รีเซต

ไทยพาณิชย์หั่นจีดีพีเหลือ 1.9% ห่วงวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพต้านไวรัสพันธุ์ใหม่ การระบาดยืดเยื้อถึง ก.ค.

ไทยพาณิชย์หั่นจีดีพีเหลือ 1.9% ห่วงวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพต้านไวรัสพันธุ์ใหม่ การระบาดยืดเยื้อถึง ก.ค.
มติชน
1 มิถุนายน 2564 ( 13:39 )
41
ไทยพาณิชย์หั่นจีดีพีเหลือ 1.9% ห่วงวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพต้านไวรัสพันธุ์ใหม่ การระบาดยืดเยื้อถึง ก.ค.

 

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า EIC ประเมินการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 1.9% โดยปรับลดจากประมาณการเดิมที่ 2.0% หลังจากได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน (เมษายน-กรกฎาคม) ในการควบคุม ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะพบปะซึ่งหน้าลดลงมาก สร้างความเสียหายต่อการบริโภคภาคเอกชนราว 3.1 แสนล้านบาท

 

 

ในส่วนของภาคท่องเที่ยว ได้ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 เหลือ 4 แสนคน จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 1.5 ล้านคน โดยแม้ว่าไทยจะมีแผนการผ่อนคลายนโยบายเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ แต่หลายประเทศทั่วโลกยังมีนโยบายการเปิดประเทศให้คนเดินทางเข้าออกที่ค่อนข้างระมัดระวัง เนื่องจากความกังวลด้านการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักร ที่แม้จะมีการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศในระดับสูงแล้ว แต่ก็มีนโยบายการเดินทางเข้าออกประเทศที่รัดกุม

 

 

 

นายยรรยง กล่าวว่า นอกจากนี้การระบาดที่ยืดเยื้อยังมีแนวโน้มทำให้แผลเป็นทางเศรษฐกิจลึกขึ้น ซึ่งข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าอัตราการว่างงานกลับมามีทิศทางเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีโดยเพิ่มจาก 1.86% ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.96% คิดเป็นจำนวน ผู้ว่างงาน 7.6 แสนคน ซึ่งสูงกว่าช่วงปิดเมืองรอบแรกเมื่อปีก่อนไปแล้ว ทั้งนี้อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นมาในไตรมาสแรกนี้ ยังไม่ได้รวมเอาผลของการระบาดระลอก 3 ซึ่งมีความรุนแรงมากเข้าไปด้วย ตัวเลขอัตราการว่างงานของไทยจึงมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นได้อีก

 

 

ทั้งนี้แผลเป็นในตลาดแรงงานที่ลึกขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้และความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน ทำให้การใช้จ่ายฟื้นตัวได้ยากและกระบวนการซ่อมแซมงบดุลของภาคครัวเรือนจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้เป็นไปได้อย่างล่าช้า โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีตามจีดีพีที่ยังคงหดตัว ก่อนที่จะทรงตัวในระดับสูงตลอดปี 2564 ตามมาตรการพักชำระหนี้ที่ยังมีอยู่ ขณะที่รายได้ไม่ได้ฟื้นตัวเร็วนัก ทำให้ปัญหาหนี้สูงจะเป็นอีกอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะข้างหน้า

 

 

นายยรรยง กล่าวว่า สำหรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป ประกอบไปด้วย 1) ระยะเวลาในการควบคุมการระบาดระลอกที่ 3 ที่อาจนานกว่าคาด รวมทั้งการระบาดรอบใหม่อาจเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ยังมีการฉีดวัคซีนในระดับต่ำ 2) ความล่าช้าในการฉีดวัคซีน และประสิทธิภาพของวัคซีนที่อาจมีไม่สูงพอโดยเฉพาะกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 3) การกลับมาระบาดหรือการระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชีย อาจส่งผลต่อการส่งออกของไทย และ 4) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจ ที่อาจมีมากกว่าคาด เช่น ภาวะหนี้เสียที่อาจปรับเพิ่มขึ้นมาก เป็นต้น

 

 

ประเมินเศรษฐกิจไทยในอีก 2-3 ปีข้างหน้ายังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยรอถึงช่วงต้นปี 2566 จึงจะกลับไปเท่ากับระดับจีดีพีก่อนเกิดการระบาด และมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจแบบถาวร (Permanent Output Loss) ขนาดใหญ่ ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคท่องเที่ยวในระดับสูง โดยภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ประกอบกับยังมีอีกหลายปัจจัยท้าทาย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น แผลเป็นทางเศรษฐกิจของไทยที่ค่อนข้างรุนแรง ความเปราะบางที่สะสมมาก่อนหน้าจากหนี้ครัวเรือนที่สูง ธุรกิจเอสเอ็มอีมีปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการแข่งขันที่รุนแรง เป็นต้น

 

 

ดังนั้นภาครัฐจึงเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักในยามวิกฤติ ควรออกมาตรการเพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยเห็นว่าการออกพรก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทเพิ่มเติมของภาครัฐ เป็นนโยบายที่มีความเหมาะสมเชิงหลักการ แต่ในทางปฏิบัติควรพิจารณาใช้เงินอย่างคุ้มค่าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเฉพาะการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีน การช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบหนัก และการสนับสนุนการจ้างงาน ควบคู่กับการออกมาตรการเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสำหรับการฟื้นตัวในระยะปานกลางและยาว

 

 

 

“สำหรับระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้แม้จะมีแนวโน้มที่จะสูงกว่า 60% ของจีดีพี ได้ในปีหน้า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งช่วยให้สัดส่วนภาระการชำระดอกเบี้ยต่อรายได้ภาครัฐยังไม่สูงนัก อย่างไรก็ดีในระยะข้างหน้า มีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องมีแผนงานเชิงปฏิบัติที่ชัดเจนในการขยายฐานรายได้ภาครัฐและการบริหารจัดสรรค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังต่อไป” นายยรรยง กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง