รีเซต

'วราวุธ' สั่งยกระดับแผนฟื้นฟูโลมาอริวดี ปิดโอกาสสูญพันธุ์

'วราวุธ' สั่งยกระดับแผนฟื้นฟูโลมาอริวดี ปิดโอกาสสูญพันธุ์
ข่าวสด
10 พฤษภาคม 2565 ( 09:40 )
59

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวถึงสถานการณ์โลมาอิรวดีที่เหลือเพียง 14 ตัวในไทย ว่า สังคมกำลังกังวลถึงการลดลงของโลมาอิรวดี ในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทะเลหลวง ทะเลสาบสงขลา ซึ่งปัจจุบันคงเหลือเพียง 14 ตัว และคาดว่าจะสูญพันธุ์ในที่สุด ซึ่งตนเองก็รู้สึกกังวลเช่นเดียวกันและได้มีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว โดยได้มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบให้กำหนดแผนการอนุรักษ์และฟื้นฟูสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลทั้งหมด รวมถึง เร่งรัดดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับโลมาอิรวดีจัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในแผนการอนุรักษ์และฟื้นฟูอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน รวมถึงพี่น้องประชาชนทุกคนด้วยเช่นกัน

 

 

สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับถึงสาเหตุการลดลงอย่างต่อเนื่องของโลมาอิรวดี คือ กิจกรรมมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือประมง การท่องเที่ยว การก่อมลพิษทางทะเล และยิ่งอายุขัยของโลมาอิรวดีเฉลี่ยราว 30 ปี เท่านั้น ทำให้โอกาสการลดลงของโลมาอิรวดีมีเกิดขึ้นได้ง่าย

 

 

สำหรับในเชิงนโยบายได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยกระดับการอนุรักษ์และกำหนดแผนการดำเนินงานให้เข้มข้นขึ้น ใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยในการสำรวจและติดตาม ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบกับหลายหน่วยงาน ตนได้กำชับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับการทำงานของทุกภาคส่วน โลมาอิรวดี14ตัวสุดท้ายของไทยนี้ จะสืบสานเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ก็ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจของพวกเราทุกคนที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือกันอย่างเต็มกำลังความสามารถ

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวเสริมว่า จากข้อมูลการสำรวจโลมาอิรวดี พบว่า ปี 2543 พบโลมาอิรวดี ประมาณ 18 ตัว และพบสูงสุดประมาณ 27 ตัว ในปี 2558 สำหรับปี 2564 พบเหลือเพียง 14 ตัว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้เล็งเห็นแนวโน้มการลดลงของโลมาอิรวดีและได้ดำเนินเพื่อการอนุรักษ์และดูแลสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ว่าจะเป็น วาฬ พะยูน และโลมาทั้งประเทศมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายต่างกังวลถึงโอกาสการสูญพันธุ์ของโลมาอิรวดี ซึ่งตนได้เตรียมยกระดับมาตรการระยะเร่งด่วน โดยได้สั่งการให้ทีมนักวิชาการและสำนักงานในพื้นที่เพิ่มการลาดตระเวนโดยใช้การบินสำรวจเพื่อติดตามจำนวนและสถานการณ์ในพื้นที่ รวมทั้ง สร้างเครือข่ายช่วยดูแลและติดตามแจ้งข่าวกรณีพบเจอซากโลมาอิรวดี หรือพบโลมาอิรวดีติดเครื่องมือประมง และเตรียมยกร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง กรมประมง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการระยะกลางและระยาวในทุกมิติ ต่อไป

ทั้งนี้ โลมาอิรวดีจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และยังเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงระหว่างประเทศ จากการประชุม CITES ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2546 ที่ประเทศไทยได้เสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 ส่งผลให้โลมาอิรวดีได้รับความคุ้มครองสูงสุดในระดับนานาชาติด้วย

ด้านผศ. ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเลและรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์โลมาอิรวดีในประเทศไทยค่อยข้างวิกฤติ หากไม่เร่งดำเนินการหามาตรการบริหารจัดการก็มีแนวโน้มสูญพันธุ์ได้ เนื่องจาก ภัยคุกคามต่อตัวโลมาอิรวดีก็มีอยู่มากมาย อีกทั้ง ระบบนิเวศและแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ก็ถูกรบกวนจากน้ำมือมนุษย์ จึงเหมือนเป็นตัวเร่งให้เกิดการสูญพันธุ์ของโลมาอิรวดีได้

อย่างไรก็ตาม ตนจะช่วยเร่งรัดการเสนอโลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าสงวนและสนับสนุนการเสนอขอรับเงินงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม รวมถึง แรงสนับสนุนจากภายนอก และหาบ้านให้โลมาสร้างเป็นพื้นที่ไข่แดง อย่างที่ต่างประเทศเคยทำสำเร็จมาแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง