รีเซต

เหตุใด “แคชเมียร์” ไม่เคยสงบ? ใจกลางความขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถาน

เหตุใด “แคชเมียร์” ไม่เคยสงบ? ใจกลางความขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถาน
TNN ช่อง16
24 เมษายน 2568 ( 16:25 )
10

แคชเมียร์ หนึ่งในดินแดนที่ได้ขึ้นชื่อว่า “สวรรค์บนดินแห่งเทือกเขาหิมาลัย” แม้ธรรมชาติจะสวยงามจะสะกดใจหลาย ๆ คนไว้ได้แล้ว แต่ที่นี่ ก็คือใจกลางความขัดแย้งระหว่างอินเดีย-ปากีสถานมานานหลายสิบปี

ดินแดนแห่งนี้ไม่เคยสงบ อาจจะพักเรื่องร้าย ๆ ไปเป็นช่วง ๆ แต่ไม่เคยสงบเป็นเวลานานเลย 

มาทำความรู้จัก “แคชเมียร์” ศูนย์กลางความขัดแย้งของสองมหาอำนาจนิวเคลียร์แห่งเอเชียกัน

— จุดเริ่มของความขัดแย้ง –

หลังจากที่อังกฤษให้เอกราชแก่อินเดียและปากีสถาน เมื่อปี 1947 ดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ก็แบ่งออกเป็น 2 ประเทศ 

แต่ยังมีดินแดนที่เรียกว่า “รัฐมหาราชา” ที่มีสิทธิ์เลือกว่าจะอยู่ร่วมกับประเทศใด โดยที่ “แคชเมียร์” เป็นหนึ่งในรัฐเหล่านี้ โดยมีมหาราชาฮารี ซิงห์ เป็นผู้ปกครอง

มหาราชาฮารี ซิงห์ นับถือศาสนาฮินดู แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในแคชเมียร์เป็นชาวมุสลิม คือกว่า 60% - แต่มหาราชา ต้องการที่จะให้แคชเมียร์เป็นเอกราช  แต่เมื่อตัดสินใจเช่นนั้น กองกำลังปากีสถานก็รุกล้ำดินแดน จึงตัดสินใจพาแคชเมียร์เข้าร่วมกับอินเดีย เพื่อขอความช่วยเหลือ 

นั่นนำไปสู่สงครามครั้งแรกระหว่างอินเดียและปากีสถาน ในปี 1947-1948 หรือในปีที่ได้รับเอกราชนั้นเลย 

สงครามนี้ จบลงด้วยเส้น Line of Control หรือ LoC ที่แบ่ง “แคชเมียร์” ออกเป็น 2 ส่วน โดยที่อินเดียควบคุมพื้นที่ประมาณ 2 ใน 3 และปากีสถานคุมพื้นที่ที่เหลือทางตอนเหนือ 

— ทำไมต่างฝ่ายต่างต้องการแคชเมียร์? --

แคชเมียร์นับว่ามีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์อยู่ไม่น้อย เนื่องจากเป็นต้นน้ำของ “แม่น้ำสินธุ” ที่เป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวอินเดียและปากีสถาน ดังนั้น หากใครควบคุม ครอบครองแคชเมียร์ได้ จึงหมายถึงการควบคุมแหล่งน้ำที่สำคัญนี้ อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมระหว่างเอเชียใต้ เอเชียกลาง และจีนอีกด้วย


— สงคราม ที่ยังไม่จบ? --

อินเดีย และปากีสถานทำสงครามเพื่อแย่งแคชเมียร์กันแล้วหลายครั้ง ความรุนแรงในรัฐนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 1989 แต่ความรุนแรงระลอกใหม่เกิดขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของบูร์ฮัน วานี ผู้นำกลุ่มติดอาวุธวัย 22 ปี เมื่อเดือน ก.ค. 2016 เขาเสียชีวิตจากการต่อสู้กับกองกำลังความมั่นคง ทำให้เกิดการประท้วงขนาดใหญ่ทั่วภูมิภาค  และในพิธีศพของเขา ผู้คนปะทะกับทหารนานหลายวัน เสียชีวิตหลายสิบคน 

จากนั้นในปี 2018 ก็เกิดความรุนแรง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน ทั้งพลเรือน, ทหาร, กลุ่มติดอาวุธ ตัวเลขมากสุดในรอบ 10 ปี


— อินเดียสุมไฟความขัดแย้ง เพิกถอนสิทธิ์ปกครองตนเอง --

และในปี 2019 ก็ยิ่งทำให้ประชาชนในแคชเมียร์ โดยเฉพาะกลุ่มติดอาวุธที่กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ไม่พอใจอย่างมาก กรณีที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ประกาศยกเลิก “มาตรา 370” ของรัฐธรรมนูญอินเดีย ที่ให้สถานะพิเศษแก่แคชเมียร์ ทำให้แคชเมียร์สูญเสียสิทธิ์ในการปกครองตนเอง และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลางอินเดียอย่างเต็มที่ 

เรื่องนี้ทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างมาก และนำไปสู่การประท้วงและความรุนแรงในพื้นที่ อีกทั้งยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและปากีสถานตึงเครียดยิ่งขึ้น 


— หยุดยิง แต่ไม่จีรัง --

อินเดียและปากีสถาน ทำข้อตกลงหยุดยิงเมื่อปี 2003 หลังเกิดเหตุนองเลือดนานหลายปี ตามแนวเส้น LoC หรือ เส้นแบ่งเขตหยุดยิง

ปากีสถานรับปากว่าจะหยุดสนับสนุนด้านการเงินให้กับกลุ่มติดอาวุธในปากีสถาน และอินเดียก็จะนิรโทษกรรมให้แก่สมาชิกกลุ่มติดอาวุธ หากพวกเขาเลิกเป็นสมาชิกกลุ่มเหล่านี้ 


— จีน-อินเดีย ความขัดแย้งทับซ้อน --

ไม่เพียงแต่แคชเมียร์ ที่เป็นจุดความขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถาน แต่พื้นที่ข้าง ๆ กันอย่าง “อักไซชิน” (Aksai Chin) ที่เป็นส่วนหนึ่งของแคชเมียร์ ที่อินเดียอ้างสิทธิ์ ก็เป็นจุดพื้นที่ทับซ้อนกับจีนเช่นกัน และเคยเกิดการเผชิญหน้าบนหมู่บ้านอันห่างไกลบนเทือกเขาหิมาลัยมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งครั้งหลังสุดเมื่อปี 2020 ที่ทหารอินเดียปะทะกับทหารจีน มีผู้เสียชีวิตหลายสิบนาย จากทั้งสองฝั่ง 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง