นักลงทุนเก็งกำไร SPF ราคาพุ่งแรงกว่า 20% หลัง BA จ่ายค่ายกเลิกสัญญาเช่าสนามบินสมุย
หุ้นกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย หรือ SPF มีการซื้อขายคึกคักมาก ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 20% โดยเมื่อเวลา 15.20 น. ราคาอยู่ที่ระดับ 17.00 บาท เพิ่มขึ้น 3.10 บาท หรือ 22.30% มูลค่าการซื้อขาย 1,114 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 17.00 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 17.40 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 15.80 บาท
ขณะที่หุ้น BA ราคาไม่เปลี่ยนแปลงที่ 7.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 39 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 7.25 บาท ราคาขึ้นสูงสุด 7.60 บาท และราคาลงต่ำสุด 7.20 บาท
นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรในหุ้น SPF คึกคัก เนื่องจาก ที่ประชุมคณะกรรมการบมจ.การบินกรุงเทพ (BA) อนุมัติให้เสนอขอยกเลิกสัญญาเช่าระยะยาว ซึ่งมีระยะเวลาการเช้าตามสัญญาเหลืออยู่ประมาณ 15.5 ปี และสัญญาที่เกี่ยวข้องระหว่าง BA กับกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (SPF) โดยบริษัทได้ให้เช่าที่ดิน ทางวิ่ง ลานจอดและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ใช้ในการดำเนินกิจการสนามบินสมุยแก่กองทุนรวมที่ประสงค์จะลงทุนในสิทธิการเช่าระยะยาวในอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบกิจการสนามบินสมุย
เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ธุรกิจสนามบินสมุยได้รับผลกระทบต่อการดำเนินงาน ซึ่งภายหลังหากได้มีการเลิกสัญญาดังกล่าวแล้วบริษัทจะสามารถดำเนินกิจการสนามบินสมุยต่อไปโดยปราศจากภาระหน้าที่ต่อกองทุนรวม จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ และสามารถใช้ทรัพย์สินเพื่อจัดหาประโยชน์โดยปราศจากข้อจำกัด
ทั้งนี้ ในการเสนอขอยกเลิกสัญญาที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวม บริษัทฯได้กำหนดค่าตอบแทนการเลิกสัญญาดังกล่าวที่จะชำระให้แก่กองทุนรวมเป็นมูลค่ารวมเท่ากับ 18,050 ล้านบาท
บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ฯมอง Negative ต่อ BA เนื่องจากค่าตอบแทนยกเลิกสัญญา 18,050 ล้านบาทนั้น สูงกว่ามูลค่าปัจจุบันของสัญญาที่เหลืออยู่ ณ สิ้นไตรมาส 1/64 จำนวน 9,770 ล้านบาท อาจทำให้ BA ต้องรับรู้ผลขาดทุนจำนวนกว่า 8,280 ล้านบาท (อย่างไรก็ตาม จากที่ BA ถือ SPF ในสัดส่วน 30% อาจรับรู้กำไรพิเศษเข้ามาชดเชยราว 2,188 ล้านบาท เหลือเป็นผลขาดทุนพิเศษอยู่ที่ 6,092 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่า -2.95 บาท/หุ้น)
และ BA อาจมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหากใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน หากกู้ทั้งจำนวนภายใต้สมมติฐานอัตราดอกเบี้ยที่ (MLR) ราว 5.5% จะคิดเป็นค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยปีละกว่า -993 ล้านบาท (อย่างไรก็ตาม จากที่ BA ถือ SPF ในสัดส่วน 30% อาจทำให้ต้องใช้แหล่งเงินทุนส่วนเพิ่มที่เพียง 12,630 ล้านบาท คิดเป็นต้นทุนดอกเบิ้ยจ่ายที่ -695 ล้านบาท)
พร้อมมองเป็น Positive ต่อ SPF เนื่องจากค่าตอบแทนยกเลิกสัญญา 18,050 ล้านบาท สูงกว่ามูลค่ายุติธรรมของสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ณ สิ้นไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 10,756 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่า 19 บาท/หน่วย สูงกว่ามูลค่ายุติธรรมของสิทธิการเช่าที่ 11.32 บาท/หน่วย และสูงกว่าราคาตลาด SPF วานนี้ที่ 13.90 บาท
โดยคงคำแนะนำ Reduce หุ้น BA และราคาเป้าหมายปี 65 ที่ 6.20 บาท ประเมินด้วยวิธี PB multiple ที่ 0.64x (เทียบเท่า -1SD ของค่าเฉลี่ยในอดีต) โดยคาดมีแนวโน้มขาดทุนต่อเนื่องในปี 64-66 ที่ -3,626 ล้านบาท -1,631 ล้านบาท และ -229 ล้านบาท ฟื้นช้ากว่ากลุ่มฯ เนื่องจาก BA พึ่งพิงผู้โดยสารต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งการแพร่ระบาด โควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารมีข้อจำกัดในการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศและยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากผลขาดทุนพิเศษที่อาจเกิดขึ้นจากการยกเลิกสัญญากับ SPF อีกด้วย
บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุ SPF ได้รับผลตอบแทนสุทธิประมาณ 18,000 ล้านบาท (หากอิงจากตัวเลขค่าตอบแทนนของ BA และหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับกองทุนฯ ซึ่งอิงข้อมูลงบการเงิน 4 ไตรมาสย้อนหลังพบว่าอยู่ที่ 14 ล้านบาท/ไตรมาส หรือ 50-60 ล้านบาท/ปี และกองฯ ไม่มีภาระหนี้สินกู้ยืม) หรือคิดเป็นผลตอบแทนต่อหน่วยราว 18.9-19 บาท (ภายใต้จำนวนหน่วยทั้งสิ้น 950 ล้านหน่วย)
ทั้งนี้ผลตอบแทนดังกล่าวดังกล่าวจะถูกจัดสรรให้ผู้ถือหน่วยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การคืนเงินต้น (หรือลดทุน) ราว 9.69 บาท/หน่วย (ตามราคาพาร์ปัจจุบัน) และที่เหลือ 9.2-9.3 บาท/หน่วย เป็นรูปแบบเงินปันผล (ที่เกิดจากการขายสิทธิการเช่า) และเงินส่วนนี้นักลงทุนมีภาระต้องเสียภาษี
คาดภายหลังกอง SPF ได้รับเงินตอบแทนจาก BA จะทำให้กองไม่มีสินทรัพย์ฯ ในการบริหาร เพราะต้องคืนสิทธิการเช่าสนามบินคืนให้กับ BA ดังนั้นกองจะดำเนินการยกเลิกและปิดสถานะกองทุนไป
จากราคาผลตอบแทนต่อหน่วยที่สูงกว่าราคาปัจจุบัน (ราคาปิดเมื่อวาน) ที่ 13.9 บาท และ NAV สิ้น มี.ค. ที่ 11.53 บาท จึงทำให้เกิดแรงเก็งกำไรให้กับราคาหุ้น SPF โดยหากราคาปรับขึ้นเกิน 18-19 บาท นักลงทุนสามารถขายทำกำไร แต่หากราคายังต่ำกว่า 18 บาท นักลงทุนที่มีอยู่ สามารถถือรอรับเงินคืน หลังการเลิกกองทุน ซึ่งคาดเกิดขึ้นภายใน 3/64 ภายใต้ธุรกรรมดังกล่าวเป็นไปตามแผน