รีเซต

ดีเดย์! ฉีด วัคซีนโควิด เข็มแรก 14 ก.พ. เฉพาะลงทะเบียนออนไลน์ผ่าน 'หมอพร้อม'

ดีเดย์! ฉีด วัคซีนโควิด เข็มแรก 14 ก.พ. เฉพาะลงทะเบียนออนไลน์ผ่าน 'หมอพร้อม'
ข่าวสด
25 มกราคม 2564 ( 14:04 )
407
ดีเดย์! ฉีด วัคซีนโควิด เข็มแรก 14 ก.พ. เฉพาะลงทะเบียนออนไลน์ผ่าน 'หมอพร้อม'

กระทรวงสาธารณสุข แถลงแล้ว ยัน! ดีเดย์ 14 กุมภาฯ วันวาเลนไทน์ ฉีดวัคซีน "โควิด-19" เข็มแรก ส่วนในวันที่ 12 ก.พ. ให้บุคลากรแพทย์ก่อน ลงทะเบียนออนไลน์ผ่าน "หมอพร้อม"

 

วันนี้ (25 ม.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. พร้อมด้วย ผู้บริหาร สธ. ประชุมทางไกลร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน เพื่อชี้แจงการบริหารจัดการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระยะที่ 1 สำหรับบุคลากรการแพทย์ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์

 

นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า ขณะนี้ระบบสุขภาพ ทั้งสถานพยาบาล บุคลากรและอุปกรณ์ต่างๆ นั้น มีการเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าที่จะเข้ามาล็อตแรกต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จำนวน 50,000 โดส

 

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สธ. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมชี้แจงกับ รพ.ทั่วประเทศ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 800 กว่าหน่วย ที่เข้าร่วมประชุมเพื่อเตรียมการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเร็วที่สุด หากวัคซีนเข้ามาในสัปดาห์ที่ 1 ของเดือน ก็จะพร้อมฉีดให้สัปดาห์ที่ 3 กลางเดือนกุมภาพันธ์นี้แน่นอน

 

“วัคซีนจะมาต้นกุมภาพันธ์ แล้วจะต้องมาผ่านกระบวนการต่างๆ ก่อน และกระจายวัคซีนได้ในสัปดาห์ที่ 2 จากนั้น คาดว่าประมาณ สัปดาห์ที่ 3 ถึงจะสามารถฉีดได้ แต่ ปลัด สธ.เสนอให้ฉีดวันที่ 14 กุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม การฉีดก็ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ โดยให้บุคลากรการแพทย์ที่ทำงานหน้าด่านในพื้นที่เสี่ยงลงทะเบียนได้ที่แอพพลิเคชั่น "หมอพร้อม" วันที่ 12 กุมภาพันธ์ นี้ ส่วนประชาชนกำลังพิจารณาช่องทางการลงทะเบียนที่เหมาะสมอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม รองนายกฯ ได้เน้นย้ำว่าการฉีดต้องเป็นธรรม โปร่งใส ไม่ให้มีการเหลื่อมล้ำ” นพ.โสภณ กล่าว

 

ทั้งนี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า โดยหลักการที่จะฉีดวัคซีนใน 50,000 โดสแรก คือ 1.กลุ่มเสี่ยงในการเกิดโรค 2.บุคลากรสาธารณสุขเพื่อให้ระบบเดินไปได้ และ 3.เพื่อให้เศรษฐกิจเดินได้ แต่เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ก็อาจจะต้องฉีดในบุคลากรสาธารณสุขก่อน ขณะที่ วัคซีนที่เข้ามาล็อตแรก 50,000 โดส ก็จะต้องเลือกพื้นที่เสี่ยงที่สุดในการฉีด เช่น บุคลากรการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ทำงานหน้าด่านในพื้นที่เสี่ยง เช่น จ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร อ.แม่สอด จ.ตาก และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการให้วัคซีนฯ จะต้องประชุมหาข้อสรุปภายในวันที่ 29 มกราคมนี้

 

“โดยการฉีดวัคซีนก็มีผลข้างเคียงได้อาจจะ 1 ต่อ 1 ล้าน ก็ต้องตามดูจากประเทศอื่นๆ ส่วนในประเทศไทยเราได้เตรียมการอยู่ จึงต้องมีระบบติดตาม โดยต้องฉีดในสถานพยาบาลที่มีอุปกรณ์เครื่องมือพร้อมในการฉีด บางครั้งอาจจะแพ้ง่ายเราก็ต้องช่วยเขาให้ดีที่สุด ซึ่งเราได้เตรียมไว้แล้ว หลังจากนั้นต้องติดตามว่าฉีดแล้ว 7 วัน หรือ 1 เดือน จะมีปัญหาหรือไม่ เพราะความปลอดภัยต้องมาอันดับหนึ่ง โดยระยะแรกจะต้องฉีดในโรงพยาบาลก่อน จึงค่อยพิจารณาให้ฉีดในสถานีอนามัยที่มีความพร้อม หรือรถโมบาย (Mobile Car) ซึ่งอยู่ในแผนแต่ต้องปรับตามสถานการณ์” นพ.โสภณ กล่าว

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า บุคลากรที่จะเป็นผู้ฉีดวัคซีนต้องผ่านการอบรมชี้แจง ให้ความรู้ และด้านอุปกรณ์ เช่น ซอฟต์แวร์หมอพร้อม แชทบอท อุปกรณ์ฉีด เข็ม กระบอกฉีดยา (Syringe) ก็เตรียมไว้หมดแล้ว นอกจากนี้ ได้สำรวจกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ เตรียมลงทะเบียนฉีด การมาฉีดจะต้องพูดคุยทำความเข้าใจและลงนามความยินยอม เมื่อฉีดเสร็จต้องนั่งรออย่างน้อย 30 นาที เมื่อกลับบ้านก็จะต้องติดตามผลต่ออีกในวันที่ 1, 7 และ 28 พร้อมทั้งเตือนให้มาฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 อีก

 

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการติดตามผลการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่เริ่มมีการฉีดให้ประชากรในต่างประเทศผลข้างเคียงน้อยกว่าวัคซีนตัวอื่นๆ ถือว่ามีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง เป็นประโยชน์ในการควบคุมโรคในประเทศ สำหรับเป้าหมายการฉีดระยะแรกจะให้ กลุ่มที่ 1 บุคลากรด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน

 

ซึ่งมีประมาณ 6-7 พันคน กลุ่มที่ 2 คือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับงานควบคุมป้องกันโรคโควิด ในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มนี้มีอยู่ราวๆ หลักพันคน และ กลุ่มที่ 3 ประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อแล้วอาการรุนแรง หรือเสี่ยงชีวิต คือผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ และโรคไต ซึ่งมีอยู่หลักแสนคน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้คือตัวเลขที่มี แต่การฉีดสุดท้ายจะต้องเป็นไปตามความสมัครใจ

 

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เรื่องเข็มฉีดและอุปกรณ์ที่ต้องใช้นั้น มีเพียงพอ เพราะมีการผลิตได้เองในประเทศ โดยสัปดาห์หน้าจะทยอยส่งเข็มไปยัง รพ.ต่างๆ จำนวน 2.5 ล้านชุด สำหรับการเตรียมตัวเพื่อรับวัคซีนก็ไม่มีอะไรมาก แค่ดูแลตัวเองให้แข็งแรง เพราะปกติจะไม่ฉีดวัคซีนให้กับคนมีไข้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง