รีเซต

โควิด-19 : คุยกับ 3 นักกีฬาทีมชาติไทยที่ได้ไปโอลิมปิก แต่ (ยัง) ไม่มีโอลิมปิกให้ไป

โควิด-19 : คุยกับ 3 นักกีฬาทีมชาติไทยที่ได้ไปโอลิมปิก แต่ (ยัง) ไม่มีโอลิมปิกให้ไป
บีบีซี ไทย
7 เมษายน 2563 ( 19:59 )
66
โควิด-19 : คุยกับ 3 นักกีฬาทีมชาติไทยที่ได้ไปโอลิมปิก แต่ (ยัง) ไม่มีโอลิมปิกให้ไป
Getty Images

หากไม่เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จนทำให้โอลิมปิกเกมส์ที่โตเกียวต้องถูกเลื่อนออกไป 1 ปี ขณะนี้ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี นักกีฬามวยสากลทีมชาติไทยคงกำลังเตรียมเดินทางไปฝึกซ้อมที่สเปนต่อด้วยการเก็บตัวที่ฝรั่งเศส ขณะที่ใบสน มณีก้อน นักชกหญิงวัย 18 ปี ที่ได้โควต้าไปโอลิมปิกครั้งแรกก็จะอยู่ในโค้งสุดท้ายของการฝึกซ้อม ส่วนสุธิยา จิวเฉลิมมิตร นักยิงเป้าบินก็พร้อมเต็มที่แล้วสำหรับโอลิมปิกครั้งที่ 4 ของเธอ

สำหรับนักกีฬาบางคน การเลื่อนโอลิมปิกเกมส์ออกไปอีก 1 ปีทำให้มีเวลาฝึกซ้อมเพิ่มขึ้น แต่สำหรับนักกีฬาบางประเภทอย่างมวยสากลสมัครเล่น การเลื่อนไปอีกหนึ่งปีหมายถึงสภาพร่างกายที่ถดถอยและความว่องไวที่ลดน้อยลง โดยเฉพาะฉัตร์ชัยเดชาหรือ "เจ้าสด" ที่อายุย่างเข้า 36 ปี และตั้งใจว่าโอลิมปิก 2020 จะเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของเขา

แต่สิ่งที่นักกีฬาทั้ง 3 คนเห็นตรงกันก็คือแม้จะรู้สึกแย่ที่แผนการในชีวิต ทั้งการซ้อมและการแข่งขันต้องล้มไม่เป็นท่า เขาและเธอเห็นว่าการตัดสินใจของเจ้าภาพญี่ปุ่นและคณะกรรมการโอลิมปิกสากลที่ให้เลื่อนโตเกียวโอลิมปิกจากวันที่ 24 ก.ค.-9 ส.ค. ปีนี้ไปเป็นวันที่ 23 ก.ค.-8 ส.ค. ปีหน้านั้นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว เพื่อความปลอดภัยของทั้งนักกีฬาและผู้ชม

แม้ว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะเคยถูกยกเลิกมาแล้วถึง 2 ครั้งคือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1916 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1944 แต่นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การแข่งขันถูก "เลื่อน" ออกไป

เมื่อคำนึงถึงสปอนเซอร์ ลิขสิทธิ์ การเตรียมการ การขายตั๋ว การจองโรงแรม ฯลฯ แล้ว นี่ย่อมเป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่ายเลย นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าเหตุใดคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ถึงมีมติออกมาช้าและต้องพบกับแรงกดดันอย่างหนักหลังจากประเทศต่าง ๆ เริ่มทยอยประกาศถอนตัวจากการแข่งขันครั้งนี้ นำโดยแคนาดา แล้วตามด้วยออสเตรเลียที่บอกนักกีฬาให้เตรียมตัวสำหรับการแข่งขันในปีหน้าแทน

บีบีซีไทยคุยกับนักกีฬาทีมชาติไทย 3 คน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทัพนักกีฬาไทยชุดแรกเกือบ 20 ชีวิตที่ผ่านการคัดเลือกหรือได้โควตาไปแข่งโอลิมปิกที่โตเกียวแล้ว แต่กลับต้องพับแผนการซ้อมและการแข่งขันไปอย่างน่าเสียดาย

เธอและเขารับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดนี้อย่างไร และการเลื่อนนี้จะกระทบต่อฟอร์มการแข่งขันมากน้อยแค่ไหน

ใบสน มณีก้อน : โอลิมปิกครั้งแรก

ใบสน หรือ "ครีม" กำปั้นสาวไทยวัย 18 ปี ที่เพิ่งจะก้าวขึ้นมาชกในรุ่นประชาชน และผ่านการคัดเลือกไปแข่งโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในชีวิต สาวน้อยชาว จ.กาฬสินธุ์ เป็น 1 ใน 4 ของนักชกโซนเอเชีย-โอเชียเนีย รุ่นเวลเตอร์เวต 69 กก.ในโอลิมปิกที่โตเกียว

ใบสนบอกว่าเธอพร้อมเต็มที่สำหรับการขึ้นชกที่โตเกียวเดือน ก.ค.นี้และไม่คาดคิดมาก่อนว่าโอลิมปิกจะถูกเลื่อนออกไป

"เริ่มซ้อมมาหลายเดือนแล้ว หนูเตรียมตัวมาเต็มที่มากสำหรับแม็ตช์นี้" ใบสน ดีกรีเหรียญทองศึกกำปั้นเยาวชนหญิงบอกกับบีบีซีไทย

ความรู้สึกแรกของใบสนเมื่อรู้ว่าโอลิมปิกเกมส์จะต้องเลื่อนออกไปคือ "หายกดดัน" เพราะเธอเพิ่งจะเลื่อนจากนักชกรุ่นเยาวชนมาเป็นรุ่นประชาชนและกำลังจะเป็นตัวแทนประเทศไทยขึ้นชกเวทีระดับโลกอย่างโอลิมปิกเกมส์

ช่วงที่การระบาดของโควิด-19 เริ่มรุนแรงขึ้นช่วงต้นเดือนเม.ย. สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย ตัดสินใจปิดค่ายซ้อมและปล่อยตัวนักกีฬากลับบ้าน ใบสนเดินทางกลับบ้านที่ จ.กาฬสินธุ์ ทันที

จากเก็บตัวซ้อม กลายเป็นกักตัวอยู่กับบ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส ใบสนบอกตัวเองว่านี่เป็นโอกาสดีที่เธอจะได้มีเวลาพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีก

"หลังจากนี้จะซ้อมเต็มที่" เธอบอก แต่ก็รู้ข้อจำกัดดีว่าในช่วงโรคระบาดแบบนี้การซ้อมคงมีข้อจำกัดมากมาย อีกทั้งแมตช์ชกต่าง ๆ ก็ถูกยกเลิกไปหมด เลื่อน การซ้อม-การชกไม่เป็นไปตามแผนที่โค้ชฮวน ฟอนตาเนียลและโค้ชภาคภูมิ แจ้งโพธิ์นาควางไว้ให้ แต่กำปั้นสาวไทยก็หวังว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เธอจะมีโอกาสขึ้นชก สะสมประสบการณ์ไปจนกว่าจะถึงวันแข่งที่ถูกกำหนดขึ้นใหม่ในปีหน้า...ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอีก

"โอลิมปิกนี้เป็นครั้งแรกของหนู หนูขอแค่ให้ได้เหรียญก็พอ" ใบสนบอก

สุธิยา จิวเฉลิมมิตร : โอลิมปิกครั้งที่ 4

การฝึกซ้อมและการแข่งขันคือชีวิตของสุธิยา นักกีฬายิงเป้าบินทีมชาติไทยมืออันดับ 3 ของโลก การเลื่อนโอลิมปิกและการต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านจึงส่งผลกระทบต่อจิตใจของนักกีฬาผู้รักการแข่งขันอย่างเธอไม่น้อย

"เราเป็นนักกีฬา เราเคยชินกับการฝึกซ้อมและการแข่งขัน เมื่อสองสิ่งนี้หายไปจากชีวิตเรามันก็กระทบความรู้สึกมาก รู้สึกคิดถึงการแข่งขัน" สุธิยาบอก

อีกสิ่งหนึ่งที่หายไปจากชีวิตของเธอคือการได้เจอเพื่อนนักกีฬาและคู่แข่งที่เจอกันบ่อยจนกลายมาเป็นเพื่อนสนิท

"เพิ่งคุยกับเพื่อนนักกีฬาเป้าบินชาวฝรั่งเศสว่าไม่รู้เมื่อไหร่เราจะได้เจอกัน มันรู้สึกแปลก ๆ เพราะปกติเราจะเจอเพื่อนนักกีฬา เจอคู่แข่งมากกว่าครอบครัวตัวเองเสียอีก"

สุธิยาเริ่มเล่นกีฬาเป้าบินมาตั้งแต่ปี 2543 ตลอดเวลา 17 ปี เธอไม่เคยเจอเหตุการณ์ใดที่กระทบกับวงการกีฬาอย่างรุนแรงและทั่วถึงอย่างนี้มาก่อน ถึงขั้นที่การแข่งขันกีฬาทุกประเภทหยุดไป 100 เปอร์เซ็นต์

"ในแวดวงกีฬาก็ไม่เคยเจออะไรที่ใหญ่ขนาดต้องเลื่อนโอลิมปิก...แต่ถ้าเทียบกับวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ตอนนี้ การเลื่อนโอลิมปิกก็ถือเป็นเรื่องเล็ก" เธอให้ความเห็น

สุธิยาบอกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนักกีฬาไม่ได้มีแค่การเลื่อนโอลิมปิกเท่านั้น แต่การที่ทุกแมตช์การแข่งขันถูกยกเลิกนั้นส่งผลต่อแผนการทุกอย่างที่วางไว้

"แมตช์การแข่งขันในปีนี้ยกเลิกทุกอย่าง ซึ่งกระทบกับนักกีฬามากเพราะ นักกีฬาจะวางแผนการซ้อมให้สอดคล้องกับแมตช์การแข่งขัน แต่ตอนนี้มันไม่มีอะไรเลย ตอนนี้ก็เลยปรับมาดูพื้นฐานร่างกาย พื้นฐานจิตใจแทน เพราะมันไม่มีประโยชน์สำหรับการเตรียมตัวสำหรับการแข่งขัน เพราะมันไม่มี"

สุธิยายังไม่มั่นใจว่าโอลิมปิกเกมส์จะเกิดขึ้นได้ตามกำหนดการใหม่หรือไม่ เพราะสถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่นิ่ง แม้แต่เทนนิสวิมเบิลดันซึ่งมีกำหนดการจัดในเดือน ส.ค. หรืออีกราว5 เดือนจากนี้ยังต้องยกเลิก "อยากให้ทุกคนดูแลรักษาตัวเองให้ดีและรับผิดชอบต่อสังคมด้วย แล้วเมื่อเหตุการณ์จบเราก็คงได้เจอกัน" สุธิยาฝากบอกเพื่อนนักกีฬาทุกคน

ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี : โอลิมปิกครั้งสุดท้าย

"ถ้าสมมติว่าเลื่อนไป 2 ปี ผมคงต้องสละสิทธิ์ ผมคงต้องเลิกแน่นอนเพราะดูแลสภาพร่างกายตัวเองไปถึงตอนนั้นคงไม่ไหว แต่ถ้าเลื่อนไป 1 ปีก็ยังพอไหว ผมก็จะพยายาม" ฉัตร์ชัยเดชา นักมวยที่เรียกได้ว่าเป็น "พี่ใหญ่" ของนักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย ซึ่งคว้าโควต้าโอลิมปิกโซนเอเชีย-โอเชียเนีย รุ่น 57 กก.ไปแข่งขันโอลิมปิกที่โตเกียว ซึ่งเป็นโอลิมปิกครั้งที่ 3 ของเขาต่อจากลอนดอนเกมส์ (2012) และริโอเกมส์ (2016)

ฉัตร์ชัยเดชาเพิ่งจะมีอายุครบ 35 ปีเต็มไปเมื่อ 26 มี.ค. ด้วยวัยใกล้ 40 ปี ซึ่งเป็นอายุสูงสุดที่สหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติกำหนดไว้สำหรับการขึ้นชก เขาเชื่อว่าตัวเองจะเป็นนักมวยที่อายุมากสุดในโอลิมปิกเกมส์ที่โตเกียว

สำหรับนักกีฬาคนอื่น ๆ ที่อายุยังน้อยหรือกีฬาบางประเภทที่อายุไม่ใช่อุปสรรค การเลื่อนโอลิมปิกอาจส่งผลดีในแง่ของการพัฒนาร่างกายและทักษะให้ดีขึ้น แต่ "เจ้าสด" รู้ตัวเองดีว่าอายุที่มากขึ้นไม่เป็นผลดีต่อนักมวยเลย

"ปีนี้ผมก็ 35 ย่าง 36 ถ้าเลื่อนไปอีกปีก็ 36 ย่าง 37 มันมีผลต่อสภาพร่างกาย เรื่องความแข็งแรงความแข็งแกร่งไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่ แต่ปฏิกิริยาการตอบสนองมันจะช้าลง...ถ้าปีหน้ายังเลื่อนอีก ผมคงไม่ไหว คงพอจริง ๆ ครับเพราะสภาพร่างกายมันไม่เหมือนเมื่อก่อน การฟื้นฟูก็ช้า เมื่อก่อนนี้ต่อยวันนี้ พักหนึ่งวันก็ต่อยได้แล้ว แต่ตอนนี้กว่าจะฟื้นตัวต้องใช้เวลาหลายวัน" เขาบอก

ตามแผนที่โค้ชฟอนตาเนียลวางไว้ เดือนเม.ย.นี้ฉัตรชัยเดชาที่ผ่านการคัดเลือกไปโอลิมปิกแล้วจะได้ร่วมเดินทางไปกับทีมนักชกไทยไปเก็บตัวและชกที่สเปน ก่อนจะบินต่อไปฝรั่งเศสซึ่งนักมวยจำนวนหนึ่งจะต้องไปคัดเลือกโอลิมปิกที่นั่น โดยฉัตรชัยเดชาจะเป็นคู่ซ้อมให้เพื่อน ๆ

ทริปเก็บตัวและแมตช์ในยุโรปที่นักชกไทยต่างรอคอยถูกยกเลิกไปหมดแล้วเพราะโควิด-19

ระหว่างเก็บตัวอยู่ที่บ้าน ฉัตรชัยเดชาโพสต์คลิปวิดีโอที่เขาออกกำลังกายรักษาความแข็งแกร่งอยู่ที่บ้านบนเฟซบุ๊กของเขา

"ผมก็ยังออกกำลังกาย โค้ชย้ำให้ดูแลตัวเองให้ดีด้วย เพราะนักกีฬาถ้าหยุดซ้อมไปเป็นเดือน ร่างกายเราจะไม่เหมือนเดิม นักมวยมีเรื่องของการควบคุมน้ำหนักด้วย ต้องคุมอาหารตลอดเวลา"

ฉัตร์ชัยเดชาบอกบีบีซีไทยว่า "เลื่อนไปปีนึงก็ยังพอทำใจได้ คิดในทางที่ดีก็คือเรา ยังมีเวลาเตรียมตัวอีก 1 ปี" แต่ปัญหาก็คือแมตช์ต่าง ๆ ถูกยกเลิกหมด ทำให้ต้องซ้อมเองเป็นหลัก

"สำหรับนักมวย ถ้าไม่มีแมตช์ชก ความมั่นใจก็ลดลง หลังจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี ไม่มีแมตช์ชกเลย ต้องซ้อมเองหมด"

เขาบอกว่าโอลิมปิกครั้งนี้ "แค่ผ่านรอบคัดเลือกก็ดีใจแล้ว" แต่ก็หวังลึก ๆ ว่าจะคว้าเหรียญใดเหรียญหนึ่งกลับบ้านส่งท้ายนักชกโอลิมปิก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง