รีเซต

สธ.ถกปรับรายงานโควิดใหม่ ไม่แสดงยอดรายวัน ไฟเขียวปรับเป็นโรคประจำถิ่น

สธ.ถกปรับรายงานโควิดใหม่ ไม่แสดงยอดรายวัน ไฟเขียวปรับเป็นโรคประจำถิ่น
ข่าวสด
27 มกราคม 2565 ( 14:44 )
71
สธ.ถกปรับรายงานโควิดใหม่ ไม่แสดงยอดรายวัน ไฟเขียวปรับเป็นโรคประจำถิ่น

สธ.ถกปรับรายงานโควิดใหม่ ไม่แสดงยอดรายวัน ไฟเขียวแนวทางปรับ "โควิด" เป็นโรคประจำถิ่น ตายต่ำกว่า 1 ต่อพัน วัคซีนเข็ม 2 เกิน 80% เตรียมจัดทำแผน 1 ปี

 

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมพิจารณา 2 เรื่อง โดยเรื่องแรกเห็นชอบหลักการแนวทางการพิจารณาโรคโควิด 19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น

 

 

เนื่องจากขณะนี้การระบาดมีทิศทางที่ดีขึ้น อยู่ภายใต้การควบคุม ไม่ได้มีลักษณะรุนแรงและเป็นไปตามหลักวิชาการ อย่างไรก็ตาม โรคประจำถิ่นเป็นนิยาม ยังไม่ได้มีเกณฑ์ จึงต้องกำหนดลักษณะคร่าวๆ แล้วแปลงเป็นตัวเลข เพื่อเป็นเป้าหมายในการบริหารจัดการให้เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า โดยหลักเกณฑ์กว้างๆ มี 3 เรื่อง คือ 1.อัตราเสียชีวิตต่ำกว่า 1 ต่อผู้ป่วย 1 พันคน ก็ต้องบริหารไม่ให้เกินนี้ หากเกินถือว่าเป็นโรคที่อาจจะรุนแรง ส่วนการติดเชื้อมีเป็นระยะได้ แต่โรคต้องไม่รุนแรงเกินไป ไม่อันตราย อยู่ในการควบคุม ระบาดเป็นหย่อมๆ ไม่ใช่ระบาดทั้งประเทศ แต่เสียชีวิตอัตรา 1 ต่อพันรายก็ไม่ดีเช่นกัน

 

2.คนมีภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีน ซึ่งสำหรับโอมิครอนเราคิดว่าต้องได้วัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 80% ของประชากร ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 70 กว่า% แล้ว และ 3.ระบบการดูแลรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องสอดคล้องกับการระบาดด้วย อย่างตอนนี้ยังเป็นโรคระบาดใหญ่และเป็นโรคติดต่ออันตราย ดังนั้นกระบวนการทางกฎหมายก็ต้องถอดออกจากการเป็นโรคติดต่ออันตรายมาเป็นโรคติดต่อทั่วไป ต้องมีกระบวนการทางกฎหมายให้สอดคล้องด้วย

 

"เราไม่อยากปล่อยเวลาให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่นด้วยตัวเอง จึงต้องบริหารจัดการให้เป็นโรคประจำถิ่น โดยบริหารจัดการให้ถึงเป้าหมายครบทั้ง 3 หลัก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักระยะในการบริหารจัดการให้ถึงเกณฑ์ที่เป็นโรคประจำถิ่นได้ ซึ่งจะมอบหมายให้ สธ.และกรมควบคุมโรคไปดำเนินการบริหารจัดการตามแนวทาง โดยไปสร้างมาตรการและกลไก" ปลัดสธ. กล่าว

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ส่วนอีกเรื่องคือการจัดให้มีสถานที่เฉพาะในการฉีดวัคซีนโควิด 19 เบื้องต้นเรียกว่า "คลินิกวัคซีนผู้ใหญ่" เพราะยังต้องฉีดวัคซีนโควิดอีกระยะหนึ่งใหญ่ๆ เพื่อให้บุคคลมีภูมิต้านทานต่อเนื่อง โดยให้เปิดเป็นฟังก์ชันให้บริการโดยเฉพาะในรพ. ซึ่งอาจจะเปิดถึงในระดับ รพ.ชุมชน

 

ซึ่งอนาคตใครจะมาวันไหนเวลาไหนที่ รพ.เปิดก็เข้ามาได้ จะฉีดวัคซีนใดๆ ก็ได้ ซึ่งหลายแห่งดำเนินการแล้ว แต่เราจะมีนโยบายลงไปให้ดำเนินการในการตั้งจุดฉีดประจำเป็นคลินิก เพราะเกรงว่าหากฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมแล้วก็อาจจะมีการถอนบริการนี้ออก

 

เมื่อถามว่า การเป็นโรคประจำถิ่นต้องดูสถานการณ์ทั่วโลกหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เราก็ดูประกอบ แต่การที่เรามีเกณฑ์ ไม่ใช่ว่าเราจะไปแซงอะไร แต่จะเป็นแนวทางการบริหาร อย่างโรคประจำถิ่นเมื่อก่อนต้องรอใครประกาศ ก็ไม่มีตัวชี้วัดหรือเป้าหมายที่เราต้องทำ

 

แต่ถ้าเราทำตามนี้ทุกอย่างเข้าองค์ประกอบ ก็มีความหมายให้ประชาชนรู้ว่าโรคไม่ร้ายแรงและอาจเกิดขึ้นครั้งคราว ถ้ารอประกาศขององค์การอนามัยโลก เราก็อาจทำไม่ทัน ซึ่งเราทำของเราเองมาตลอด บางอย่างถ้าเป็นกฎหมายของเขาก็ต้องรอเขา แต่บางอย่างเป็นเรื่องของเรา เราก็ทำเองได้

 

ถามต่อว่า โรคประจำถิ่นอยู่ในเงื่อนไขของการไม่กลายพันธุ์ด้วยหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การกลายพันธุ์เราก็ดูด้วย ตอนนี้เราวัดที่ผล โดยเอาผลเป็นตัวตั้ง เราไม่รู้ว่าสายพันธุ์ย่อยอะไร แต่กลุ่มโควิดถ้าอัตราตายประมาณนี้ ฉีดวัคซีนมีภูมิประมาณนี้ ถ้ากลายพันธุ์ แต่ผลลัพธ์ยังได้ผลอยู่ก็จบ

 

ถามว่า การปล่อยให้เป็นโรคประจำถิ่นตามปกติ กับการเร่งรัดจะใช้เวลาต่างกันมากน้อยแค่ไหน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เราเรียกว่าบริหาร ถ้าเราปล่อยตามยถากรรมก็ต้องช้าอยู่แล้ว เช่น ฉีดวัคซีนวันนี้ได้ 2 แสนโดสก็ดี 2 หมื่นโดสก็ได้ แต่ถ้าเรามีเป้าหมายก็จะวางแผนว่าจะจัดการให้เป็นโรคประจำถิ่นในกี่เดือน สมมติ 1 ปี จะได้รู้ว่าเดือนแรกทำอะไร 3 เดือนแรกทำอะไร เดือนที่ 4 ต้องทำอะไร เป็นต้น ซึ่งเมื่อเห็นชอบหลักการนี้มา สธ.มาบริหารและจะเสนอแผนอีกทีก็จะบอกรายละเอียดได้

 

เมื่อถามว่า เมื่อเป็นโรคประจำถิ่นสิทธิการรักษาพยาบาลยังครอบคลุมหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า รัฐบาลดูแลทุกคน ซึ่งก็ครอบคลุมทุกสิทธิ ไม่ว่าโรคอะไรจะเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ ก็มีสิทธิในการรักษาได้

 

ถามว่า เมื่อเป็นโรคประจำถิ่นแล้วมาตรการยังเหมือนเดิม หรือหน้ากากสามารถถอดได้แล้วหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นคนละตอน จริงๆ ก็ยังต้องใส่หน้ากากไปก่อนไม่เกี่ยวกัน อย่างที่ญี่ปุ่นไม่มีโควิดเขาก็ใส่หน้ากาก ขึ้นรถไฟ คนไม่สบายก็ใส่หน้ากาก แต่เราอาจจะต้องเปลี่ยนวิธี เช่น คนป่วยก็ใส่หน้ากาก ต้องมีมาตรการตามมาอีกที

 

เมื่อถามถึงหลังจากนี้ สธ.จะมีการปรับการรายงานตัวเลขโควิด ที่ไม่รายงานจำนวนติดเชื้อใหม่ แต่เหลือเพียงตัวเลขผู้ป่วยหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ก็ให้นโยบายไป ซึ่งเราก็จะหารือกัน อย่างเช่น โรคไข้เลือดออก โรคท้องเสีย เราก็ไม่รายงานทุกวัน ก็จะเหลือแค่ตัวเลขผู้ป่วยหนัก เสียชีวิต

 

“แต่ไม่ต้องกลัวว่าเราจะไม่รู้จุดระบาด เพราะเรามีตัวเลขในโรงพยาบาล เพื่อสอบสวนโรคขึ้น โดยระบบที่เรามี ก็เพื่อเฝ้าระวังการระบาดใหญ่ ไม่ใช่การรายงานทุกวัน” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

 

ถามต่อว่า สามารถลดระดับการแจ้งเตือนภัยโควิดเป็นระดับ 3 ได้หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน แต่พูดเหมือนกัน การเตือนตอนนี้เราเตือนเน้นพื้นที่ กทม. และจังหวัดสีฟ้า ก็เตือนครั้งที่หนึ่งไปแล้ว ถ้าเราเตือนครั้งที่ 2 อาจจะต้องมีมาตรการ แต่ตอนนี้ดูแลก็ถือว่าโอเค

 

เมื่อถามว่า กังวลเรื่องการระบาดของอินเดียที่อาจแพร่มาไทยหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เราพร้อมสู้ ขณะนี้ป่วยเหลือ 7-8 พันราย จากอดีต 2-3 หมื่นราย แต่เราก็จับตาตลอด มีการประชุมตลอด อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวล การจะเป็นโรคประจำถิ่น เราก็ติดตามปัจจัยต่างๆ อย่างการกลายพันธุ์เราก็ติดตาม แต่ทั้งหมดเราใช้ผลลัพธ์เป็นตัวตั้ง อย่างโอมิครอน เราไม่ได้ดูสายพันธุ์ย่อย เราดูความรุนแรง ผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต หากกลายพันธุ์แต่ผลลัพธ์ไม่เปลี่ยน แสดงว่าสายพันธุ์ย่อยไม่ได้มีผล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง