ทำไมผ้าอนามัยเป็นเครื่องสำอางที่ต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ทั้งๆ ที่เป็นของจำเป็น
จากผลงานของ ปอ–กุลธิดา กระจ่างกุล ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาจิตรกรรมและมีเดียอาตส์ ภาควิชาศิลปกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของผลงาน หัวข้อ durational performance ครั้งที่ 1 ชื่อผลงาน Blues on Period
ด้วยการใส่ผ้าอนามัยโดยไม่เปลี่ยนเป็นเวลา1วัน บันทึกภาพถ่ายทุกๆ 1 ชั่วโมง และเธอเคยให้สัมภาษณ์กับ A DAY ไว้ว่า
“200 คือราคาผ้าอนามัยที่เราต้องเสียในหนึ่งเดือน สำหรับผ้าอนามัย 28 ชิ้น อันประกอบด้วยผ้าอนามัยความยาว 30 เซนติเมตรเพื่อใช้ในตอนกลางวัน และ 42 เซนติเมตรในเวลากลางคืน เท่ากับว่าเราต้องควักเงินจ่ายค่าผ้าอนามัยปีละ 2,400 บาท ถ้านับตั้งแต่เราเริ่มมีประจำเดือนเมื่อตอนอายุ 9 ขวบจนปัจจุบันที่อายุ 23 ปี เราเสียเงินค่าผ้าอนามัยไปแล้ว 36,000 บาท และสมมติว่าเราเข้าสู่วัยทองตอนอายุ 50 ปี ตลอดชีวิตของเราจะต้องเสียเงินค่าผ้าอนามัยทั้งสิ้น 100,800 บาท”
“ ไม่มีใครเลือกเกิดได้ ผ้าอนามัยควรเป็นสวัสดิการสังคม ไม่ใช่ภาษีที่ผู้มีมดลูกทุกคนต้องจ่าย”
ซึ่งผลงานของน้องปอเคยเป็นกระแสแชร์ในโซเชียล และกระแสเรื่องภาษีผ้าอนามัยกลับมามีบทบาทอีกครั้ง เมื่อราชกิจจาฯ ประกาศ ‘ผ้าอนามัยแบบสอด’ เป็นเครื่องสำอาง และผ้าอนามัย เป็น 1 ใน รายการสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ แม้ไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย หรือ ถึง 30% แต่ผ้าอนามัยจะถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ตามราคาของสินค้าเหมือนสินค้าชนิดอื่นๆ
ประกาศผ้าอนามัยแบบสอดเป็นเครื่องสำอาง
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวง กำหนดวัตถุอื่นเป็นเครื่องสำอาง พ.ศ.2564 โดยระบุว่า
อาศัยอำนาจตามความใน (3) ของบทนิยามคำว่า “เครื่องสำอาง” ในมาตรา 4 และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุดออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ให้ผ้าอนามัยชนิดสอดที่ใช้สอดใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อซับเลือดประจำเดือน เป็นเครื่องสำอาง
ประกาศ ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2564 อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข
หลังจากมีประกาศนี้ออกมาทำให้โลกโซเชียลติดแฮชแท็ก #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี โดยส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นว่า ผ้าอนามัยเป็นของใช้ที่จำเป็นมากต่อสุภาพสตรีทุกคน ซึ่งหลายคนตั้งคำถามว่าอัตราภาษีของเครื่องสำอางนั้น อยู่ที่ 30% และราคาผ้าอนามัยแบบสอด อาจมีราคาเพิ่มขึ้น
รวมถึงยังแสดงความคิดว่า ผ้าอนามัยควรแจกฟรี ไม่เสียภาษี เหมือนที่ต่างประเทศเริ่มยกเลิกภาษีผ้าอนามัย เน้นเป็นสวัสดิการที่ประชาชนควรได้รับ
เปิดเหตุผลทำไมผ้าอนามัยแบบสอดถึงเป็นเครื่องสำอาง
ต้านกระแสไม่ไหว หลังจากโลกออนไลน์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการให้ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นเครื่องสำอาง ทำให้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก ระบุเหตุผลที่ผ้าอนามัยแบบสอดถึงเป็นเครื่องสำอางว่า
ยืนยัน ผ้าอนามัย เป็นสินค้าควบคุม ไม่ขึ้นภาษี
ชี้แจง ประกาศราชกิจจาฯ ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นเครื่องสำอาง ดังนี้
1.ปัจจุบันมีผ้าอนามัย 2 ชนิด คือ ผ้าอนามัยใช้ภายนอกและชนิดสอด ทั้ง 2 ชนิดถูกจัดเป็นเครื่องสำอาง ตั้งแต่ปี 2528 เพราะเข้ากับนิยามเครื่องสำอางคือ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ฯลฯ
2.ปี 2558 มีการแก้ไข พ.ร.บ.เครื่องสำอางใหม่ มีการแก้ไขนิยามของคำว่า “เครื่องสำอาง” ทำให้ “ผ้าอนามัยชนิดสอด” หลุดจากคำนิยามของเครื่องสำอาง แต่ผ้าอนามัยใช้ภายนอก ยังเป็นเครื่องสำอาง
3.จึงเป็นเหตุผลให้ต้องออกกฎกระทรวงกำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอด เป็นเครื่องสำอาง
4.ผ้าอนามัย เป็น 1 ใน รายการสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย หรือ ถึง 30% ภาษีผ้าอนามัยจึงจะถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ตามราคาของสินค้าเหมือนสินค้าชนิดอื่นๆ
ผ้าอนามัยทุกชนิดจัดเป็นเครื่องสำอางมาตลอด
ภญ. สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข และรักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่กฎกระทรวงกำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอดจัดเป็นเครื่องสำอาง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงว่า ผ้าอนามัยทั้งแบบใช้ภายนอกและชนิดสอดถูกจัดเป็นเครื่องสำอางตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอางมาโดยตลอด ซึ่งเป็นไปตามคำนิยามของเครื่องสำอางที่เป็นวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ฯลฯ
แต่เมื่อพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ ได้กำหนดนิยามของเครื่องสำอางให้ใช้เฉพาะภายนอกร่างกาย จึงทำให้ผ้าอนามัยชนิดสอดไม่เข้าข่ายเป็นเครื่องสำอาง เนื่องจากมีการสอดเข้าไปในร่างกาย ไม่สอดคล้องกับคำนิยามดังกล่าว แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุข โดย อย. จึงเห็นสมควรออกกฎกระทรวงให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอางดังเดิม เพราะจะได้มีการกำกับดูแลให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานความปลอดภัย ควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ รวมทั้งมีการแสดงคำเตือนที่ฉลาก เพื่อให้ผู้บริโภคได้ศึกษาทำความเข้าใจก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ด้วย
ทั้งนี้ ผ้าอนามัย จัดเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน เป็นรายการสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ จึงไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยตามที่เป็นข่าว มีเพียงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนสินค้าชนิดอื่น ๆ เท่านั้น
มีแววผ้าอนามัยจะขึ้นราคาไหม
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิต ไม่มีนโยบายจัดเก็บภาษีผ้าอนามัย เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และไม่เคยกำหนดผ้าอนามัยอยู่ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตด้วย
ปัจจุบันผ้าอนามัยเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) 7% เท่านั้น ไม่ได้เสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย หรือมีเพดานการจัดเก็บภาษีที่สูงแต่อย่างใด เนื่องจากสินค้าผ้าอนามัย ไม่ได้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นสินค้าที่มีความจำเป็น ที่ผู้หญิงต้องใช้ในชีวิตประจำวัน
โดยปัจจุบันกรมสรรพสามิตมีการจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเพียงรายการเดียว คือ น้ำหอมในอัตราภาษีตามมูลค่าที่ 8%”
ประเมินค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยของผู้หญิง
เฉลี่ยแล้วผ้าอนามัยแบบปกติราคาถูกที่สุดตกชิ้นละ 5 บาท และควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4-8 ชั่วโมง เท่ากับว่าใน 1 วันจะต้องใช้ผ้าอนามัย 6 ผืน ใน 1 รอบเดือนที่มีประจำเดือน
หากเฉลี่ย 6 วันเท่ากับว่าในเดือนผู้หญิงต้องมีค่าใช้จ่ายจากผ้าอนามัยสูงถึง
รายจ่ายต่อเดือน 6 x 5 x 6 = 180 บาทต่อเดือน
รายจ่ายต่อปี 180 x 12 = 2,160 บาทต่อปี
ซึ่งราคาของผ้าอนามัยและรูปแบบการใช้งานของแต่ละคนแตกต่างกันตามสุขภาพของผู้หญิงที่อาจมีประจำเดือนมากกว่าปกติ และต้องใช้ผ้าอนามัยมากกว่า อาจทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงเกือบ 2 เท่า
ประเทศที่ยกเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัย และเปลี่ยนเป็นสวัสดิการ
ประเทศเคนยา ยกเลิกภาษีผ้าอนามัยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 และตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 รัฐบาลมีงบประมาณ 3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อแจกจ่ายผ้าอนามัยให้โรงเรียนและชุมชนยากไร้
ส่วนประเทศสก็อตแลนด์ แจกผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียนและผู้มีรายได้น้อย เพื่อแก้ปัญหาความยากจนในประเทศ
ขณะที่ 50 รัฐในสหรัฐฯ ไม่ได้เก็บภาษีผ้าอนามัยแล้ว ประเทศอินเดีย ยกเลิกภาษีสำหรับผ้าอนามัย 12% และจัดอยู่ในกลุ่มภาษีสินค้าไม่จำเป็น (non-essential tax)
นอกจากนี้ก็มีประเทศที่ยกเลิกภาษีสำหรับผ้าอนามัยแล้วคือ ไอร์แลนด์, จาไมก้า, ไนคารากัว, ไนจีเรีย, แทนซาเนีย, เลบานอน และมาเลเซีย
แต่บางประเทศก็ยังมีนโยบายลดภาษีผ้าอนามัย เช่น อังกฤษเก็บภาษีสำหรับผ้าอนามัย 5% จากปกติ 20% และกำลังผลักดันให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าปลอดภาษี ส่วนเยอรมัน ลดภาษีสำหรับผ้าอนามัยจาก 19% (ภาษีของฟุ่มเฟือย) เหลือ 7% (ภาษีของใช้ในชีวิตประจำวัน) เมื่อปี ค.ศ. 2018
รวมถึงออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, เนเธอแลนด์, โปรตุเกส, เบลเยี่ยม, สวิตเซอร์แลนด์, ไซปรัส เองก็ลดภาษีจากการเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยกลายเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป
ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) , กรมสรรพสามิต , Por Khajee , ราชกิจจานุเบกษา , กวาง ไตรศุลี ไตรสรณกุล , thematter
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง