รีเซต

สันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีจะเกิดได้จริงหรือ?

สันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีจะเกิดได้จริงหรือ?
TNN ช่อง16
13 มกราคม 2565 ( 18:08 )
83

5 มกราคม 2022 วันที่เกาหลีเหนืออ้างว่ายิงทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิค ครั้งแรกของปีนี้ เป็นวันเดียวกับที่ มุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เดินทางไปยังเมืองแกซอง เพื่อร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์ขบวนรถไฟสำคัญ ที่หวังจะเป็นตัวเชื่อม 2 เกาหลี


และวันนั้นเอง มุน บอกว่า เขายังไม่สิ้นหวัง และยังไม่คิดจะล้มเลิกความหวังในการเดินหน้าเจรจาสันติภาพร่วมกับเกาหลีเหนือแต่อย่างใด


"มีเพียงการเจรจาเท่านั้น ที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้.. และหาก 2 เกาหลีร่วมมือกันในการสร้างความเชื่อมั่น สันติภาพก็จะเกิดขึ้นในวันหนึ่ง" ประธานาธิบดีเกาหลีใต้กล่าว


---5 ปี ที่ยังยุติความบาดหมางไม่ได้---


นับตั้งแต่ที่ มุน เข้ารับตำแหน่งเมื่อเกือบ 5 ปีก่อน เขาได้พยายามอย่างยิ่งในการเจรจากับ คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ โดยทั้ง 2 ผู้นำพบกันทั้งหมด 3 ครั้ง ในปี 2018 และมุ่งมั่นที่จะประกาศยุติสงครามเกาหลี ที่จบลงตั้งแต่ปี 1953 แต่ไม่เคยมีการทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างกัน แต่ความพยายามชองมุนก็ยังไม่เป็นผล


แม้กระทั่งการเจรจากับผู้นำสหรัฐฯ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ถึง 3 ครั้ง ท้ายสุดก็ล้มเหลว อีกทั้งคิมยังปฏิเสธข้อเสนอจากไบเดน ที่ต้องการเจรจาต่อโดยปราศจากเงื่อนไข


หลายเดือนมานี้ มุน ที่ใกล้จะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม พยายามมากขึ้นกว่าเดิมในการผลักดันเจรจาสันติภาพ ไปพร้อม ๆ กับการล็อบบี้สหรัฐฯ และจีน ให้ช่วยผลักดันให้เกิดขึ้น


มุนเคยแถลงในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ หรือ UNGA ว่า หากประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในสงคราม "ร่วมประกาศยุติสงคราม ผมเชื่อว่าเราจะสามารถสร้างความก้าวหน้าในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ให้เกิดขึ้นได้ และนำไปสู่ยุคแห่งสันติภาพที่สมบูรณ์"


---สหรัฐฯ-จีน ผู้มีบทบาทสำคัญเจรจาสันติภาพเกาหลี---


การเจรจาสันติภาพ 2 เกาหลี ไม่ได้เกี่ยวโยงเฉพาะ "เกาหลีเหนือ" และ "เกาหลีใต้" เพียงเท่านั้น หากแต่ยังเกี่ยวเนื่องกับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯด้วย


คริสติน อาห์น ผู้อำนวยการบริหารกลุ่มสนับสนุนสตรีข้ามเขตปลอดอาวุธ (DMZ) เห็นด้วยในเรื่องการเจรจาเพื่อยุติสงคราม และพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดขึ้นได้คือ "นโยบายสหรัฐฯจะต้องถูกปรับเปลี่ยน และความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายในการลดความรุนแรง"


นั่นหมายถึง สหรัฐฯ จะต้องเดินหน้าผ่อนคลายคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ, ต้องลดการซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ลง ไปพร้อม ๆ กับการยกเลิกการแบนการเดินทางของชาวเกาหลีเหนือ และอนุญาตให้ครอบครัวเขาได้พบหน้ากัน


อาห์น บอกว่า การลงนามยุติสงครามเกาหลี จะเป็นการเปิดทางให้นักการทูต "สามารถทำงานร่วมกัน, หยิบประเด็นที่ถกเถียงกันไว้แล้วกลับขึ้นโต๊ะเจรจากันเพื่อปลดอาวุธได้ต่อเนื่อง" เพราะไม่มีทางเลือกที่เหมาะสมมากไปกว่านี้อีกแล้ว


แต่จนถึงเวลานี้ สหรัฐฯ ยังไม่ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนการเจรจาสันติภาพของปธน.มุน โดยเจค ซัลลิวาน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวไว้เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วว่า เกาหลีใต้และสหรัฐฯ "มีมุมมองที่แตกต่างกันบางอย่าง ทั้งเรื่องลำดับ, จังหวะเวลา หรือเงื่อนไขต่าง ๆ" ในข้อตกลงสันติภาพ


ขณะที่กระทรวงต่างประเทศเกาหลีใต้ บอกว่า จีนให้การสนับสนุนเรื่องนี้ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนบอกว่า จีนเชื่อว่าความเคลื่อนไหวนี้ "จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลีที่แท้จริง"


---เกาหลีเหนือจะไม่เจรจาจนกว่าสหรัฐฯ จะถอนกำลัง---


นักวิเคราะห์มองว่า การเจรจาสันติภาพเป็นเพียงก้าวย่างเล็ก ๆ เท่านั้น เมื่อเทียบกับความต้องการที่แท้จริงของเกาหลีเหนือ ที่ต้องการให้สหรัฐฯ ยุติการสนับสนุนทางการทหารต่อเกาหลีใต้ในระยะยาว


ปัจจุบัน มีทหารสหรัฐฯ ประจำในเกาหลีใต้ราว 28,500 นาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกาหลีเหนือไม่พึงใจนัก


มุนกำลังจะหมดวาระในอีก 5 เดือน ผู้สืบทอดจากพรรคเขาเห็นด้วยกับการผลักดันเจรจาสันติภาพ แต่คู่แข่งจากอีกพรรคไม่เห็นด้วย ระบุว่า การประกาศยุติสงครามจะส่งผลกระทบต่อเรื่องการปรากฎตัวของกองทัพสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ต่อไป


เพราะสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ต้องการผลลัพท์จากการเจรจายุติสงครามที่แตกต่างกัน


"สำหรับสหรัฐฯ การประกาศยุติสงครามร่วมกันจะได้รับการยอมรับก็เมื่อมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ...แต่สำหรับประกาศนี้ ดูจะไม่ได้เน้นความสำคัญในเรื่องนั้น" คริสติน อาห์น ผู้อำนวยการบริหารกลุ่มสนับสนุนสตรีข้ามเขตปลอดอาวุธ (DMZ) ระบุ


"สำหรับเกาหลีเหนือ การประกาศยุติสงครามจะต้องมีผลประโยชน์ที่จับต้องได้...และแน่นอนว่าสิ่งที่เกาหลีเหนือต้องการมากที่สุดคือการผ่อนคลายการคว่ำบาตร”


“แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลเกาหลีใต้สามารถทำได้...และเมื่อไร้ข้อรับประกันในเรื่องนี้ ก็ดูเหมือนกับว่าจะไร้ซึ่งแรงจูงใจสำหรับรัฐบาลเกาหลีเหนือให้ลงนามยุติสงครามด้วย"


หนทางสู่สันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี.. จึงยังไม่มีประตูทางออกบานใดที่เปิดออกในเวลานี้เลย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง