รีเซต

'ชีวิตมันยาก ก็แค่ลงไปนอน' ไม่มีเงินซื้อบ้าน-แต่งงานไม่ไหว ภาวะหมดไฟกำลังกัดกินคนรุ่นใหม่เอเชีย

'ชีวิตมันยาก ก็แค่ลงไปนอน' ไม่มีเงินซื้อบ้าน-แต่งงานไม่ไหว ภาวะหมดไฟกำลังกัดกินคนรุ่นใหม่เอเชีย
TNN World
31 สิงหาคม 2564 ( 21:45 )
83

ข่าววันนี้ Editor’s Pick: คนหนุ่มสาวทั่วจีน กำลังเหนื่อยหน่ายกับการแข่งขันอันดุเดือดในมหาวิทยาลัย และการทำงานอย่างไม่หยุดหย่อน เมื่อต้องก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน  ทำให้ ตอนนี้ พวกเขากำลังอ้าแขนรับปรัชญาใหม่ที่เรียกว่า Tang Ping (ถัง ปิง) หรือ แนวคิดแบบ “นอนราบ"


เพียงแค่ "นอนลงไป"


วลีนี้มีต้นกำเนิดมาจากในสังคมออนไลน์ของเว็บ Baidu ยักษ์ใหญ่ด้าน Search Engine ของจีน ผู้เขียนโพสต์นั้นแนะนำว่า แทนที่จะทำงานตลอดชีวิตเพื่อไล่ตามค่านิยมของครอบครัวแบบดั้งเดิม ผู้คนควรดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย


กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือเพียงแค่ "นอนราบ" ลงไปเท่านั้น อย่าไปยืนต้านและแข่งขันอะไระเลย

 

จากเว็บไซต์จำลอง สู่โลกจริง

 

การพูดคุยเกี่ยวกับวิถีชีวิตแบบนอนราบ แพร่กระจายไปทั่วประเทศจีนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปัจจุบัน ที่คนหนุ่มสาวต้องทำงานหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเทคโนโลยีที่มีการแข่งขันกันสูง แม้รัฐบาลจีนพยายามเตือนบริษัทต่าง ๆ ว่า อย่าใช้งานพนักงานเกินเวลานัก 


ขณะเดียวกัน ประชาชนก็เริ่มระมัดระวังในสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นวัฒนธรรมการทำงานแบบทรหดอดทน ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพหลาย ๆ แห่ง ที่ต้องการผู้คนให้ทำงานเป็นสองเท่าหรือมากกว่านั้นในสัปดาห์ทำงานปกติ

 

รัฐบาลจีนไม่ชอบใจสิ่งนี้ 


วิถีชีวิตแบบ "นอนราบ" ดึงดูดความสนใจของหน่วยงานรัฐ ที่เริ่มจำกัดการใช้คำนี้ สื่อของรัฐหลายแห่งได้ต่อต้านแนวคิดนี้เช่นกัน โดยแนะนำว่าคนหนุ่มสาวควรพยายามทำงานหนักต่อไป


ปรากฏการณ์ประเภทนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในจีนเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออก คนหนุ่มสาวกล่าวว่า พวกเขาเหนื่อยล้าจากการทำงานหนัก เพื่อรับรางวัลที่ดูจะ “เล็กน้อย” และไม่คุ้มค่าความพยายาม
ผู้สนับสนุนแนวคิดแบบนอนราบ เริ่มพัฒนาปรัชญาที่ขยายขอบเขตออกไปนอกเว็บไซต์ Baidu เช่นในกลุ่มหนึ่งบนเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์ค Douban มีคนโพสต์แถลงการณ์ที่อธิบายลักษณะของวิถีชีวิตแบบนอนราบ เช่น
“ฉันจะไม่แต่งงาน ซื้อบ้าน หรือมีลูก ฉันจะไม่ซื้อกระเป๋าหรือใส่นาฬิกาหรู ๆ”

 
"ฉันจะขี้เกียจทำงาน ฉันจะกลายเป็นดาบทื่อ ๆ ที่จะฟาดฟันวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม"


ในที่สุด หลังจากดึงดูดผู้เข้าร่วมหลายพันคน กลุ่มดังกล่าวก็ถูกแบน และแฮชแท็กสำหรับคำนี้ถูกเซ็นเซอร์ใน Weibo ซึ่งคล้าย ๆ เว็บไซต์ Twitter เวอร์ชันจีนด้วย

 


หัวกะทิ ก็ไม่ใช่จะประสบความสำเร็จ


‘หลี่’ (นามสมมติ) นักเรียนชาวจีนคนหนึ่ง เป็นกรณีตัวอย่าง 


เขาใช้เวลาทุกวันในการเรียนมัธยมปลายเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ คะแนนของเขาอยู่ในอันดับต้น ๆ ของบรรดานักเรียนมัธยมปลายในมณฑลซานตง 

 


เขากำลังศึกษาระดับปริญญาโทที่โรงเรียนกฎหมายชั้นนำหนึ่งในสามแห่งในประเทศจีน และหวังว่าจะได้งานที่สำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศในกรุงปักกิ่ง

 


แต่เมื่อเขาสมัครงานในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เขาถูกปฏิเสธจากสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศมากกว่า 20 แห่งในจีน เขากลับเข้ามารับตำแหน่งฝึกงานที่สำนักงานกฎหมายในประเทศแทน

 


จากความสิ้นหวังนี้ เขาเลือกใช้แนวคิดแบบ “นอนราบ” เขาเริ่มทำงานแค่เท่าที่ทำได้ ในการฝึกงาน ไม่ใช่ทำแบบ "ถวายหัว" อย่างที่เป็นมา

 


เวลาทำงานแบบ "996"

 

ตามข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการของจีน สถิตินักศึกษาที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยจำนวน 9.09 ล้านคนในปีนี้ กำลังกดดันคนหนุ่มสาวในประเทศแห่งนี้อยู่ 

 


ขณะเดียวกัน แรงงานมากมายก็ยังคร่ำครวญถึงตารางการทำงานที่เข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ที่ใช้วัฒนธรรมที่เรียกว่า "996" หมายถึงการทำงาน 9.00 น. ถึง 21.00 น. หกวันต่อสัปดาห์ 

 


เมื่อวันพฤหัสบดี (26 สิงหาคม) ที่ผ่านมา ศาลสูงของจีนสั่งห้ามวัฒนธรรมการทำงานดังกล่าว โดยระบุว่า บริษัทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงบริษัทจัดส่งสินค้าที่ไม่ระบุชื่อ ซึ่งกำหนดให้พนักงานมีชั่วโมงการทำงานแบบ ‘996’ นั้นละเมิดกฎหมายแรงงาน

 


เทอเรนซ์ จอง รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Chinese University of Hong Kong (CUHK) ระบุว่าคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ทำงานให้กับบริษัทดังกล่าวนั้นมีความแข่งกันเองอยู่ภายใน คือแม้ไม่มีใครอยากทำงานหนักขนาดนั้น แต่ก็เหมือนถูกบังคับอยู่กลาย ๆ จึงต้องทำงานหนักเป็นกิจวัตร 

 


ความรู้สึกร่วมในสังคมเอเชียที่มีการแข่งขันสูง 

 

ในขณะที่วัฒนธรรมถังปิง เป็นกระแสที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศจีน อันที่จริง คนหนุ่มสาวในส่วนอื่น ๆ ของเอเชียตะวันออกก็ยังมีความคับข้องใจที่ใกล้เคียงกันมานานหลายปี

 


ในเกาหลีใต้ คนหนุ่มสาวเลิกแต่งงานและเลิกพยายามซื้อบ้าน ส่วนในญี่ปุ่น พวกเขามองในแง่ลบเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ และมองว่าพวกเขาควรจะละทิ้งทรัพย์สินทางวัตถุ


“คนหนุ่มสาวรู้สึกหมดไฟมาก ๆ” ลิม วุนเต็ก ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัย Keimyung ในเกาหลีใต้ กล่าว "พวกเขาไม่รู้ว่าทำไมพวกเขาต้องทำงานหนักขนาดนี้"

 


เลิกคบหา ไม่แต่งงาน และไม่มีลูก


เมื่ออายุเพียง 22 ปี ชิน เยริม เลิกวางแผนแต่งงาน พยายามซื้อบ้าน หรือแม้แต่การพยายามมีบุตร 
“ฉันคิดว่าปัญหาใหญ่ ๆ คือ ราคาบ้านสูงขึ้นมากเกินไป” ชิน ผู้ซึ่งศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยยอนเซ มหาวิทยาลัยชื่อดังในกรุงโซลกล่าว 


ในปี 2017 จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้คน 3,880 คนในการรับสมัครงาน พบว่า 74% ของผู้ใหญ่ชาวเกาหลีใต้กล่าวว่า จากปัญหาทางเศรษฐกิจ พวกเขาไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ ประกอบไปด้วย การแต่งงาน การออกเดท การทำกิจกรรมยามว่าง หรือการเป็นเจ้าของบ้าน 

 


"ชายเป็นใหญ่" พาคนรุ่นใหม่เอือมระอา

 


เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ตลาดแรงงานของเกาหลีใต้เผชิญกับแรงกดดันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด-19 ระบาดในปีที่แล้ว อัตราการว่างงานของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเป็น 4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 19 ปี 
ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า 9% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 29 ปีตกงาน ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของรัฐบาลเกาหลี


นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลทางสังคมที่หนุนการละทิ้งวิถีดั้งเดิม รวมถึงประเด็นทางสตรีนิยม เช่น การเลือกปฏิบัติทางเพศ และอาชญากรรมทางเพศในโลกดิจิทัล ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญในประเทศเกาหลีใต้ที่เป็นสังคมปิตาธิปไตย

 


Generation แห่งการ “ลาออกจากงาน” 


คนหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่น ก็กำลังผิดหวังกับแรงกดดันในการทำงานและเศรษฐกิจที่ซบเซามานานหลายปีเช่นกัน
บางคนระบุตนเองว่าเป็น satori sedai หรือ "generation แห่งการลาออก" 


คำนี้ปรากฎครั้งแรกในปี 2010 บนเว็บไซต์ 2channel ซึ่งเป็นกระดานสนทนาแบบนิรนามในญี่ปุ่น ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้เรียกคนกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะ คือการมองอนาคตในแง่ร้าย และการขาดความปรารถนาทางวัตถุ
“ผมใช้เงินกับสิ่งที่ผมชอบ และมองว่ามันจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น” เคนตะ อิโตะ หนุ่มวัย 25 ปีที่ระบุว่าเป็นชาวมินิมอล และชาว ‘generation แห่งการลาออก’ กล่าว 


เขามีรายได้พอสมควรจากงานประจำในบริษัทด้านการปรึกษารูปแบบทางธุรกิจ แต่เขาก็ไม่ได้มีความปรารถนาจะซื้อรถ หรือครอบครองบ้านแต่อย่างใด 

 


 คนเกิดน้อย-แก่มาก ก็เป็นปัญหา


การเปลี่ยนแปลงลักษณะทางประชากรก็เป็นปัญหาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเช่นกัน


ปีที่แล้ว เกาหลีใต้มีระบุจำนวนการเสียชีวิตมากกว่าการเกิดเป็นครั้งแรก ในขณะเดียวกัน จำนวนประชากรของจีนเติบโตในอัตราที่ช้าที่สุดในรอบหลายทศวรรษในช่วง 10 ปีก่อนปี 2020 ตามข้อมูลสำมะโนประชากรล่าสุด
ในความพยายามควบคุมวิกฤตด้านประชากร จีนประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า จะอนุญาตให้คู่รักมีลูกสามคน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงใด เห็นได้จากแผนนำร่องคือนโยบายลูกสองคน ในปี 2015 ซึ่งพบกับความล้มเหลวในการเพิ่มจำนวนประชากร


ด้วยจำนวนประชากร 13.5% ของจีนที่อายุ 65 ปีขึ้นไป จีนมีผู้สูงอายุมากพอ ๆ กับญี่ปุ่นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ทำให้เกิดความกังวลว่า จีนจะมีแรงงานอายุน้อยไม่เพียงพอต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

 สุดท้ายก็ต้อง "ทำ" อยู่ดี

 


ในท้ายที่สุด แนวคิดแบบ “นอนราบ” จะส่งผลต่อ การเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชากรสูงอายุมากน้อยเพียงใด อาจยังไม่ชัดเจนนัก 


แนวโน้มอาจสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของคนหนุ่มสาวบางคนในตอนนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญเช่น ดร. ชอง แห่งมหาวิทยาลัย CUHK ยังมองว่า ในหลาย ๆ แง่มุมของแนวคิด เช่น การลดความเข้มข้นในการทำงานลง หรือการละเลยเรื่องวัตถุ อาจจะไม่ได้แพร่หลายไปยังคนหมู่มาก 


“วิธีคิดแบบ ‘นอนราบ’ อาจเป็นแค่ความคิดของคนหนุ่มสาวบางคน” ดร. จองกล่าว 


“สุดท้ายแล้ว ในหัวใจของผู้คน ผู้คนก็ยังอยากทำงานหนักเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้นอยู่ดี”



เรื่อง: นราธร เนตรากูล

ภาพ: Ryan Snaadt

ข้อมูลอ้างอิง:
https://edition.cnn.com/.../china-japan-korea.../index.html

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง