อัฟกานิสถาน : สหรัฐฯ กังวลรัฐมนตรีตาลีบันเชื่อมโยงเหตุร้ายโจมตีทหารอเมริกัน
สหรัฐอเมริการะบุ มีความกังวลหลังกลุ่มตาลีบันประกาศตั้งรัฐบาลใหม่ที่เป็นผู้ชายทั้งหมดและรัฐมนตรีหลายคนมีความเชื่อมโยงกับเหตุโจมตีทหารอเมริกัน ขณะกลุ่มแนวร่วมต่อต้านแห่งชาติอัฟกานิสถาน เรียกร้องนานาชาติอย่ายอมรับรัฐบาลของกลุ่มติดอาวุธนี้
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่า กำลังประเมินถ้อยแถลงของกลุ่มตาลีบันเมื่อวานนี้ (7 ก.ย.) ซึ่งระบุว่ารัฐบาลชั่วคราวจะอยู่ภายใต้การนำของนายมุลลาห์ โมฮัมหมัด ฮัสซัน อัคฮุน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มตาลีบัน ซึ่งอยู่ในบัญชีดำของสหประชาชาติ
ด้านสหภาพยุโรประบุว่ากลุ่มติดอาวุธอิสลามผิดสัญญาที่บอกว่าจะทำให้รัฐบาลที่จะจัดตั้งเปิดรับฝักฝ่ายต่าง ๆ และเป็นตัวแทนประชาชนทุกกลุ่ม
นอกจากนี้นายซารายุดดิน ฮัคคานี ผู้นำกลุ่มฮัคคานี ซึ่งเป็นบุคคลที่สำนักงานสืบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ต้องการตัว ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ส่วนผู้ได้รับการแต่งตั้งคนอื่น ๆ อาทิ นายมุลลาห์ ยากูบ เป็นรัฐมนตรีกลาโหม เขาเป็นบุตรชายของนายมุลลาห์ โอมาร์ ผู้ก่อตั้งตาลีบันและผู้นำสูงสุดผู้ล่วงลับ ขณะที่นายอาเมียร์ ข่าน มุตตากี ได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ
สองผู้ร่วมก่อตั้งตาลีบันคือนายมุลลาห์ อับดุล กันนี เบอรัดเดอร์ และนายมุลลาห์ อับดุล ซาลาม ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกัน เมื่อวานนี้ก็เกิดเหตุยิงผู้ประท้วง 3 รายเสียชีวิตที่จังหวัดเฮรัตทางตะวันตกของประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ระบุว่าพวกเขาเสียชีวิตหลังนักรบตาลีบันเริ่มยิงปืนใส่
ที่กรุงคาบูลก็มีการประท้วงตามท้องถนนเช่นกันโดยกลุ่มตาลีบันยิงปืนขึ้นฟ้าเป็นการเตือน
ลินด์ซีย์ เกรแฮม สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ บอกว่า คณะรัฐมนตรีชั่วคราวของอัฟกานิสถานเต็มไปด้วย "นักเลงและมือสังหาร" เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกอาวุโสของพรรคริพับลิกันที่ออกมาวิจารณ์การตัดสินใจถอนทัพของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
รัฐบาลตาลีบันซึ่งประกาศเรียกประเทศว่า "เอมิเรตอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน" (Islamic Emirate of Afghanistan) กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการในประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ต้องสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและพยายามทำให้นานาชาติยอมรับในตัวตนด้วย
ก่อนหน้านี้ กลุ่มตาลีบันบอกว่าอยากจะจัดตั้งรัฐบาลที่เปิดรับให้ฝักฝ่ายต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วม
แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า สังเกตเห็นว่ารายชื่อรัฐมนตรีที่ประกาศออกมามีแค่สมาชิกกลุ่มตาลีบัน หรือผู้ที่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดอย่างเดียว แล้วก็ไม่มีผู้หญิงเลย
"เรามีความกังวลด้วยถึงความเชื่อมโยงและประวัติของบุคคลบางคน" แถลงการณ์ระบุ โดยบอกว่า จะตัดสินตาลีบันจากการกระทำ ไม่ใช่คำพูด
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ยังบอกอีกว่า จะจับตามองหลังตาลีบันได้ให้คำมั่นสัญญาแล้วว่าจะการเปิดช่องทางให้ชาวต่างชาติและชาวอัฟกันที่มีหนังสือเดินทางได้ออกจากประเทศอย่างปลอดภัย "รวมถึงอนุญาตให้เที่ยวบินที่พร้อมออกเดินทางแล้วได้บินออกจากอัฟกานิสถานด้วย"
"เราอยากจะย้ำอีกว่ามีความคาดหวังชัดเจนว่าตาลีบันจะทำให้มั่นใจได้ว่าแผ่นดินอัฟกันจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อคุกคามประเทศอื่น ๆ ...โลกกำลังเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด"
ให้รัฐมนตรีใช้กฎหมายอิสลาม
ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศตั้งรัฐบาล มีแถลงการณ์ที่บอกกันว่ามาจาก เฮเบอทุลลา อาคุนดซาด ผู้นำสูงสุดตาลีบัน บอกว่าให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ของอิสลาม
กลุ่มตาลีบันต้องการ "ความสัมพันธ์ที่ดีและแข็งแกร่งกับเพื่อนบ้านและประเทศอื่น ๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กันและให้เกียรติซึ่งกันและกัน" แถลงการณ์ภาษาอังกฤษระบุ แต่ก็มีการให้ข้อแม้ว่าพวกเขาจะเคารพกฎหมายและข้อตกลงนานาชาติ "ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายอิสลามและค่านิยมของประเทศ"
ฮัสซัน อัคฮุน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศเมื่อครั้งที่ตาลีบันเคยครองอำนาจคราวที่แล้วระหว่างปี 1996 ถึง 2001 โดยเขาเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านศาสนามากกว่าเรื่องการทหารของกลุ่ม
การแต่งตั้งเขาถูกมองว่าเป็นการประนีประนอมหลังจากมีรายงานความขัดแย้งในกลุ่มระหว่างสมาชิกที่มีแนวคิดสายกลางกับแนวคิดสุดโต่ง
นายซารายุดดิน ฮัคคานี ซึ่งได้เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยชั่วคราว เป็นผู้นำกลุ่มฮัคคานีซึ่งเชื่อมโยงกับตาลีบัน และอยู่เบื้องหลังการเหตุโจมตีหลายครั้งในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงเหตุระเบิดรถบรรทุกเมื่อปี 2017 ที่กรุงคาบูลซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 150 ราย
กลุ่มฮัคคานีถูกสหรัฐฯ กำหนดว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายต่างชาติ และก็ยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มอัลไคดาด้วย
เอฟบีไอระบุประวัติของซารายุดดิน ฮัคคานี ว่า "ถูกต้องการตัวไปสอบสวนจากเหตุโจมตีโรงแรมในกรุงคาบูลเมื่อปี 2008…ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย รวมถึงชาวอเมริกันหนึ่งคน"
นอกจากนี้เอฟบีไอยังระบุอีกว่า "เชื่อว่าเขาประสานงานและมีส่วนร่วมในการโจมตีข้ามแดนไปยังกองทัพสหรัฐฯ และกองทัพร่วมในอัฟกานิสถาน"
เมื่อถามว่าทำไมผู้หญิงไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ๆ สมาชิกตาลีบันอาวุโสคนหนึ่งบอกกับบีบีซีว่าการจัดตั้งคณะรัฐมนตรียังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์
ตอนนี้ กลุ่มตาลีบันอ้างว่าพวกเขาเข้ายึดครองยึดครองอัฟกานิสถานโดยสมบูรณ์แล้ว โดยบอกว่าได้เอาชนะกลุ่มแนวร่วมต่อต้านแห่งชาติอัฟกานิสถาน (National Resistance Front of Afghanistan หรือ NRF) ที่หุบเขาปัญจ์ชีร์
ด้านกลุ่มแนวร่วมต่อต้านแห่งชาติอัฟกานิสถาน บอกว่า กลุ่ม "ถือว่าการประกาศจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวของตาลีบันผิดกฎหมายและเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่ากลุ่มเป็นปรปักษ์กับชาวอัฟกัน"
บทวิเคราะห์โดย ลีซ ดูเซ็ต หัวหน้าผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศของบีบีซี
ขบวนการเคลื่อนไหวที่ดำเนินการแบบลับ ๆ ให้เราเห็นได้แค่เงามาเป็นเวลานาน และจะปรากฏชื่อก็แต่บนบัญชีผู้ก่อการร้ายโลกเท่านั้น บัดนี้ได้ประกาศแต่งตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ที่รัฐบาลอื่นทั่วโลกก็ใช้เหมือนกันแล้ว
ดูเหมือนนายกรัฐมนตรีชั่วคราวอย่างนายมุลลาห์ โมฮัมหมัด ฮัสซัน อัคฮุน จะเป็นผลจากการประนีประนอมจากรายงานว่ามีความขัดแย้งของผู้นำด้านการทหารและการเมืองภายในกลุ่ม
ความชั่วคราวของรัฐบาลชุดนี้เป็นเหมือนช่วงเวลาให้พักหายใจก่อนที่กลุ่มตาลีบันจะเปลี่ยนจากการถือปืนไปบริหารประเทศอย่างเต็มตัว
และรัฐบาลชุดนี้ก็เป็นการตอกย้ำด้วยว่าชัยชนะของตาลีบันเท่ากับตาลีบันเท่านั้นที่จะเป็นผู้ปกครองประเทศ แหล่งข่าวระบุว่าพวกเขาต่อต้านข้อเรียกร้องจัดตั้งรัฐบาลที่เปิดรับให้ฝักฝ่ายต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วม พวกเขาลังเลที่จะให้อดีตนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่เคยอยู่ในอำนาจแล้วและโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีประวัติทุจริต กลับมามีส่วนร่วม
"ทำไมเราต้องให้คนอื่นเลือกคณะรัฐมนตรีให้ขณะที่ประเทศอื่นเขาเลือกกันเอง" คือคำโต้ตอบของคน ๆ หนึ่ง
ส่วนผู้หญิงไม่มีสิทธิ์จะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่แล้ว และดูเหมือนว่าตอนนี้กระทรวงกิจการสตรีจะถูกยกเลิกไปเลย
.............
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว