หรือญี่ปุ่นกำลังชักศึกเข้าบ้าน? หลังหนุนขยายนาโตใน ‘เอเชีย-แปซิฟิก’
บทบรรณาธิการของสำนักข่าว Global Times ระบุว่า การที่ญี่ปุ่นสนับสนุนการขยายตัวของนาโต อาจเป็นการชักศึกเข้าบ้าน และทำให้ภูมิภาคแห่งนี้เผชิญวิกฤตขัดแย้งครั้งใหม่
---วาทศิลป์ที่อันตราย---
Global Times ชี้ว่า วิกฤตยูเครนและโศกนาฏกรรมทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เพียงพอที่จะขจัดความต้องการของสหรัฐฯ และชาติตะวันตกบางประเทศ ในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางการเมืองจากสถานการณ์ดังกล่าว
หลังนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ และบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้ลงนามข้อตกลงทางทหารเมื่อวันพฤหัสบดี (5 พฤษภาคม) ว่าด้วยข้อตกลงการเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคง ระหว่างกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นและกองทัพสหราชอาณาจักร
ตามคำแถลงจากทำเนียบนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ข้อตกลงดังกล่าวเป็น “หุ้นส่วนด้านการป้องกันประเทศที่สำคัญ” และจะส่งเสริม “ความมุ่งมั่นของสหราชอาณาจักรที่มีต่ออินโด-แปซิฟิก”
ขณะเดียวกัน คิชิดะกล่าวชมอย่างตื่นเต้นว่า “ยูเครนอาจกลายเป็นเอเชียตะวันออกในวันพรุ่งนี้” โดยกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ กลุ่ม G7 จะเสริมสร้างความสามัคคีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
---มุ่งสู่ผลประโยชน์ร่วมกัน---
Global Times ระบุว่า องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ซึ่งสร้างความแตกแยกในยุโรปและเปิดฉากความขัดแย้งทั่วโลก กำลังพยายามใช้กลอุบายของ “การเมืองแบบกลุ่มก้อน” และ “การเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายต่าง ๆ“ กับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
หลายปีมาแล้วที่สหราชอาณาจักรส่งเสริมการแพร่ขยาย “โลกาภิวัตน์ของนาโต” รวมทั้ง “ความจำเป็นในการป้องกันภัยคุกคามในอินโด-แปซิฟิก” เพื่อให้แน่ใจว่าเกาะไต้หวันสามารถป้องกันตนเองได้
ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ญี่ปุ่นมีความกระตือรือร้นอย่างมากในการรองรับโครงการดังกล่าว ดูเหมือนญี่ปุ่นต้องการเป็น “ไกด์ผู้หักหลัง” เพื่อการขยายตัวของนาโตในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
แน่นอนว่า สหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังแนวโน้มนี้อย่างไม่ต้องสงสัย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ผลักดันให้พันธมิตรประสานกลยุทธ์เข้ากับของตน มุ่งเป้าหมายไปที่ทางตะวันออก บางประเทศยินดีที่จะปฏิบัติตาม แม้ว่าพวกเขาจะมีการคำนวณสถานการณ์ในประเด็นนี้ไว้แล้วก็ตาม
ด้านสหราชอาณาจักร ตั้งเป้าฟื้นฟูอิทธิพลที่ลดลง ด้วยการสำรวจเส้นทางให้สหรัฐฯ ส่วนญี่ปุ่นต้องการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือของสหรัฐฯ เพื่อทำลายพันธนาการของธรรมนูญฉบับสันติภาพ และรื้อฟื้นการทหารของตน
---วิสัยทัศน์เหนือกว่าความแตกต่าง---
วิกฤตในยูเครนเป็นพื้นที่ที่ดีสำหรับนักการเมืองบางคนที่ส่งเสียงดังและเคลื่อนไหว เพื่อสร้างความตึงเครียดในภูมิภาค เป็นที่น่าสังเกตว่า ญี่ปุ่นตื่นตัวอย่างมากหลังเกิดวิกฤตในยูเครน
เมื่อไม่นานมานี้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น ได้ดำเนินกิจกรรมทางการทูตในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งยุโรป และสหรัฐฯ ส่วนประเทศในแถบเอเชียที่ต้อนรับเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น ยังคงระมัดระวังคำพูดของญี่ปุ่น รวมถึงไม่เต็มใจที่จะสานต่อเจตนารมณ์
จนกระทั่งเยือนสหราชอาณาจักร ที่ต้องการฟื้นคืนความรุ่งโรจน์ ผู้นำญี่ปุ่นถึงรู้สึกอุ่นใจ คล้ายกับได้รับความอบอุ่นจากเพื่อนคนหนึ่ง สิ่งนี้ทำให้ผู้คนนึกถึงพันธมิตรสหราชอาณาจักร-ญี่ปุ่น ในศตวรรษที่ 20 ได้อย่างง่ายดาย
ประเทศในทวีปเอเชียมีระบบและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทั้งยังมีประวัติศาสตร์และความเป็นจริงที่ขัดแย้งกัน แต่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ยังคงรักษาสถานการณ์โดยทั่วไปได้อย่างมีเสถียรภาพ เนื่องจากแสวงหาจุดรวมร่วมกัน โดยละทิ้งความแตกต่าง
แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่เหนือกว่าความแตกต่างทางอุดมการณ์ และภูมิศาสตร์การเมือง ประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ต่างมีส่วนร่วมในความร่วมมือเชิงปฏิบัติในยุคโลกาภิวัตน์
---ประเทศในเอเชียต้องตื่นตัว---
สำนักข่าว Global Times ระบุว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญและมีพลวัตมากที่สุดในโลก และทำให้ “ศตวรรษแห่งเอเชีย” เป็นหัวข้ออภิปรายที่ยั่งยืนในยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ
บางคนอยากร่วมมือกับสหรัฐฯ และชาติตะวันตก รวมถึงบังคับใช้ “รูปแบบการรักษาความปลอดภัย” ที่ล้มเหลวในยุโรป ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อเอเชีย-แปซิฟิก
นี่เป็นความตั้งใจที่จะบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคมิใช่หรือ? ความผิดพลาดด้านความมั่นคงของยุโรป พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ระบบของนาโต ที่นำโดยสหรัฐฯ นั้น ไม่เข้ากับยุคสมัย
ประเทศที่กล่าวว่า “ยูเครนอาจกลายเป็นเอเชียตะวันออกในวันพรุ่งนี้” ล้วนเต็มไปด้วยผลประโยชน์ของตนเอง และจริงจังกับการทำซ้ำวิกฤตยูเครน ในภูมิภาคอื่น ๆ จึงเป็นเหตุให้ประเทศในแถบเอเชียต้องตื่นตัวในอย่างมาก
---เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ไม่ให้ซ้ำรอย---
ประวัติศาสตร์ครั้งแล้วครั้งเล่า แสดงให้เห็นว่าความมั่นคงของประเทศ ๆ หนึ่ง ไม่อาจอยู่บนพื้นฐานความไม่มั่นคงของประเทศอื่นได้
การแบ่งประเทศในภูมิภาคออกเป็นกลุ่มพันธมิตรและปรปักษ์ รังแต่จะสร้างความไม่มั่นคงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งประเทศต่าง ๆ ล้วนตกอยู่ในความขัดแย้ง รวมทั้งเป็นกับดักของการระมัดระวังตัวและเป็นศัตรูต่อกัน
กลุ่มทหารของ “นาโต” เป็นยาพิษ ต่อความวิตกกังวลและความตึงเครียดด้านความปลอดภัยในภูมิภาค ไม่ใช่ยาแก้พิษ สถานการณ์ที่ดีในเอเชียต้องไม่ถูกทำลายด้วย “สงครามเย็นครั้งใหม่” การเฝ้าระวังและปฏิเสธการขยายตัวของนาโต เข้าสู่เอเชีย-แปซิฟิก ควรกลายเป็นฉันทามติที่แข็งแกร่งและจิตสำนึกร่วมกันของทุกประเทศในภูมิภาค
นอกจากนี้ บรรณาธิการ Global Times ยังต้องการเน้นว่า พวกเขาหวังว่าญี่ปุ่นจะไม่บ่อนทำลายสภาพแวดล้อมโดยรวม เพื่อสันติภาพและการพัฒนาในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม การชักศึกเข้าบ้านเช่นนี้ จะเป็นอันตรายต่อประเทศอื่นและทำร้ายประเทศตัวเอง พร้อมระบุว่า ประวัติศาสตร์ได้สอนบทเรียนอันลึกซึ้งแก่เราไว้แล้ว
————
แปล-เรียบเรียง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Reuters