รีเซต

โกลบอลคอมแพ็กประเทศไทยผนึกกำลังทุกภาคส่วน เดินหน้าขับเคลื่อน SDGs

โกลบอลคอมแพ็กประเทศไทยผนึกกำลังทุกภาคส่วน เดินหน้าขับเคลื่อน SDGs
TrueID
1 กันยายน 2563 ( 09:40 )
137
โกลบอลคอมแพ็กประเทศไทยผนึกกำลังทุกภาคส่วน เดินหน้าขับเคลื่อน SDGs

โกลบอลคอมแพ็กประเทศไทยผนึกกำลังทุกภาคส่วน เดินหน้าขับเคลื่อน SDGs เจตนารมณ์สมาชิกร่วมลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนผลักดัน 998 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573

 

 

 

  • นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมผู้แทนสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน
    การประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ให้คำมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนรวม 998 โครงการ มูลค่ารวมอย่างน้อย 2 ล้านล้านบาท
    ภายในปี 2573 ในงาน “GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs”
  • นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำความสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน หลังวิกฤตการณ์โควิด-19 สอดคล้องกับ
    “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่สร้างความเข้มแข็งจากภายในและรากฐาน  โดยมุ่งเน้น “การพัฒนาคน” และ “ความมั่นคงของมนุษย์” เพื่อให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกัน พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมย้ำว่าทุกภาคส่วนจะต้องรวมพลังกันเพื่อ “รวมไทยสร้างชาติ” และรวมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ
  • Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติ (United Nations Resident Coordinator - UNRC) ประจำประเทศไทย แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของภาคธุรกิจ พร้อมร่วมสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างโลกให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิม ในวิถีปกติใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  และสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
  • นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เชิญชวนทุกองค์กรใช้ศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการลงทุนด้านความยั่งยืนในศตวรรษของการลงมือทำ แข่งขันกับความท้าทายของมนุษยชาติ และทำงานร่วมกับสหประชาชาติอย่างจริงจัง เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย SDGs ภายในปี 2573

 

กรุงเทพฯ 31 สิงหาคม 2563

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs” ในโอกาสการครบรอบ 20 ปี เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) และครบรอบ 75 ปีสหประชาชาติ (United Nations) จัดโดย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และผู้สนับสนุนของสมาคมฯ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรสมาชิกของสมาคมฯ  ผนึกกำลังเพื่อร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

 

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “วิถีคิดผู้นำในสถานการณ์วิกฤต ประสบการณ์จากสถานการณ์ COVID-19” โดยเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน มีใจความว่า  “ประเทศไทยเราโชคดีที่มี “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน   โดยให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาคน” และ “ความมั่นคงของมนุษย์” เพื่อให้ทุกคนในชาติมีภูมิคุ้มกัน พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม  วันนี้ทุกภาคส่วนจะต้องรวมพลังกันเพื่อ “รวมไทยสร้างชาติ”  เพราะเราและโลกมีเป้าหมายที่ชัดเจนรออยู่ข้างหน้า นั่นก็คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDGs ซึ่งเราจะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2573 แม้ว่าเราจะมีเวลาไม่มาก แต่ผมเชื่อมั่นว่าเราคนไทย หากร่วมมือร่วมใจกัน ความสำเร็จอยู่ไม่ไกล และขอชื่นชมบทบาทของภาคเอกชนในการสร้างความตระหนักรู้และร่วมมือกันบรรลุเป้าหมาย SDGs ต่างๆ โดยเฉพาะเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย สามารถมีบทบาทสำคัญได้อย่างแน่นอน  ในการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ  ”

 

Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติ (United Nations Resident Coordinator - UNRC) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เราขอขอบคุณสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ในการผนึกกำลังของภาคธุรกิจและมุ่งมั่นที่จะบรรลุ SDGs โดยเราต้องร่วมมือกันใน 3 เรื่องสำคัญ ประการแรก คือ การสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  ประการที่สอง การสร้างโลกให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิม ในวิถีปกติใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประการที่สาม การสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง โดยเฉพาะในปี 2020 นี้ เราเข้าสู่ทศวรรษแห่งการลงมือทำที่เรียกร้องให้การผนึกกำลังกัน เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยยึดหลักการทำงานร่วมกันและรับผิดชอบร่วมกัน  เราเชื่อมั่นว่าภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ SDGs เป็นจริง และเชื่อในพลังของผู้นำภาคธุรกิจที่มีความสามารถในการสร้างงาน รวมทั้งค้นหาแนวทางที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายในปัจจุบัน เพื่อร่วมกันสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิม

 

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้ใช้โอกาสนี้ขอบคุณแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนท่านนายกรัฐมนตรีในการนำประเทศให้พ้นวิกฤตโควิดว่า “ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี ความเป็นผู้นำของท่านได้พาประเทศฝ่าวิกฤตโควิดมาได้ถึงจุดนี้ ทำให้มีการติดเชื้อและสูญเสียชีวิตน้อยมาก เมื่อเทียบกับนานาประเทศ” และได้กล่าวถึงสมาคมฯ ว่า “ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกเกือบ 60 องค์กร และเพิ่มขึ้นเรื่อยมา หากมองในเชิงมูลค่าของบริษัทที่เป็นสมาชิกในปัจจุบัน จะพบว่าสูงถึงประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของสมาคมฯ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน” และเกี่ยวกับปัญหาที่โลกเผชิญอยู่นั้น ได้กล่าวว่า “แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 ที่เราเผชิญอยู่จะเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่เราก็ยังต้องเตือนตัวเองว่า ยังมีวิกฤตอื่นอีก ที่ยังคุกคามมนุษยชาติ อาทิ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปัญหาทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งวิกฤตเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำที่ขาดความสมดุลของเราเอง และด้วยเหตุการณ์โควิด-19 ที่ทับถมและรุมเร้ามนุษยชาติอยู่ในขณะนี้ ปัญหาที่เราได้เผชิญมาก่อนโควิดเหล่านี้นับจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ” และได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยการย้ำบทบาทของผู้นำในการแก้ปัญหาว่า ผู้นำ คือ ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง ผู้นำที่ดี คือ ผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งยังประโยชน์สุขต่อคนหมู่มาก ดังนั้น ความตระหนักรู้ถึงปัญหาของผู้นำในทุกภาคฝ่ายจึงเป็นภารกิจสำคัญของเรา และเมื่อผู้นำมีความตระหนักรู้แล้ว เราจะสามารถรับมือเเละผ่านพ้นวิกฤตที่กล่าวมานี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ด้วยความกล้าหาญ ความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ และที่สำคัญคือ ความร่วมมืออย่างเป็นปึกเเผ่นของทุกภาคฝ่าย

 

พร้อมกันนี้  องค์กรสมาชิกทั้งหมดได้แสดงความพร้อมขับเคลื่อนไทยสู่ความยั่งยืน ด้วยการประกาศเจตนารมณ์ว่า จะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง หลักการ UN Global Compact และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้เป็นหัวใจหลักของกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียให้เดินหน้าไปสู่หนทางที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น และจากสมาชิกสมาคมฯ ทั้งหมดนั้น สมาชิกจำนวน 21 องค์กรได้ประกาศการลงทุนด้านการพัฒนา


ที่ยั่งยืนเพื่อบรรลุ SDGs ภายในปี 2573  รวมจํานวน 998 โครงการ เป็นมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท อาทิ บริษัท
อินโดรามา เวนเจอร์ส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่ม ปตท. กลุ่มมิตรผล แพรนด้ากรุ๊ป และบริษัทสมาชิกอื่นๆ อีกด้วย

นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส ในฐานะองค์กรสมาชิกเครือข่าย


โกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย
กล่าวว่า “แนวคิด SDGs และหลักการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืน เป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักการดำเนินธุรกิจของไอวีแอล ซึ่งเป็นความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าในระยะยาวมากกว่าผลกำไรระยะสั้น โดยไอวีแอลได้เดินหน้าสร้างความยั่งยืนผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET เพื่อลดปริมาณพลาสติกที่เป็นของเสีย และนำมารีไซเคิลสร้างคุณค่าได้อีก โดยตั้งเป้าหมายที่จะลงทุน 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อรีไซเคิล PET หลังการบริโภค จำนวน 750,000 ตัน ภายในปี 2568 นอกจากนี้ อินโดรามา เวนเจอร์สยังได้ให้คำมั่นสัญญาว่า เราจะลงทุนด้านความยั่งยืนรวม 1 พันล้านบาท ในโครงการต่างๆ ประมาณ 45 โครงการ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2573 เราเชื่อมั่นว่า ความมุ่งมั่นและการทำงานร่วมกันของไอวีแอลในฐานะองค์กรสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย จะทำให้ประเทศสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่หนทางที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ทั้งในปัจจุบัน และสำหรับคนรุ่นต่อไปในอนาคต

 

งาน “GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs”  จัดขึ้น ณ  ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ตามรูปแบบการประชุมอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) โดยสอดคล้องกับแนวทางของสานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (Thailand Convention & Exhibition Bureau หรือ TCEB) และสหประชาชาติ โดยมีผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจากหลากหลายองค์กรเข้าร่วมงาน  อาทิ  ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้แทน UN Global Compact ผู้นำภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ที่มาผนึกกำลังร่วมกับสมาคมโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เป็นภาคีเครือข่ายที่ด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย  โดยได้สร้างแรงบันดาลใจและผนึกกำลังการทำงานร่วมกัน  ผ่านการเสวนาใน 4 หัวข้อ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน  แรงงาน สิ่งแวดล้อม  และการต่อต้านการทุจริต  ร่วมกันฟื้นฟูประเทศไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม ตามหลักการสากล 10 ประการของ UN Global Compact และแสดงความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนที่จะบรรลุ SDGs ภายในปี 2573

 

องค์กรที่สนับสนุนการจัดงานนี้ ได้แก่ สำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

 

##

 

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand): เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2561 โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งในไทย 15 บริษัท ปัจจุบันมีสมาชิก 57 องค์กร โดยโกลบอลคอมแพ็ก ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ของโครงการสำคัญในระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ UN Global Compact เครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งรณรงค์ให้บริษัททั่วโลกวางกลยุทธ์และยึดหลักการทำงานที่สร้างเศรษฐกิจยั่งยืนครอบคลุมการดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การต่อต้านทุจริต ตลอดจนดำเนินกิจกรรมที่ช่วยผลักดันเป้าหมายของสังคมในวงกว้าง ภายใต้หลักสากล 10 ประการของ UN Global Compact เพื่อบรรลุเป้าหมายของสหประชาชาติ อาทิ เป้าหมายสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมไปถึงข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement)

 

 

==========

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง