รีเซต

โควิด-19: แกนนำนักศึกษาเดินหน้าจัดชุมนุมต่อ แม้ บช.น. เตือนผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

โควิด-19: แกนนำนักศึกษาเดินหน้าจัดชุมนุมต่อ แม้ บช.น. เตือนผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
บีบีซี ไทย
17 กรกฎาคม 2563 ( 18:20 )
140

 

แกนนำนักศึกษายอมรับความเสี่ยงการถูกตั้งข้อหาจากการจัดชุมนุมการเมืองนอกรั้วมหาวิทยาลัยครั้งแรก ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงไม่อนุญาตให้นักศึกษาจัดกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในช่วงเย็นวันที่ 18 ก.ค. โดยอ้างว่าผิดพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

แม้ พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ระบุว่าจากการข่าวไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ได้พูดผ่านสื่อมวลชนขอร้องให้นิสิตนักศึกษาอย่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และอย่าทำกิจกรรมที่ไปกระทบสิทธิของผู้อื่น

 

"ในช่วงนี้เป็นช่วงการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มีการอนุญาตให้มีการชุมนุมอยู่แล้ว และยังเข้าเงื่อนไขตามมาตรการควบคุมโรคอีกด้วย" ผบช.น. กล่าว

 

สำหรับผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

นายทัตเทพ เรืองประไพกิจ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเลขาธิการ FreeYOUTH กล่าวกับบีบีซีไทยว่า พวกเขาจะเดินหน้าจัดกิจกรรมต่อไป โดยคาดการณ์ว่าจะมีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 2 พันคน ส่วนเพื่อนบางคนประเมินว่าจะมีผู้เข้าร่วมราว 5 พันคน ด้วยเหตุผลที่ว่าคนอึดอัดกับระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การคุกคามสิทธิของประชาชนรายวัน รวมถึงได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจรุนแรงจากการบริหารของรัฐบาล จนรู้สึกทนไม่ไหว ต้องออกมาทำอะไรสักอย่าง

 

ส่วนสาเหตุที่เลือกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพราะเป็นสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย แกนนำนักศึกษารายนี้จึงเชื่อว่าน่าจะเป็น "ศูนย์รวมใจของคนที่รักประชาธิปไตยที่ต้องการทวงคืนอำนาจสูงสุดให้กับประชาชนได้" อีกทั้งมีพื้นที่เพียงพอในการรองรับผู้ชุมนุม

 

ประกาศ 3 ข้อเรียกร้องถึงผู้มีอำนาจ

หนึ่งวันก่อนถึงวันนัดหมายชุมนุม แกนนำนักศึกษาที่เป็นผู้จัดการชุมนุมได้ประกาศ 3 ข้อเรียกร้องถึงผู้มีอำนาจผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของทางกลุ่ม มีใจความสำคัญโดยสรุป ดังนี้

 

1. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประกาศยุบสภา โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาล "ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ" หลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังปล่อยให้ "วีไอพี" ที่มีเชื้อไวรัสเข้ามาในประเทศโดยไม่ได้กักตัว สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดครั้งใหญ่รอบ 2

 

2. ให้ "หยุดคุกคามประชาชน" ทั้งทางกายภาพและทางจิตวิทยา โดยอ้างความมั่นคงเพื่อปิดปากประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและความยุติธรรม

 

3. ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เพื่อเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย

เยาวชนกลุ่มนี้คาดหวังจะเห็นความเปลี่ยนแปลงภายใน 2 สัปดาห์ ไม่เช่นนั้นก็ขู่ว่าจะยกระดับการชุมนุม

กิจกรรมแฟลชม็อบของนักศึกษาเมื่อเดือน ก.พ.2563

 

"สิ่งที่น่ากลัวกว่าไวรัสคือการที่ประชาชนกำลังอดตาย"

อย่างไรก็ตามข้อเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในระหว่างการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาในหลายสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศ หรือที่รู้จักในนาม "แฟลชม็อบ" เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก่อนที่ความเคลื่อนไหวทั้งหมดจำต้องยุติลงเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

การกลับมาชุมนุมรอบใหม่ท่ามกลางภาวะวิกฤตโรคระบาดที่ยังไม่รู้จุดจบ และตามมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจระลอกใหม่ ทำให้นายทัตเทพประเมินว่าจุดจบจะไม่เหมือนเดิม และจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้พวกเขายกระดับการกดดันไปที่รัฐบาลได้

 

"ตอนนี้ไวรัส คนอาจไม่แคร์มาก เพราะสามารถใส่หน้ากากและเว้นระยะห่างได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าไวรัสคือการที่ประชาชนกำลังอดตาย และบ้านเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" เลขาธิการ FreeYOUTH กล่าว

 

ทว่าความต่างที่สำคัญระหว่าง "แฟลชม็อบ" กับการชุมนุมที่กำลังจะเกิดในวันที่ 18 ก.ค. คือการจัดนอกรั้วมหาวิทยาลัย และเชื้อเชิญให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชุมนุม โดยที่แกนนำนักศึกษารายนี้ประเมินความเสี่ยงไว้ว่า "เป็นไปได้สูงที่พวกผมได้รับข้อกล่าวหา" ซึ่งส่วนตัวพร้อมรับ เพราะต้องการยุติปัญหาทั้งหมดไว้ที่คนรุ่นเขา และไม่มีอะไรจะฝากถึงบรรดาผู้ร่วมชุมนุม

 

"ผมเชื่อว่าคนทั่วไปรู้ดีว่าบ้านเมืองเราอยู่ใต้ภาวะฉุกเฉิน ซึ่งแม้ไม่มีเหตุอะไรต้องฉุกเฉินแล้ว แต่เราก็ยังอยู่กับมัน คนที่ออกมาไม่กลัวหรอกครับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เขากลัวอดตายมากว่า" และ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้มีไว้คุมโรค แต่มีไว้คุมม็อบ มีไว้เพื่อรวบอำนาจไว้ที่ตัวนายกฯ หรือไม่" นายทัตเทพข้อสังเกต

 

เผย 4 ดาวปราศรัยล้วนถูกตั้งข้อหาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ขณะเดียวกันมีการเปิดเผยรายชื่อแกนนำหลักของนักศึกษาที่จะขึ้นปราศรัยในวันที่ 18 ก.ค. อย่างน้อย 4 คน ในจำนวนมี 2 เยาวชนที่ไปชูป้ายประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ ในระหว่างลงพื้นที่ จ.ระยอง เมื่อ 15 ก.ค. ด้วย

 

จุดร่วมของนักศึกษาทั้ง 4 คนคือการมีประสบการณ์ตกเป็น "ผู้ต้องหา" ฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยข้อหา "ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย" หลังจัดกิจกรรม/เคลื่อนไหวทางการเมืองในต่างกรรมต่างวาระ

  • นายทัตเทพ เรืองประไพกิจ เลขาธิการ FreeYOUTH ร่วมจัดกิจกรรมชูป้าย "เซฟวันเฉลิม" หน้าสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เมื่อ 8 มิ.ย. และร่วมจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 24 มิ.ย. ที่ลานสกายวอล์ก กทม. เมื่อ 24 มิ.ย.
  • น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรม "ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิม" ที่ลานสกายวอล์ค เมื่อ 5 มิ.ย.
  • นายภาณุพงศ์ จาดนอก ประธานกลุ่มเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ร่วมจัดกิจกรรม "ใคร-สั่ง-อุ้ม ? วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์" ที่สวนศรีเมือง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา, ชูป้ายประท้วงนายกฯ ที่ จ.ระยอง เมื่อ 15 ก.ค.
  • นายณัฐชนน พยัฆพันธ์ กลุ่มเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ชูป้ายประท้วงนายกฯ ที่ จ.ระยอง เมื่อ 15 ก.ค.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง