รีเซต

วราวุธ ขับเคลื่อน น่านแซนด์บ็อกซ์ ย้ำปัญหาปชช.ต้องแก้ไข ควบคู่ดูแลพื้นที่ป่า

วราวุธ ขับเคลื่อน น่านแซนด์บ็อกซ์ ย้ำปัญหาปชช.ต้องแก้ไข ควบคู่ดูแลพื้นที่ป่า
ข่าวสด
19 เมษายน 2565 ( 15:15 )
81

รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ติดตามผลการขับเคลื่อน น่านแซนด์บ็อกซ์ ย้ำปัญหาของประชาชนต้องได้รับการแก้ไข ควบคู่กับการดูแลพื้นที่ป่า

 

19 เม.ย. 65 - นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ตนพร้อมคณะผู้บริหารทส. ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่า และการพัฒนาแหล่งน้ำกิน น้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร ในพื้นที่โครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์ (Nan sandbox) และการเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ของจังหวัดน่าน

 

 

ซึ่งตนได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามกฎระเบียบ และภายใต้กฎหมายที่มี แต่ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน ปัญหาของประชาชนต้องได้รับการแก้ไข ทุกคนต้องมีที่ทำกิน ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาพื้นที่ป่า

 

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ เป็นโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาด้านที่ดิน-ป่าไม้ เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ถูกต้องตามกฎหมาย และปรับคืนพื้นที่มาเป็นสภาพป่า โดยมีผลการดำเนินการขับเคลื่อนการจัดที่ดินให้แก่ราษฎร มีการใช้กลไกการอนุญาต อนุมัติ การใช้ประโยชน์พื้นที่ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม

 

 

คือ กลุ่มที่ 1 ลุ่มน้ำ 3,4,5 ก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 ที่คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ และ ทส.ได้ให้ความเห็นชอบครบถ้วนแล้ว 35 พื้นที่ 41 คําขอ และกรมป่าไม้ได้ออกหนังสืออนุญาตแล้ว 37 คําขอ กลุ่มที่ 2 ลุ่มน้ำ 3,4,5 หลังมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 ได้สํารวจและจัดทํารูปแปลงแล้ว 150,580 ไร่ มีเป้าหมายการดําเนินงานปี 2565 จัดที่ดินทํากินให้ชุมชน 208 หมู่บ้าน เนื้อที่ 65,515 ไร่

 

กลุ่มที่ 3 ลุ่มน้ำ 1,2 ก่อนและหลังมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 ได้สํารวจและจัดทํารูปแปลงแล้ว 675,684 ไร่ และจัดทําโครงการตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 จัดที่ดินทํากินให้ชุมชนแล้ว 156 หมู่บ้าน เนื้อที่รวม 134,962 ไร่ มีเป้าหมายการดําเนินงานปี 2565 จัดที่ดินทํากินให้ชุมชน 215 หมู่บ้าน เนื้อที่ 217,643 ไร่

 

 

นายวราวุธ กล่าวถึงสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่จ.น่าน ว่า พบการเกิดจุดความร้อนในปี 2565 ลดลงจากปี 2564 ในช่วงเวลาเดียวกัน คิดเป็นร้อยละ 13.13 ผลจากการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง อาทิ การควบคุมการเผาในที่โล่ง จัดการเชื้อเพลิงชิงเก็บ ลดเผา จัดทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่า รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีในการเสริมประสิทธิภาพการติตามเพื่อเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง