รีเซต

ทั่วโลกจนหลายมิติ 1.1 พันล้านคน สงครามทำจนรุนแรงขึ้น แต่ไทยลดจนได้มากสุดในอาเซียน

ทั่วโลกจนหลายมิติ 1.1 พันล้านคน สงครามทำจนรุนแรงขึ้น แต่ไทยลดจนได้มากสุดในอาเซียน
TNN ช่อง16
8 พฤศจิกายน 2567 ( 13:45 )
15

---คนทั่วโลก จนนับพันล้าน---


จากรายงานดัชนีความยากจนหลายมิติทั่วโลก ประจำปี 2567 (Multidimensional Poverty Index: MPI) เผยว่า ประชาชน 1.1 พันล้านคนทั่วโลก ตกอยู่ในภาวะยากจนรุนแรง และ 40% ในจำนวนนี้ หรือประมาณ 455 ล้านคน อาศัยอยู่ในประเทศที่มีสงคราม หรือขาดสันติภาพ ซึ่งขัดขวางความพยายามในการลดความยากจน 


รายงานฉบับนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP กับ โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแก้ไขความยากจนแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด หรือ OPHI แสดงข้อมูลวิจัยทางสถิติดั้งเดิมว่าด้วยความยากจนหลายมิติใน 112 ประเทศและในบรรดาผู้คน 6.3 พันล้านคน


การวัดดัชนี MPI จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 10 มิติ เพื่อพิจารณาว่า ประชาชนมีประสบการณ์ความยากจนอย่างไร ได้แก่ การเข้าถึงการศึกษา สุขภาพ ที่อยู่อาศัย น้ำดื่ม สุขอนามัย และไฟฟ้า ทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างตรงจุด และออกแบบนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


รายงาน MPI ยังเน้นย้ำถึงความแตกต่างที่ยังคงมีอยู่ภายในประเทศ และนอกประเทศ โดยพบว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชนบททั่วโลกจะมีฐานะยากจน มีสัดส่วนมากกว่า 28% เมื่อเทียบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 6.6% 


---สันติภาพ-บรรลุเป้า SDG แก้ปัญหาความยากจน---


การจะแก้ปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้น รายงานฉบับนี้ เผยว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นไม่เพียงพอ แต่โลกต้องมีสันติภาพด้วย บวกกับที่แต่ละประเทศจำเป็นต้องบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG โดยเฉพาะข้อแรกสุด จากบรรดาทั้งหมด 17 เป้าหมาย นั่นคือ ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่


รายงานนี้ เรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนทั่วโลก เพื่อยุติสงครามและความขัดแย้ง ซึ่งทำลายชีวิต โครงสร้างพื้นฐานและทำให้โลกถดถอย ซึ่งทำให้ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการพัฒนาอย่างไม่จำเป็น รวมถึงการดำเนินการทุกขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อปกป้องสันติภาพในพื้นที่ที่เปราะบางที่สุด 


"ช่วงหลายปีให้หลัง ความขัดแย้งทวีความรุนแรงและเพิ่มสูงขึ้น กระทั่งทุบสถิติตัวเลขผู้เสียชีวิต ทำให้ผู้คนหลายล้านคนต้องพลัดถิ่น ก่อให้เกิดความลำบากขัดสนในชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนเป็นวงกว้าง" อาคิม สไตเนอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ประจำ UNDP กล่าว 


"เราต้องเร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้ เราจำเป็นต้องมีแหล่งข้อมูลและการเข้าถึงเพื่อการพัฒนาอย่างเฉพาะเจาะจง และดำเนินการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยทำลายวงจรของความยากจนและวิกฤต"


ศาสตราจารย์ ซาบินา อัลไคร์ ผู้อำนวยการจาก OPHI กล่าวว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากความขัดแย้งยากเกินที่จะแก้ไข เธอคิดว่า การตอบสนองของรายงานนี้ คือ การบอกว่า จินตนาการและความมุ่งมั่นของมนุษย์นั้นมาจากที่ใด ไม่ว่าจะมาจากผู้นำ, องค์กรท้องถิ่น, คนรุ่นมือ หรือแม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญในสายอาชีพ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ 


“สำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง เราต้องดูสิ่งเหล่านี้ร่วมกัน รับรู้ว่า ความยากจนสามารถทำลายเสถียรภาพบางส่วน และทำให้ความตึงเครียดรุนแรงขึ้นได้อย่างไร และยิ่งทำให้เงื่อนไขของความขัดแย้งรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ความขัดแย้งยังทำให้การลงทุนย้อนกลับไปในหลายสิบปีในการลดความยากจน และทำให้สภาพของคนจนเลวร้ายลง” 


“เพื่อที่จะมีสันติภาพ คุณต้องลงทุนกับความยากจน ในทำนองเดียวกัน คุณต้องมีสันติภาพ เพื่อลดความยากจนอย่างยั่งยืน ฉันคิดว่า เมื่อเราเข้าใจความเชื่อมโยงเหล่านี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายของรายงานนี้ เราก็จะรู้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะจัดการทั้งสองอย่างร่วมกัน” ศาสตราจารย์ อัลไคร์ กล่าว 


---ไทยลดยากจนได้สูงสุดในอาเซียน--- 


ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ก้าวหน้าอย่างน่าจับตาในเรื่องการจัดการปัญหาความยากจนหลายมิติ ประเทศไทยลดจำนวนประชากรที่เผชิญกับความยากจนหลายมิติได้ครึ่งหนึ่งในเวลาเพียง 7 ปี 


ตัวเลขประชาชนที่มีชีวิตอยู่ในภาวะยากจนหลายมิติ ลดลงจาก 909,000 คนในปี 2555 เหลือเพียง 416,000 คนในปี 2562 และในปี 2565 ก็ลดลงอีกเหลือเพียง 352,000 คน


ความสำเร็จนี้ เกิดขึ้นได้เพราะประชากรได้รับการศึกษาสูงขึ้น กินอาหารที่มีคุณค่าทางสารอาหารมากขึ้น และเข้าถึงที่อยู่อาศัย ก๊าซหุงต้ม และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้มากขึ้น


ตัวเลข MPI ของประเทศไทยอยู่ที่ 0.002 ซึ่งต่ำสุดในบรรดาประเทศอาเซียนที่รวมอยู่ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ เวียดนาม (0.008) อินโดนีเซีย (0.014) ฟิลิปปินส์ (0.016) กัมพูชา (0.070) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (0.108) และเมียนมาร์ (MPI 0.176 ตามข้อมูลการสำรวจล่าสุดที่มี คือจากปี 2558) 


การที่ประเทศไทยมีตัวเลขต่ำกว่า หมายความว่า ไทยแก้ปัญหาความยากจนหลายมิติได้มีประสิทธิภาพมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนที่ได้รับการสำรวจ


อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะก้าวหน้าอย่างมาก ในแง่การบรรเทาความยากจน แต่ความยากจนหลายมิติในไทยนั้นมีสูงกว่าความยากจนในด้านการเงิน (monetary poverty) 0.5 จุด ซึ่งหมายความว่า ผู้คนที่อยู่เหนือเส้นความยากจนทางการเงินยังคงประสบความขาดแคลนในด้านสุขภาพ การศึกษา และมาตรฐานการใช้ชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น ความยากจนหลายมิติยังคงแพร่หลายในพื้นที่ชนบทระดับภูมิภาค


“ประเทศไทยก้าวหน้าไปมาก เมื่อเรามองภาพความยากจนหลายมิติ รวมไปถึงตัวเลขทั่วโลก และสิ่งที่เราเห็น คือ ตัวเลขความยากจนหลายมิติของไทยลดลงครึ่งหนึ่งในรอบเจ็ดปี ซึ่งเป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งจริง ๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า งานนี้เสร็จสิ้นแล้ว แต่แค่หมายถึงความก้าวหน้านั้นเป็นไปได้ และฉันคิดว่า งานในตอนนี้เหมือนกับประเทศที่มีรายได้ปานกลางหลายประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทย คือการก้าวให้ไกลกว่าค่าเฉลี่ยจริง เพื่อไปให้ไกลกว่าการมองแค่นโยบายการเงิน และ GDP เพื่อสะท้อนว่ามีคนยากจนหรือไม่” นีฟ คอลิเออร์-สมิธ ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทย กล่าว 


ข้อค้นพบจากรายงานระดับโลกฉบับนี้ สอดคล้องกับการประเมินระดับประเทศของประเทศไทย กล่าวคือ รายงานความยากจนหลายมิติของประเทศไทย ประจำปี 2564 จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเน้นย้ำว่าในพื้นที่ชนบทมีอุบัติการณ์และความเข้มข้นของความยากจนหลายมิติสูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งกำลังเผชิญความขัดแย้ง


ดังนั้น การยุติความยากจนทุกรูปแบบจึงจำเป็นต้องอาศัยแนวทางทั้งแบบบนลงล่างและล่างขึ้นบน เพื่อแก้ไขปัญหาความแตกต่างในด้านความเข้มข้นและองค์ประกอบของความยากจน ตลอดจนเพื่อป้องกันความขัดแย้งอีกด้วย  ดำเนินกระบวนการสร้างสันติภาพ และใช้วิธีการที่เน้นผู้คนเป็นจุดศูนย์กลาง ให้เป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป นี่คือกุญแจสำคัญที่จะเร่งรัดการขจัดความยากจน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในที่สุด ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค จนถึงระดับท้องถิ่น


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ข้อมูลอ้างอิง: 

https://hdr.undp.org/content/2024-global-multidimensional-poverty-index-mpi#/indicies/MPI

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง