสย.ก็พยายามผลักดันเรื่องนี้มาตลอด

 

ดังนั้น จึงย้อนกลับมามองว่าเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นสำคัญ ซึ่งไม่แปลกใจเลยว่าทำไมภาคการเงินถึงทำผลิตภัณฑ์สินเชื่อดิจิทัล เพราะไม่เช่นนั้น ตัวเลขการเข้าถึงสินเชื่อก็จะอยู่ที่เดิม คือ ผู้ประกอบการ 3 ล้านราย เข้าถึงสินเชื่อ 20-25% แต่พอมีปัจจัยเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามา ก็เลยเป็นโอกาสที่ดีที่จะคว้าเป้าหมายทั้งหมด ในการเข้าถึงสินเชื่อดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลวอลเล็ต ถ้าคนไทยทุกคนมีการเข้าถึงในส่วนดิจิทัลวอลเล็ตได้ รัฐบาลก็สามารถให้สวัสดิการทางสังคมได้สะดวกขึ้น และต้องทำให้ทุกส่วนเชื่อมกัน ไม่ใช่แต่ละองค์กร ต่างก็ทำแพลตฟอร์มแยกกัน

 

ดังนั้น การที่จะให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีความสามารถในการเข้าถึงสถาบันการเงิน จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยอย่างมาก

 

เครื่องยนต์สำคัญ ของ บสย.ประกอบตัว 3 เครื่องยนต์หลัก คือ 1.ผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ในแบบที่รัฐบาลเคยให้ อย่างโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. เอสเอ็มอี สร้างชาติ (พีจีเอส 9) หรือโครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อย (ไมโคร 4)

 

แต่จะเป็นการออกแบบร่วมกับสถาบันการเงิน ลักษณะเชิงรุก ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในทุกมิติ โดยเข้าไปดูแต่ละแบบรายกลุ่มห่วงโซ่ธุรกิจ (ซัพพลายเชน) เพราะถ้าช่วยทีละคน กว่าจะเข้ามาถึงสถาบันการเงินก็จะยาก แต่ถ้า บสย.ทำงานร่วมกับสถาบันการเงิน เข้าไปเจาะที่กลุ่มเป้าหมาย อย่างน้อยสถาบันการเงินเข้าไปหาลูกค้าใน 1 ซัพพลายเชน อาจจะให้สินเชื่อได้ 10% ส่วนอีก 90% อาจจะติดปัญหาคะแนนเครดิตไม่ผ่าน แต่พอเอาหนังสื่อค้ำประกันของ บสย.เข้าไปช่วยนั้น จากที่ผ่านแค่ 10% ก็จะกลายเป็นให้สินเชื่อได้ 50-60% ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ใหม่จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญตัวหนึ่ง

 

เครื่องยนต์ที่ 2 คือ การสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับองค์กร ที่เรียกว่า บสย.ฟาส แอนด์ เฟิร์ส (TGC Fast&First) ในแนวคิดที่ว่า บสย.จะต้องรวดเร็ว รอบคอบ เป็นที่หนึ่งในใจเอสเอ็มอี โดยความรวดเร็ว หมายถึงจะหัน บสย.ให้เป็นอย่างเช่นบริษัท ฟินเทค (Fintech Company) และมีความรอบคอบตอบโจทย์ทุกความต้องการของเอสเอ็มอี ในขณะเดียวกัน ก็เป็นความรอบคอบเหมือนสถาบันการเงิน ถ้าเป็นแบบสถาบันการเงินอย่างเดียว การปล่อยสินเชื่อก็จะได้น้อยเช่นเดิม ซึ่งพันธกิจของการช่วยเอสเอ็มอีทุกราย ฉะนั้น ความรวดเร็วและรอบคอบจะเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อน บสย.

 

และเครื่องยนต์ตัวสุดท้าย คือ การทำโมเดลธุรกิจใหม่ เน้นการพัฒนาแพลตฟอร์ม ที่เป็นประตูเชื่อมกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นระบบการทำความรู้จักลูกค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Know Your Customer หรือ e-KYC) รายการเคลื่อนไหวบัญชีแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือดิจิทัล สเตตเมนต์ การตรวจสอบเครดิตผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์

 

ซึ่งทั้งหมดนี้คือภาคต่อของพร้อมเพย์ หรือระบบบริการรับและโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ผูกกับเบอร์โทรและเลขประจำตัวประชาชน โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

 

ส่วนต่อมาคือการเชื่อมโยงกับสถาบันการเงิน และสุดท้ายคือการเชื่อมโยงกับอีโคซิสเต็ม เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้าแกร็บ โรบินฮู้ด เป็นต้น ที่เป็นตลาดกลางบนช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงครบทุกมิติ ทั้งเรื่องทุน และความรู้ ทั้งเรื่องการเงิน และเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงโอกาสทางตลาดใหม่ ซึ่งทั้งสามเครื่องยนต์นี้จะถูกขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิง เทคโนโลยีดิจิทัล ให้ตำแหน่งของ บสย.ก้าวไปข้างหน้า

 

โดยกลยุทธ์ทั้ง 3 เครื่องยนต์นี้จะอยู่บนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานองค์กรที่เรียกว่า 4พี (P) ได้แก่ 1.Process คือกระบวนการทำงานแบบอัตโนมัติ (Automation) จากช่วงที่ผ่านมา บสย.ได้รับภารกิจให้ดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านสินเชื่อฟื้นฟูตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีทั้งจำนวนคนและวงเงินที่มากมาย คำถามคือ แล้วถ้าไม่ทำระบบอัตโนมัติแล้ว ผลผลิตจะได้มาไหม แต่ท้ายที่สุดแล้วการทำออโตเมชั่น สิ่งที่ได้มาคือไม่ใช่เพียงผลผลิต แต่เป็นเรื่องของข้อมูล (ดาต้า) เพราะจำเป็นอย่างมากที่จะต้องนำดาต้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์

 

2.Product หรือผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ ที่จะได้รับการพัฒนา เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ตรงจุดมากขึ้น 3.People คือบุคลากรใน บสย.ปัจจุบัน ประกอบด้วย 3 รุ่น คือ กลุ่มอนาล็อก กลุ่มคอมพิวเตอร์ และกลุ่มดิจิทัล โดยกลุ่มดิจิทัลเป็นเด็กรุ่นใหม่ ไม่ต้องจับเงินสด ที่รู้จักใช้โทรศัพท์มือถือจ่ายเงิน จากเงินผ่านคิวอาร์โค้ด เพราะฉะนั้น เรื่องของเงินสด ธนบัตร เหรียญ นั้นมองในเชิงเป็นความรู้มากกว่า และเมื่อปัจจุบันมีกระแสยุคเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามา จึงทำให้สกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์ เข้ามามีความสำคัญในสังคมอย่างมาก และการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัลก็นำไปสู่การเปลี่ยนบทบาททางการเงิน

 

ดังนั้น เมื่อคนสามรุ่นอยู่ต้องร่วมกันในองค์กรภาครัฐนั้น ก็ต้องบริหารให้อยู่ร่วมกันได้ มีการเพิ่มทักษะ เป็น ฟิวเจอร์ สกิล หมายถึง คนทุกกลุ่มต้องให้เรียนรู้ทักษะใหม่ เพิ่มเติมทักษะ ให้เกิดขีดความสามารถ ในการขับเคลื่อนองค์กร

 

และสุดท้าย คือ 4.Plafform ก็คือการสร้างระบบเชื่อมโยงธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในทุกด้าน เอาดาต้ามาใช้ให้ได้มากที่สุด เพราะ บสย.เป็นองค์กรที่มีการรวบรวมข้อมูลของสินเชื่อมากที่สุด จากทุกธนาคารในระบบ และทุกธนาคารต้องส่งข้อมูลสินเชื่อต่างๆ ใน บสย. ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานและกลยุทธ์ทั้งหมดนี้ จะเป็นส่วนช่วยในการขับเคลื่อนองค์กร บสย.สู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อเตรียมพร้อมการเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในทุกมิติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง