'ถ้ำนาคี' คึกคักรับวันหยุด หลังปิดฟื้นฟูนาน 1 เดือน นักท่องเที่ยวแห่ชมความสวยงาม
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อุทยานแห่งชาติภูลังกา อ.บ้านแพง จ.นครพนม ครบกำหนดปิดฟื้นฟูประจำปีเป็นเวลา 1 เดือนแล้ว (1-31 พฤษภาคม 2565) ซึ่งเป็นไปตามรอบวาระของทุกปี เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังซ่อมและปรับปรุงเพิ่มเติมทางขึ้น-ลงให้ได้มาตรฐานปลอดภัย รองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว โดยตั้งแต่อุทยานกลับมาเปิดการท่องเที่ยววันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นมา ได้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมอย่างไม่ขาดสาย
นายทวีป คำแพงเมือง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูลังกา กล่าวว่า อุทยานฯภูลังกาพร้อมเปิดรับการท่องเที่ยวโดยช่วงนี้เป็นฤดูฝนน่าเที่ยวสุดสุด ถ้านักท่องเที่ยวมาเที่ยวในช่วงนี้น้ำตกจะมีน้ำมาก กำลังสวยงาม ไม่เหือดแห้งเหมือนตอนมาในฤดูอื่นๆ ถ้าอยากได้ภาพถ่ายน้ำตกสวยๆ ก็ต้องมาช่วงนี้ และถ้าโชคดีในวันอากาศเย็นเมฆคล้อยลงต่ำอาจได้เห็นทะเลหมอกในตอนเช้า หรือตอนสายจากจุดชมวิวมุมสูง เช่น ผานาคี หรือที่ผาหินหัวรถบัส จุดเช็กอินที่นักท่องเที่ยวสายแอดเวนเจอร์ห้ามพลาด
นายทวีปกล่าวว่า ขอแนะนำนักท่องเที่ยวว่าอย่าลืมปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ช่วยกันรักษาความสะอาดพื้นที่ในป่าด้วย ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ถ้ำนาคีเที่ยวได้โดยไม่ต้องจองแล้ว นักท่องเที่ยวจะได้พบความงามของธรรมชาติ ภูเขา น้ำตก ถ้ำ ทะเลหมอก แนวหินลวดลายคล้ายเกล็ดลึกลับ
สำหรับจุดท่องเที่ยวไฮไลต์ไม่ต้องจองล่วงหน้า ฝั่ง อ.บ้านแพง จ.นครพนม อาทิ ถ้ำนาคี ผานาคี เศียรนาคี, น้ำตกตาดขาม, น้ำตกตาดโพธิ์, น้ำตกผาสวรรค์, น้ำตกไทรงาม, น้ำตกผางอย (เป็นชั้นที่ 2-4 ของน้ำตกตาดโพธิ์ ทางขึ้นถ้ำนาคี), เจดีย์กองข้าวศรีบุญเนาว์, ลานกางเต็นท์จุดชมวิวสูงสุดยอดภูลังกา, ไข่ไดโนเสาร์/ไข่พญานาค, หินหัวรถบัส/หินโบกี้, เศียรนาคา 9 เศียร, ลานหินเกล็ดงู/เกล็ดพญานาค และลานแคมป์ปิ้งตั้งเต็นท์ และจุดบริการที่พัก สำหรับนักท่องเที่ยวบริเวณที่ทำการอุทยาน
อุทยานแห่งชาติภูลังกา ห่างจากตัวอำเภอบ้านแพง ประมาณ 10 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม และอำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ มีเนื้อที่ประมาณ 31,250 ไร่ หรือประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร จุดเด่นที่น่าสนใจ คือ น้ำตกตาดขาม (อ.บ้านแพง นครพนม), น้ำตกตาดโพธิ์ (อ.บ้านแพง นครพนม), น้ำตกตาดวิมานทิพย์ (อ.บึงโขงหลง บึงกาฬ), น้ำตกกินนรี (อ.บึงโขงหลง บึงกาฬ) ตามลำดับ มีลักษณะเป็นภูเขาเรียงซ้อนกันตามแนวแม่น้ำโขง คือ ภูลังกาเหนือ ภูลังกากลาง และภูลังกาใต้ ทอดยาวตามแนวทิศเหนือกับทิศใต้และสลับด้วยเทือกเขาขนาดเล็กหลายลูกสลับซับซ้อนกันพร้อมทั้งทอดยาวตามแนวลำน้ำโขง มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ที่จุดสูงสุดบนภูลังกาเหนือ สูง 563 เมตรจากระดับน้ำทะเล สภาพโดยทั่วไปของพื้นที่เป็นภูเขาหินทราย โดยแบ่งชั้นหินที่สำคัญออกเป็น 3 หมวด คือ หมวดหินโคราช หมวดหินภูพาน และหมวดหินภูกระดึง ลักษณะดินจะเป็นดินทรายมีการพังทลายปานกลาง ภูลังกายังเป็นต้นกำเนิดของห้วยต่างๆ หลายสาย ที่มีความสำคัญมากสำหรับราษฎรในที่ราบที่อยู่ใกล้เคียงในการทำการเกษตรกรรม