เปิดแผน Thailand Aviation Hub นายกฯ ดันไทยเป็น 1 ด้านการบิน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND, AVIATION HUB” ชูศักยภาพประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค เชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ และเชื่อมต่อการเดินทางแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศมากกว่า 150 ล้านคน/ปี พร้อมตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าทางอากาศแห่งภูมิภาคใหญ่ที่สุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2548 สนามบินสุวรรณภูมิ เคยได้ชื่อว่า เป็นสนามบินที่ดีที่สุดอันดับ 13 ของโลก แต่ผ่านมา 19 ปี สนามบินสุวรรณภูมิ ตกลงมาอยู่ในอันดับ 68 ของโลก ดังนั้นรัฐบาลจึงมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานของไทยให้กลับมาติดอันดับ 1 ใน 20 ภายใน 5 ปี เนื่องจากไทยตั้งอยู่ในจุดภูมิศาสตร์กึ่งกลางของเอเชียแปซิฟิก มีพรมแดนติดกับ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์จากการเปิดเสรีการบินอาเซียน
สำหรับการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มีพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ รัฐบาลมีแผนจะขยายขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคน/ปี ภายในปี 2573 ซึ่งขณะนี้ AOT ได้เปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรือ SAT-1 ซึ่งรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคน/ปี เป็น 60 ล้านคน/ปี ไปแล้ว และเตรียมจะเปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 ในปี 2567 นี้ เพื่อรองรับเที่ยวบินจาก 60 เที่ยว/ชั่วโมง เป็น 90 เที่ยว/ชั่วโมง รวมทั้งมีแผนจะก่อสร้างขยายอาคารผู้โดยสารทางทิศตะวันออก - ทิศตะวันตก และก่อสร้างอาคารผู้โดยสารทางทิศใต้ อีกทั้งมีแผนการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 รองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบิน/ชั่วโมง
ในส่วนของท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นสนามบินหลักสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศในภูมิภาค รัฐบาลมีแผนเปลี่ยนให้เป็นสนามบินแบบ POINT-TO-POINT เพื่อขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจากเดิม 30 ล้านคน เป็น 50 ล้านคน/ปี ภายในปี 2573 ผ่านการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม และสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศใหม่ อีกทั้งยังมีแผนก่อสร้างอาคาร Junction Building เป็นที่พื้นเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ พัฒนาให้เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยว พร้อมยกระดับการให้บริการทุกภาคส่วน เพิ่มพื้นที่จอดรถได้มากถึง 7,600 คัน และจะเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางรถไฟฟ้าสายสีแดงให้เดินทางเข้าออกเมืองได้สะดวกรวดเร็ว รวมถึงจะพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ร่วมกับภาคเอกชน
สำหรับท่าอากาศยานภูเก็ต รัฐบาลมีแผนสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 หรือ ท่าอากาศยานอันดามัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนภูเก็ต พังงา กระบี่ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง และจะพัฒนาสะพานสารสิน เพื่อรองรับจำนวนรถให้ได้มากขึ้น และให้เรือขนาดใหญ่สามารถแล่นผ่านได้ นอกจากนี้ รัฐบาลจะพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศและก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบิน ของท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อเพิ่มผู้โดยสารจากเดิม 12.5 ล้านคน/ปี เป็น 18 ล้านคน/ปี ภายในปี 2573 และกำลังศึกษาโครงการพัฒนา Seaplane & Ferry Terminal พัฒนาพื้นที่อากาศยานขึ้น-ลงในทะเล เพื่อรองรับผู้โดยสารชั้นสูง เชื่อมต่อไปยังเกาะสมุย เกาะช้าง และหัวหิน ส่วนท่าอากาศยานอันดามันที่มีแผนจะสร้างขึ้น จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคน ตั้งเป็นฮับการบินภาคใต้เชื่อมเส้นทางระยะไกล (Long-haul Flight) ทั้งเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศแบบ Point to Point
ถัดมาเป็นท่าอากาศยานเชียงใหม่ รัฐบาลมีแผนจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศและปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวจากเดิมได้เพียง 8 ล้านคน/ปี เป็น 16.5 ล้านคน/ปีภายในปี 2572 รวมทั้งยังมีแผนจะก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 หรือ ท่าอากาศยานล้านนา ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านคน/ปี
แผนการยกระดับสนามบินทั่วประเทศ รัฐบาล เตรียมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารสมัยใหม่เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้การบริการ สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะพัฒนาครัวไทยสู่การเป็นครัวของโลก ผ่านการผลิตอาหารให้กับสายการบินต่าง ๆ ส่งเสริมการใช้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพของไทย นำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร ไปจนถึงต่อยอดเมนูอาหารไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติสู่อาหารบนเครื่องบินที่ดีที่สุดในโลก
ไม่เพียงเท่านี้ รัฐบาลยังมีแผนขยายอุตสาหกรรมการบำรุงรักษาให้กลายเป็นศูนย์กลางการบำรุงรักษาทั้งเครื่องบินพาณิชย์และเครื่องบินส่วนตัว มีระบบคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) เพื่อกระจายสู่ประชากรกว่า 280 ล้านคนทั้งไทย มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม พร้อมต่อยอดความร่วมมือกับสายการบินต่าง ๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรม และจะร่วมกันพัฒนาสายการบินไทย ปรับปรุงเส้นทางตารางการบินให้เหมาะสม จำนวนและประเภทเครื่องบิน บัตรโดยสารและการบริการ ตลอดจนส่งเสริมบุคลากรให้เพียงพอพร้อมให้บริการ ไปพร้อม ๆ กับสร้างความยั่งยืนผ่านการดึงดูดสายการบินด้วยเชื้อเพลิง SAF และส่งเสริมการผลิตในประเทศ สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ไม่เพียงตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลยังหวังว่า จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างอนาคตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น และจะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน...
เรียบเรียงโดย ปุลญดา บัวคณิศร