รีเซต

รัสเซีย-อินเดีย : ภูมิรัฐศาสตร์โลกจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่หลังปูตินพบโมดี

รัสเซีย-อินเดีย : ภูมิรัฐศาสตร์โลกจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่หลังปูตินพบโมดี
ข่าวสด
7 ธันวาคม 2564 ( 11:24 )
68
รัสเซีย-อินเดีย : ภูมิรัฐศาสตร์โลกจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่หลังปูตินพบโมดี

เป็นเวลาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยสงครามเย็นแล้วที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและอินเดียแน่นแฟ้นกันมาโดยตลอด

 

แต่หากเรามองข้ามเรื่องการซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่ามหาศาล ข้อตกลงการค้า การจับมือและสวมกอดกันของผู้นำสองประเทศ ยังมีอุปสรรคอีกหลายประการที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ต้องฟันฝ่าหลังทั้งสองพบกันที่อินเดียเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.

 

ปัญหาส่วนใหญ่มาจากการที่ทั้งสองประเทศเลือกเดินไปคนละทิศละทางในเกมการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในช่วงไม่กี่เดือนและไม่กี่ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ทั้งสองเจรจาตกลงกันได้จะส่งผลต่อเกมการเมืองทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

 

G

สหรัฐฯ และจีน

ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเรื่องที่ทำให้รัสเซียรู้สึกขุ่นเคืองใจ ยกตัวอย่างเช่นตอนที่นายกรัฐมนตรีโมดีจัดขบวนยิ่งใหญ่ต้อนรับการมาเยือนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

 

แม้ส่วนใหญ่แล้วรัสเซียจะมองข้ามเรื่องเหล่านี้ไป แต่ย้อนไปตอนที่อินเดียตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มควอด (Quadrilateral Security Dialogue) กับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

 

แม้ควอดจะบอกว่าพวกเขาเป็นกลุ่มพันธมิตรที่ไม่ได้มีนัยทางการทหารและก็ไม่ได้ตั้งเป้าโจมตีประเทศใดเป็นพิเศษ นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย กล่าวอย่างเปิดเผยในตอนนั้นว่า นั่นเป็นความพยายามของประเทศตะวันตกในการดึงอินเดียเข้ามาร่วมต่อต้านจีนด้วย

 

แน่นอนว่านี่ต้องเป็นประเด็นหนึ่งที่ผู้นำรัสเซียและอินเดียจะต้องพูดคุยหารือกัน

รัสเซียสนิทกับจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่นานมานี้ จึงเข้าใจได้ว่าทำไมรัสเซียต้องกังวลเรื่องกลุ่มควอด

 

อนิล ตรีกันนายัต อดีตนักการทูตอินเดีย ระบุว่า รัสเซียรู้สึกว่าตัวเองจำเป็นต้องสานสัมพันธ์กับจีนเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ขณะที่สหรัฐฯ พยายามเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้

 

ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่แย่ลงก็ยิ่งผลักให้จีนและรัสเซียยิ่งใกล้ชิดกัน

 

สิ่งที่ยิ่งทำให้เรื่องนี้ซับซ้อนเข้าไปใหญ่คือเหตุการณ์เมื่อปี 2020 ที่ทหารอินเดียเสียชีวิตไป 20 นายหลังปะทะกับกองกำลังจีนในภูมิภาคลาดักห์ ดินแดนแคชเมียร์ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทของ 2 ชาติบนเทือกเขาหิมาลัย

 

ไมเคิล คูเกิลแมน รองผู้อำนวยการศูนย์วิลสัน ศูนย์วิจัยในวอชิงตัน มองว่าประธานาธิบดีปูติน น่าจะใช้โอกาสนี้พยายามกระชับสัมพันธ์กับอินเดียขณะที่เกมการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนแปลงไป

 

อย่างไรก็ดี คูเกิลแมนและตรีกันนายัต มองตรงกันว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยังแน่นแฟ้นพอ

 

ตอนนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ทั้งสองประเทศสามารถนำมาพูดคุยและร่วมมือกันได้ หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน

 

ดูเหมือนตอนนี้ปากีสถานจะอยู่ในสถานะที่ดีกว่าอินเดียเมื่อพูดถึงอัฟกานิสถานเพราะเหมือนพวกเขาได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรอย่างไม่เป็นทางการกับรัสเซีย อิหร่าน และจีนไปแล้ว

 

ในการพบปะครั้งนี้ อินเดียจะต้องพยายามหาทางทำให้พวกเขายังมีที่ทางและความสำคัญในเรื่องนี้อยู่ รัสเซียจะสามารถช่วยอินเดียได้ในเรื่องนี้เพราะทั้งสองต่างก็มีความกังวลต่ออนาคตของอัฟกานิสถาน

 

เดเร็ก กรอสส์แมน นักวิเคราะห์อาวุโสจากศูนย์วิจัยแรนด์คอร์ปอเรชัน (​​RAND Corporation) บอกว่าทั้งรัสเซียและอินเดียต่างก็กังวลเรื่องกลุ่มตาลีบันและเครือข่ายฮัคคานี กลัวว่าอัฟกานิสถานที่จะเป็นแหล่งบ่มเพาะผู้ก่อการร้ายซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศพวกเขา

 

การค้าและอาวุธ

A

ไฮไลต์ของการไปเยือนในครั้งนี้น่าจะเป็นการส่งมอบระบบป้องกันขีปนาวุธ S-400 ของรัสเซียให้อินเดีย เป็นระบบป้องกันขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศที่ล้ำสมัยที่สุดระบบหนึ่ง โดยระบบทำงานครอบคลุมรัศมีถึง 400 กิโลเมตร และสามารถยิงทำลายเป้าได้พร้อมกันได้ถึง 80 เป้า

 

นี่เป็นระบบสำคัญในการป้องปรามจีนและปากีสถาน และเป็นเหตุผลว่าทำไมอินเดียถึงตัดสินใจติดตั้งระบบนี้แม้ว่าสหรัฐฯ ขู่จะคว่ำบาตร

 

ขณะที่การตัดสินใจครั้งนี้อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ ตึงเครียดขึ้น รัสเซียดูจะพอใจในจุดยืนของประเทศพันธมิตรอย่างอินเดีย

 

น่าสนใจว่าอินเดียหาจุดสมดุลในความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ อย่างไรหลังจากติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ S-400 ของรัสเซีย นักการทูตอินเดียหลายคนมองว่าการลงทุนซื้อระบบนี้เป็นการช่วยให้อินเดียรักษา "ความเป็นอิสระด้านยุทธศาสตร์" และก็มองว่าสหรัฐฯ ควรจะเคารพพวกเขาในเรื่องนี้

อินเดียเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และรัสเซียก็เป็นผู้ขายรายใหญ่ที่สุดของพวกเขา

ด้านสหรัฐฯ เป็นผู้ขายอาวุธรายใหญ่เป็นอันดับสองระหว่างปี 2011 ถึง 2015 ตามหลังรัสเซีย ก่อนที่จะโดนฝรั่งเศสและอิสราเอลแซงระหว่างปี 2016 ถึง 2021

สหรัฐฯ อยากจะขายอาวุธให้อินเดียให้ได้มากขึ้น และผู้เชี่ยวชาญมองว่านี่ทำให้อินเดียมีเครื่องมือในการต่อรอง

อย่างไรก็ดี ยอดการค้าระหว่างประเทศระหว่างรัสเซียและอินเดียยังไม่สูงเท่าที่ควร ตัวเลขการค้าระหว่างสองประเทศในปี 2019 อยู่ที่แค่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ยอดการซื้อขายสินค้าและบริการในช่วงเดียวกันระหว่างสหรัฐฯ และอินเดีย สูงถึง 1.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตอนนี้ อินเดียและรัสเซียตั้งเป้าว่าภายในปี 2025 จะเพิ่มยอดการค้าระหว่างสองประเทศให้ต้องถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะพยายามก้าวข้ามการค้าเรื่องเรื่องพลังงานและแร่ธาตุ โดยจะพูดคุยเรื่องการศึกษา ความมั่นคงทางไซเบอร์ เกษตรกรรม การรถไฟ ยา และพลังงานสะอาดด้วย

"ตราบใดที่ยังมีข้อตกลงทางการค้าและด้านอาวุธอยู่ ทั้งสองประเทศจะหาหนทางก้าวผ่านความแตกต่างด้านภูมิรัฐศาสตร์ไปได้" คูเกิลแมนกล่าว

......

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง