รีเซต

ANI โรดโชว์เตรียมขายหุ้น IPO เข้า SET

ANI โรดโชว์เตรียมขายหุ้น IPO เข้า SET
ทันหุ้น
29 พฤศจิกายน 2566 ( 12:04 )
38

#ทันหุ้น - บริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ ANI พร้อมเผยศักยภาพและความพร้อมในการเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบิน (Cargo General Sales Agent: GSA) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในสาธารณรัฐประชาชนจีน และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประกาศแผนขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 554,738,900หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 30.0 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ เตรียมเข้าจดทะเบียนในหมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในฐานะหุ้นธุรกิจ GSA รายแรกและรายเดียวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

คุณบี เล็ง โก๊ะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ANI เป็นผู้นำธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบิน (GSA) ให้แก่สายการบินชั้นนำกว่า 20 สายการบินใน 8 ประเทศและเขตบริหารพิเศษ ประกอบด้วยไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา และเมียนมา ครอบคลุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้านการขนส่งทางอากาศของภูมิภาค และมีเส้นทางการบินไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 400 ปลายทาง 

จุดแข็งสำคัญคือ ANI มีความโดดเด่นจากการเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ระดับภูมิภาคที่ประกอบธุรกิจหลัก ซึ่งมีเพียง 3 ราย และมีส่วนแบ่งการตลาดรวมกัน 65-75% ANI ยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวแทนของสายการบินชั้นนำมาอย่างยาวนานจากมาตรฐานและคุณภาพในการบริการของบริษัทฯ โดยมี 7 สายการบินเป็นคู่ค้ากับบริษัทฯ มากว่า 10 ปี รวมถึงมีคณะผู้บริหารและบุคลากรมืออาชีพที่มีประสบการณ์และความรู้ในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางอากาศมาอย่างยาวนานกว่า 35 ปี พร้อมทั้งได้รับประโยชน์ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันจากบริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ ที่ประกอบธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานขนส่งสินค้าเช่นเดียวกัน ทำให้ ANI มี Ecosystem ที่แข็งแกร่งและส่งเสริมการต่อยอดโอกาสการเติบโตในอนาคต

ANI สร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายพันธมิตรอย่างมีประสิทธิภาพ จากการที่สายการบินส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะใช้บริการ GSA เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสายการบินต้องการลดต้นทุนในการดำเนินงาน ประกอบกับ 4 ปัจจัยสนับสนุนการขับเคลื่อนการเติบโตของ GSA ได้แก่

· เครือข่ายผู้ส่งสินค้าที่ครอบคลุม การว่าจ้างผู้ให้บริการ GSA ทำให้สายการบินไม่จำเป็นต้องจัดจ้างและบริหารทรัพยากรบุคคล หรือจัดตั้งสำนักงานดำเนินการเพิ่มเติม โดยผู้ให้บริการ GSA จะได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบของค่านายหน้า นอกจากนี้ สายการบินยังสามารถว่าจ้าง GSA ได้หลายรายในหลายประเทศหรือในพื้นที่เดียวกันเพื่อขยายเครือข่ายให้ทันต่อความต้องการทางธุรกิจ

 

· ช่วยบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้บริการจากผู้ให้บริการ GSA ที่มีประสบการณ์สามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่สายการบิน เนื่องจากผู้ให้บริการ GSA สามารถนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาสร้างประโยชน์ในเชิงรายได้ให้แก่สายการบิน ในขณะเดียวกันยังมีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำกว่าการที่สายการบินดำเนินการด้วยตนเอง

 

· รวดเร็วกว่าการดำเนินงานด้วยตัวเอง GSA สามารถช่วยสายการบินในการขยายตลาดใหม่ ๆ ในต่างประเทศอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีเครือข่ายที่ครอบคลุมและมีความเข้าใจในตลาดต่าง ๆ เป็นอย่างดี

 

· เข้าถึงฐานข้อมูลและกลุ่มลูกค้าในแต่ละประเทศ การทำงานร่วมกับ GSA ทำให้สายการบินสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลในตลาดของกลุ่มลูกค้าของผู้ให้บริการ GSA ได้ในทันที

ANI วางแผนการเติบโตอย่างต่อเนื่องสู่การเป็นผู้นำธุรกิจ GSA ในภูมิภาคเอเชีย โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ของรายได้ในปี 2566 – 2568 ที่ประมาณ 30% ซึ่งการจัดหาสัญญาใหม่ปีละ 6 – 8 สัญญา (อ้างอิงจากสภาวะตลาด อัตราค่าระวาง และแนวโน้มอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2566) และดำเนินกลยุทธ์ในการมุ่งการรักษาฐานลูกค้าเดิม และเติบโตไปพร้อมกับสายการบินที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันในเส้นทางใหม่ 

พร้อมขยายการให้บริการไปยังสายการบินรายใหม่หรือเส้นทางบินใหม่ ๆ โดยในระยะสั้นจะมุ่งขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมในกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตและความต้องการการขนส่งสินค้าทางอากาศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย และในระยะยาวจะขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมไปยังภูมิภาคอื่น เช่น ทวีปยุโรป และออสเตรเลีย เป็นต้น รวมไปถึงการขยายธุรกิจผ่านการเข้าซื้อกิจการ - ร่วมทุนกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจ GSA หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในอนาคต

 

นอกจากนี้ ANI ยังมีแผนพัฒนาบริการการขนส่งสินค้าทางอากาศของตนเอง ผ่านทางการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) รวมไปถึงร่วมกับผู้ให้บริการสายการบินขนส่งทางอากาศ (Freighter Flight) ในการนำเสนอระวางสินค้าสำหรับการขนส่งทางอากาศและเส้นทางบินของบริษัทฯ เอง เพื่อสร้างความยั่นยืนในระยะยาว

 

ANI มีผลประกอบการที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563, 2564 และ 2565 มีรายได้รวม 4,842.7 ล้านบาท 7,791.3 ล้านบาท และ 7,744.1 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) สำหรับปี 2563 ถึงปี 2565 เท่ากับ 26.5% ต่อปี ขณะที่ปริมาณการให้บริการยังมีการเติบโตตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จาก 91,097 ตัน ในปี 2563 เป็น 109,050 ตันในปี 2565 ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 7.5 % ต่อปี  สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ANI มีรายได้รวม 2,668.6 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 431.9 ล้านบาท เติบโต 17.7% จากกำไรสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

การเสนอขาย IPO ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะส่งเสริมให้ ANI เติบโตสู่การเป็นผู้นำธุรกิจ GSA ในภูมิภาคเอเชีย โดยมีวัตถุประสงค์การระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้ปรับโครงสร้างทางการเงินจากการซื้อธุรกิจ GSA ในสิงคโปร์และมาเลเซียในช่วงปลายปี 2565 ตลอดจนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ เพื่อการเติบโตของบริษัทฯ ในอนาคต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง