รีเซต

"GDP จีน" Q1 โต 5.4% ทะลุเป้า ยอดค้าปลีกพุ่ง 5.9% เร่งส่งออกกระฉูด 12.4% เลี่ยง "ภาษีสหรัฐฯ"

"GDP จีน" Q1 โต 5.4% ทะลุเป้า ยอดค้าปลีกพุ่ง 5.9% เร่งส่งออกกระฉูด 12.4% เลี่ยง "ภาษีสหรัฐฯ"
TNN ช่อง16
16 เมษายน 2568 ( 12:34 )
7

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 5.4% ในไตรมาส 1/2568 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากอัตราการขยายตัวในไตรมาส 4/2567 และแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวราว 5.1-5.2%

เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1 ได้รับปัจจัยหนุนจากการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง จีน ที่ถูกเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าสูงสุดในอัตรา 145%

รัฐบาลจีนได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตของตัวเลข GDP ในปี 2568 เอาไว้ที่ระดับประมาณ 5% และประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายรายการ โดยเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเปิดเผยมาตรการกระตุ้นด้านการคลังเพิ่มเติม และให้คำมั่นว่าจะเพิ่มความพยายามในการสนับสนุนการบริโภคและลดผลกระทบของสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ที่จะมีต่อเศรษฐกิจจีน

หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ในวันดังกล่าว โดยเขาให้คำมั่นว่านโยบายเศรษฐกิจของจีนนั้น จะเปลี่ยนไปมุ่งเน้นที่การสร้างประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและกระตุ้นการบริโภค พร้อมกับเปิดเผยว่า จีนวางแผนที่จะออกพันธบัตรพิเศษระยะยาวมูลค่า 1.3 ล้านล้านหยวน (1.79 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากระดับ 1 ล้านล้านหยวนในปี 2567 และรัฐบาลท้องถิ่นจะได้รับอนุญาตให้ออกพันธบัตรพิเศษมูลค่า 4.4 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากระดับ 3.9 ล้านล้านหยวน

นอกจากนี้ นายหลี่กล่าวว่า ธนาคารกลางจีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย และปรับลดอัตราส่วนการกันสำรอง (RRR) สำหรับธนาคารพาณิชย์ “ในเวลาที่เหมาะสม” โดยถ้อยแถลงดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณว่านโยบายการเงินของจีนจะยังอยู่ในลักษณะผ่อนคลาย โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ

ในขณะที่ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค.พุ่งขึ้น 5.9% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2566 และแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นราว 4.2% - 4.3% โดยยอดค้าปลีกไตรมาส 1/2568 ปรับตัวขึ้น 4.6%

ส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค.ปรับตัวขึ้น 7.7% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2564 และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 5.8% ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 1/2568 ขยายตัว 6.5%

ขณะเดียวกัน การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรปรับตัวขึ้น 4.2% ในไตรมาส 1 ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.1%

ในขณะเดียวกันยอดส่งออกเดือนมี.ค.พุ่งขึ้น 12.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2567 เนื่องจากภาคธุรกิจของจีนพากันเร่งส่งออกสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีศุลกากร

ขณะที่ยอดนำเข้าในเดือนมี.ค.ปรับตัวลง 4.3% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ ส่วนยอดเกินดุลการค้าของจีนในเดือนมี.ค. อยู่ที่ 1.0264 แสนล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนธ.ค. 2567 ซึ่งอยู่ที่ 1.048 แสนล้านดอลลาร์

โดยรายงานของ NBS ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (14 เม.ย.) ยังระบุด้วยว่า จีนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9.1% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี และนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ลดลง 9.5% โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของการค้าโดยรวมของจีน

ขณะที่ยอดส่งออกจากจีนไปยังกลุ่มอาเซียนพุ่งขึ้น 11.6% ในเดือนมี.ค. นำโดยการส่งออกไปยังเวียดนามที่พุ่งขึ้นแข็งแกร่งเกือบ 19% ขณะที่ยอดการนำเข้าจากกลุ่มอาเซียน เพิ่มขึ้น 9.8%

นอกจากนี้ จีนส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (EU) เพิ่มขึ้น 10.3% ในเดือนมี.ค. ขณะที่นำเข้าจาก EU ลดลง 7.5%

รายงานของ NBS ยังระบุด้วยว่า จีนนำเข้าแร่เหล็กลดลง 6.7% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี แตะที่ระดับ 94 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2566 ขณะเดียวกันจีนนำเข้าถั่วเหลืองลดลง 36.8% สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2551

สำหรับยอดนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์และน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 11.2% และ 4.5% ตามลำดับ ส่วนยอดส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และแร่หายากพุ่งขึ้น 25% และ 20% ตามลำดับ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง