รีเซต

รองพงษ์ เผยผลเยือนญี่ปุ่น ทุกค่ายรถตอบรับแพคเกจอีวี ลงทุน 1-2 ปีข้างหน้า

รองพงษ์ เผยผลเยือนญี่ปุ่น ทุกค่ายรถตอบรับแพคเกจอีวี ลงทุน 1-2 ปีข้างหน้า
มติชน
26 เมษายน 2565 ( 10:51 )
81

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 20 – 23 เมษายนที่ผ่านมา ได้นำคณะประกอบด้วย หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และผู้แทนหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย เดินทางไปชักจูงการลงทุน ณ กรุงโตเกียว และจังหวัดคานากาวะ ประเทศญี่ปุ่น โดยได้เข้าพบนายฮิโรคาสึ มัตสึโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) รวมทั้งประธานสมาพันธ์สมาคมธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น (Keidanren) และบริษัทเอกชนรายใหญ่ของญี่ปุ่น

 

ผลการหารือกับนายมัตสึโนะ ฮิโรคาสึ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งในปีนี้เป็นโอกาสครบรอบ 135 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งเห็นพ้องร่วมกันที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของไทย และยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น ซึ่งมีความสอดคล้องกัน

 

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นเห็นว่าการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่ไปกับการลดการปล่อยคาร์บอนมีความสำคัญ จึงประสงค์ที่จะร่วมมือกับไทยผ่านการให้ความช่วยเหลือภายใต้ข้อริเริ่ม Asia Energy Transition Initiative (AETI) ของญี่ปุ่น และความร่วมมือในด้านพลังงานสะอาดด้วย

 

สำหรับการพบนักลงทุนรายสำคัญในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และการแพทย์ ทุกบริษัทยืนยันให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย พร้อมพิจารณาไทยเป็นฐานธุรกิจหลักของภูมิภาค และวางแผนขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย นอกจากนี้ ทุกรายยังให้ความสำคัญกับการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทย และมีโอกาสสร้างความร่วมมือกันได้อีกมากด้วย

 

ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้เน้นย้ำกับบริษัทว่ารัฐบาลไทยมีเจตจำนงที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก โดยได้หารือกับผู้ประกอบการทุกรายและได้ออกมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร เช่น แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนต่าง ๆ และสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทุกบริษัทยินดีให้ความร่วมมือกับมาตรการดังกล่าว โดยส่วนใหญ่มีแผนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย และคาดว่าจะทยอยเข้าร่วมมาตรการสนับสนุน EV ได้ภายใน 1 – 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ได้มีการหารือเกี่ยวกับโอกาสในการสร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงการส่งเสริมธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี่ด้วย

 

ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทญี่ปุ่นมองไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำและปลายน้ำที่แข็งแกร่ง และมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปสู่การผลิตอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ได้ในอนาคต รวมทั้งการผลิตอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมด้านบุคลากรมากขึ้น นอกจากนี้ หลายบริษัทยังได้ขอบคุณรัฐบาลไทยและบีโอไอที่ได้ช่วยให้บริษัทสามารถรักษาการผลิตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งได้ช่วยสร้างความมั่นใจในการยึดไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของภูมิภาคในระยะยาว

 

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ บริษัทได้แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของบุคลากรด้านการแพทย์ของไทย โดยจะพิจารณาขยายธุรกิจในอุตสาหกรรมยาและการวิจัยทางคลินิกร่วมกับมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลต่าง ๆ ต่อไป นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงเรื่องการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการดูแลผู้สูงอายุให้มีอายุยืน มีสุขภาพแข็งแรง และสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วย

“ผลการเยือนเพื่อชักจูงการลงทุนประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจ และมีการหารือร่วมกันในหลายประเด็นกับญี่ปุ่นในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ตามโมเดล BCG ที่จะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนระหว่างสองประเทศ” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มีกำหนดการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันเพิ่มเติม รวมถึงติดตามความคืบหน้าด้านความร่วมมือ และสานต่อข้อริเริ่มการเป็นหุ้นส่วนการร่วมสร้างสรรค์ (co – creation) ระหว่างไทย – ญี่ปุ่น และนำไปสู่การลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตร่วมกันของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ สมาพันธ์สมาคมธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) มีแผนจะนำสมาชิกของกลุ่มเศรษฐกิจและการค้าไทย – ญี่ปุ่นกว่า 70 บริษัท เดินทางมาเยือนไทยเพื่อพบกับหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรทางธุรกิจในปีนี้อีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง