09.00 INDEX แรงต้าน ภายใน พลังประชารัฐ ต่อ สมานฉันท์ ต่อ ชวน หลีกภัย
เหมือนกับว่าการออกโรงของหลายคนจากพรรคพลังประชารัฐแสดง ความหงุดหงิดต่อปฏิบัติการของ นายชวน หลีกภัย ในการก่อรูปขึ้นของ “คณะกรรมการสมานฉันท์” จะเป็นเรื่องส่วนตัว
ไม่ว่าจะเป็น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่ว่าจะเป็น น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ไม่ว่าจะเป็น นายสิระ เจนจาคะ
แต่หากมองไปยังรายละเอียดการเคลื่อนไหว ความพยายามของ นายชวน หลีกภัย นับแต่เสร็จสิ้นการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมเป็นต้นมาก็จะเข้าใจ
เข้าใจในความหงุดหงิด เข้าใจในความไม่พอใจอันกรุ่นอยู่ภายในพรรคพลังประชารัฐ และสำแดงผ่าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน สำแดงผ่าน น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ และ นายสิระ เจนจาคะ
อย่าลืมสายสัมพันธ์ของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ในปฏิบัติการขับ “กลุ่ม 4 กุมาร” ออกจากพรรคพลังประชารัฐ อย่าลืมบทบาทอันโดดเด่นของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ นายสิระ เจนจาคะ อย่างเด็ดขาด
แม้พรรคประชาธิปัตย์จะมีเจตนาดีสักเพียงใดในการผลักดัน “คณะ กรรมการสมานฉันท์” ให้บังเกิด แม้ นายชวน หลีกภัย จะอาศัยบารมีทางการเมืองอย่างจริงจังอย่างไร
เมื่อสัมผัสผ่านท่าที นายไพบูลย์ นิติตะวัน น.ส.ปารีณา ไกร คุปต์ ตลอดจน นายสิระ เจนจาคะ สำแดงออก ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่ “คณะกรรมการสมานฉันท์” จะเกิดขึ้น
อย่าลืมเป็นอันขาดว่าในรัฐบาลคสช. ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยมอบหมายภารกิจในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้กับใคร
คำตอบเด่นชัดอย่างยิ่งว่าเป็นความรับผิดชอบของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในห้วงที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงกลาโหม
ณ วันนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นอกจากเป็นรองนายกรัฐมนตรีแล้วยังเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
อย่าได้แปลกใจหากความขมีขมันขันแข็งของ นายชวน หลีกภัย ใน เบื้องต้นค่อยๆโรยราลงเป็นลำดับ แม้จะพยายามขอเข้าหารือกับอดีตนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ตาม
เพราะกระแสต้านจากพรรคพลังประชารัฐรุนแรงเป็นลำดับ
แม้จะส่งคนอย่าง นายไพบูลย์ นิติตะวัน น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ นายสิระ เจนจาคะ ออกมา แต่สังคมก็รู้ว่าคนอยู่เบื้องหลังเป็นใคร