สธ.ยันยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ขาด-มีพอ 10 วัน รับบางแห่งใช้ยาเพิ่ม คีย์ข้อมูลช้า-เติมไม่ทัน
สธ.ยันยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ขาด-มีพอ 10 วัน รับบางแห่งใช้ยาเพิ่ม คีย์ข้อมูลช้า-เติมไม่ทัน แต่โยกยาในจังหวัดช่วยกันได้ ย้ำทุกคนไม่จำเป็นต้องรับยา หากไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย
เมื่อวันที่ 29 มี.ค.65 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงประเด็นการบริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 หลังจากกรณีชมรมแพทย์ชนบทออกมาระบุมีการขาดแคลนในต่างจังหวัด ทำไม สธ.ไม่พูดความจริงว่า
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2-4 หมื่นราย ซึ่งรวมการตรวจ ATK ด้วย ประเทศไทยมีการใช้ยารักษาผู้ป่วยโควิด 19 หลายตัว ทั้งยาฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ เรมดิซิเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ ล่าสุด ยังทำสัญญาจัดหายาแพกซ์โลวิดเข้ามาใช้เพิ่มเติม สำหรับกรณียาฟาวิพิราเวียร์ข้อมูลวันที่ 28 มี.ค.65 เรามียาคงคลังใ รพ.ต่างๆ ที่ให้ผู้ติดเชื้อได้ทั่วประเทศ 22.8 ล้านเม็ด
แต่ยอมรับว่าปัจจุบันการใช้ยาค่อนข้างสูง เฉลี่ยวันละประมาณ 2 ล้านเม็ด สามารถใช้ได้ประมาณ 10 วัน แต่เราพิ่มเติมยาให้ตลอดเวลา โดยจะมีระบบการรายงานข้อมูลการใช้ยาทางออนไลน์ คือ VMI โดยเมื่อ รพ.ใช้ยาจะคีย์ข้อมูลลงในระบบว่าใช้ไปเท่าไร ทำให้ส่วนกลางทราบว่า รพ.ไหน จังหวัดไหน มียาเหลือเท่าไร ก็จะเติมยาลงไปให้ โดยมอบหมายองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดหายามาเติมให้แต่ละจังหวัด เพื่อให้มียาสำรองอยู่ในช่วงประมาณ 10 วันเสมอ
"ยอมรับว่าใน 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา บางพื้นที่มีผู้ป่วยสูงขึ้นและมีการใช้ยา โดยไม่ได้คีย์ข้อมูลการใช้ยาที่เป็นปัจจุบัน แต่มาคีย์เพียงครั้งเดียว ก็ทำให้ยาหายไปในครั้งดียว ทำให้ส่วนกลางไม่ทราบว่ายาบางพื้นที่มีการใช้ไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถเติมยาได้ทัน แต่ยืนยันว่าไม่มีการขาดยา เพราะมีการหมุนเวียนใช้ภายในจังหวัดได้ แต่ละ รพ.สามารถส่งสต๊อกไปช่วยเหลือกันได้" นพ.ธงชัยกล่าว
นพ.ธงชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามีการกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ในช่วงวันที่ 1-28 มี.ค. จำนวน 72 ล้านเม็ด โดยกระจายทุกสัปดาห์ และมีการสำรองยากระจายในสต๊อกอีก 25 ล้านเม็ด โดยอยู่ใน รพ.ต่างๆ 22.8 ล้านเม็ด และสต๊อกที่ส่วนกลางอีก 2.2 ล้านเม็ด ถ้ามองภาพรวมปัจจุบันมียาในประเทศไทยเลย 25 ล้านเม็ด มีแผนที่ อภ.จะนำเข้ามาตลอดเวลาทุกสัปดาห์ อภ.จะพยายามนำเข้ามา 15-20 ล้านเม็ดต่อสัปดาห์ก็จะเพียงพอ ตอนนี้เราใช้ประมาณ 2 ล้านเม็ดต่อวัน คือ 14-15 ล้านเม็ดต่อสัปดาห์ บางสัปดาห์เราเข้ามาได้ 15-20 ล้านเม็ดก็ถือว่าเพียงพอ
ทั้งนี้ ผู้ป่วยทุกรายไม่จำเป็นต้องได้รับยา โดยเฉพาะที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย โดยการให้ยาจะเป็นไปตามแนวเวชปฏิบัติในการรักษาโควิด 19 ที่ออกโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งข้อมูลการรักษาขณะนี้พบว่า เราใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ 26% แต่บางเขตอาจมีปริมาณการใช้เยอะมาก ยาฟ้าทะลายโจร 24% และเป็นยารักษาตามอาการ 52% เช่น แก้ไข้ แก้ไอ
"หากไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส ย้ำว่ายาทุกตัวเป็นสารเคมี แพทย์จะวินิจฉัยว่าใครสมควรหรือมีความเสี่ยงมากที่จะต้องรับยา เนื่องจากยาสามารถก่อปัญหาเรื่องตับและไตได้ นอกจากนี้ ผู้ที่รับวัคซีนแล้ว โดยเฉพาะรับครบ 3 เข็ม เท่ากับร่างกายเรามีโรงงานผลิตยา เมื่อได้รับเชื้อก็จะสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อสู้ โดยคนที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย หมายความว่าร่างกายต่อสู้กับเชื้อได้ โดยภายใน 5-7 วันเชื้อจะถูกทำลาย เหมือนกับยาฟาวิพิราเวียร์ที่รับประทาน 5 วัน ส่วนบางคนภูมิคุ้มกันอาจจะไม่ดีพอ การผลิตมาต่อสู้กับเชื้อโรคอาจผลิตได้ไม่เต็มที่ ก็ต้องเติมยาใส่เข้าไปช่วย ดังนั้น จึงต้องสำรองยาให้คนที่ควรจะได้รับยา" นพ.ธงชัยกล่าว
นพ.ธงชัยกล่าวว่า สมัยตอนการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา เรานำผู้ป่วยเข้า รพ.ทั้งหมด ทำให้คนที่ควรนอน รพ.ไม่ได้นอน ทุกวันนี้เราแก้ปัญหาด้วย เจอ แจก จบ รักษาแบบผู้ป่วยนอก และ HI ทำให้มีการใช้เตียงใน รพ.อยู่ 26% ดังนั้น ใครป่วยหนักไป รพ.ได้ทันที 100% สามารถรองรับได้ เรื่องตัวยาก็เช่นกัน เรามีผู้ติดเชื้อมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว แต่อาการและตัวเชื้อรุนแรงน้อยลงมาก โดยพบประมาณ 0.5% เท่านั้นที่รักษาแบบเจอ แจก จบ หรือ HI มีอาการรุนแรงสูงขึ้นแล้วไป รพ. จึงต้องฝากทุกคนว่า ผู้ติดเชื้อทุกรายต้องสังเกตอาการตนเอง และไม่จำเป็นต้องรับยาทุกรายหากต่อสู้กับเชื้อได้ แต่หากมีอาการมากขึ้นก็ให้แพทย์ประเมินว่าต้องรับยาต้านไวรัสหรือไม่
"เชิญชวนทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ทำความเข้าใจว่า ทุกรายไม่จำเป็นต้องรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ เราใช้รักษาโดยดูตามอาการ อย่าไปเสี่ยงกับการที่ยาอาจเกิดผลกระทบต่อตับหรือไตได้ ขอให้ทุกคนช่วยกันรณรงค์ร่วมมือกันใช้ยาสมเหตุสมผล เพื่อลดและป้องกันการดื้อยา ป้องกันผลกระทบจากยาที่มีทั้งตับและไตวาย และช่วยลดค่าใช้จ่ายของตัวเองและประเทศ นอกจากนี้ ควรไปรับวัควีนเข็มกระตุ้นเมื่อีรับวัคซีน 2 เข็มครบตามกำหนดแล้ว เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น" นพ.ธงชัยกล่าว
เมื่อถามถึงกรณีบางแห่งออกมาบอกว่าขาดยา นพ.ธงชัยกล่าวว่า ภาพรวมจังหวัดไม่ขาด เรากระจายในระดับย่อย บาง รพ.สต.มียาได้ด้วย เพื่อให้เข้าถึงยาโดยเฉพาะการทำเจอ แจก จบ จึงไปอยู่สต๊อกย่อยๆ ภาพรวมจังหวัดไม่ขาด แต่บางแห่งอาจไม่คล่องตัวในการจัดการยา แต่บริหารจัดการได้ในจังหวัด จึงมอบให้ผู้ตรวจราชการ สธ.และ นพ.สสจ.ที่บริหารจัดการโยกยาจากบาง รพ.ไปใช้ก่อนได้