รีเซต

สมมุติถ้าการ์ตูนเก่าในอดีตโด่งดังในยุคนี้ประเด็นดราม่าต้องมาแล้ว

สมมุติถ้าการ์ตูนเก่าในอดีตโด่งดังในยุคนี้ประเด็นดราม่าต้องมาแล้ว
แบไต๋
28 พฤศจิกายน 2565 ( 15:41 )
206

วันเวลาเปลี่ยนยุคสมัยความคิดและสิ่งต่าง ๆ ของคนก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา จากที่ในอดีตเราเคยเป็นแบบนั้นไม่ชอบอย่างนี้ จนวันเวลาผ่านไปสิ่งเหล่านี้ก็ถูกล้มเลิกและเปลี่ยนมาคิดเป็นอีกเรื่อง ซึ่งนั่นก็รวมถึงเรื่องราวในอนิเมะที่เราดูด้วย ที่ถ้าย้อนกลับไปในอดีตเราจะเห็นหลายสิ่งที่คนยุคนี้มองว่ามันผิดและน่าถูกเอามาดราม่า อย่างเรื่องของการจัดคนไม่สวยให้เป็นตัวตลก การมีตัวละครตาแก่ลามก หรือการแกล้งกันโรงเรียน ไปจนถึงฉากแนว 18+ ในตัวละครเด็กผู้หญิง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะมองมุมไหนมันก็ผิด แต่ในอดีตที่การ์ตูนเรื่องนี้ฉายหรือเผยแพร่มันยังไม่มีแนวคิดแบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเรามองกลับด้านว่าถ้าสมมุติว่าการ์ตูนที่เคยโด่งดังในอดีตสมัยนั้นมาโด่งดังในยุคนี้ คงจะมีประเด็นดราม่าเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน และเราต้องอธิบายก่อนว่าเป้าหมายของบทความนี้ ไม่ใช่การไปย้อนอดีตเพื่อขุดการ์ตูนเหล่านี้มาว่า แต่เป็นการหยิบยกมาให้หลายคนได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ที่บอกให้รู้ว่าในอดีตคนยุคนั้นเขามองเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างไร และการ์ตูนหลายเรื่องที่ในตอนนั้นทำสิ่งเหล่านี้ ตอนนี้ก็เลิกใช้หรือทำแบบนี้ไปแล้ว (รึเปล่า) เรามาดูกันดีกว่าว่ามีอนิเมะเรื่องไหนบ้างที่ถ้ามาโด่งดังในยุคนี้ต้องเกิดดราม่าเรามาดูไปพร้อมกันเลย

คำเตือน เนื้อหาในบทความอาจจะมีภาพและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมโปรดใช้วิจารณญาณในการตัดสิน

คนไม่สวยเป็นได้แค่ตัวตลกถูกเหยียดคนสวยได้รับการดูแลปกป้อง Lucky man

เริ่มต้นเรื่องแรกของความไม่เท่าเทียมทางเพศ ที่ในยุคนั้นไม่ว่าจะบ้านเราหรือในต่างประเทศก็มักจะจัดตัวละครหน้าตาขี้เหร่ (ขอใช้คำนี้) ไม่สวยไม่หล่อให้เป็นตัวตลกที่ทำตัวน่าเกลียดให้เป็นตัวตลกเฮฮาในแต่ละตอน ส่วนสาวสวยน่ารักก็จะรับบทเป็นนางเอกที่ควรปกป้องทะนุถนอม ที่ยุคนี้เรียกว่า ‘Beauty Privilege’ หมายถึงคนหน้าตาดีจะมีโอกาสทางสังคมและได้รับการดูแลกว่าคนขี้เหร่ เหมือนอย่างในอนิเมะมังงะเรื่อง ‘Lucky man’ ที่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กชายดวงซวยที่สุดในญี่ปุ่น ที่ได้พลังความโชคดีจนสามารถแปลงร่างเป็นฮีโรที่ชื่อว่า ‘Lucky man’ ซึ่งในเนื้อเรื่องจะมีการกล่าวถึงตัวละครสาวน้อยหน้าตาไม่สวย (ที่ในยุคนั้นเรียกว่าขี้เหร่) อย่าง เดซูโยะ บุไซกุ (Desuyo Busaiku) ที่ในเรื่องเรียกเธอว่าหญิงสาวที่ขี้เหร่ที่สุดในประเทศ ที่หลงรักพระเอกมาก ๆ ซึ่งทุกครั้งที่พระเอกเราคืนร่างมนุษย์เขาก็จะดวงซวยไปจูบหรืออยู่ในอ้อมกอดของบุไซกุเสมอ แต่เห็นแบบนี้บุไซกุเป็นสาวน้อยที่รักน้ำรักปลารักซากุระมาก ๆ (แต่สัตว์ก็กลัวน้อง) ต่างกับ มิโยะ คิเรดะ (Miyo Kireida) ที่ทำอะไรก็ดีงามพระรามเก้าไปหมด ที่ถ้าการ์ตูนเรื่องนี้มาโด่งดังในยุคนี้มีหวังโดนต่อว่าเรื่องความไม่เท่าเทียมแน่ ๆ แต่อย่างว่ายุคนั้นเรามองกันแบบนี้จริง ๆ ที่ต้องเข้าใจสังคมในแต่ละยุคด้วย

ตัวละครพระเอกหื่นลามก City Hunter

คราวนี้มาดูตัวละครพระเอกในช่วงยุค 90 กันบ้าง ที่ถ้าใครเกิดทันหรือจำได้ในยุคนั้นจะมีความหลากหลายของการ์ตูนมาก ๆ ทั้งแบบต่อสู้จริงจังของลูกผู้ชาย สายหุ่นยนต์เลือดเหล็ก นักเลงต่อยตี ไปจนพลังกลุ่มลูกผู้ชาย ซึ่งหนึ่งในรูปแบบที่หลากหลายนั้นก็มีพระเอกแนวหนึ่งที่โดดเด่นออกมาจนมีชื่อเสียง หนึ่งในนั้นก็คือพระเอกจากเรื่อง ‘City Hunter’ การ์ตูนเก่าที่ในยุคนี้หลายคนน่าจะรู้จักในฐานะซีรีส์คนแสดง ที่กล่าวถึงมือปืนสุดเก่งที่มีฝีมือยิงปืนไม่เป็นสองรองใคร ที่มาพร้อมกับสาวน้อยที่วิ่งถือค้อนไล่ทุบพระเอก อย่าง ซาเอบะ เรียว (Saeba Ryo) ชายชุดสีแดงมาดเท่รูปหล่อโดนใจสาว ๆ ที่นั่นเป็นแค่ภายนอกเท่านั้น เพราะตัวตนจริง ๆ ของแกนั้นเป็นคนลามกชนิดที่ว่าเห็นคนสวยจะวิ่งเข้าไปลวนลาม แบบไม่สนสี่สนแปดใด ๆ ทั้งสิ้น ที่ในสมัยนี้เราจะเรียกการกระทำนี้ว่าการคุกคามทางเพศที่ผู้หญิงจะตกเป็นผู้ถูกกระทำ ที่ถ้าใครไม่เคยดูอาจจะคิดว่านั่นเป็นแค่การแสดงบังหน้าเท่านั้น ที่ต้องบอกเลยว่าไม่ใช่พี่แกหื่นโรคจิตของจริง (ถ้าผู้หญิงยอมพี่แกก็พร้อมรบ) ซึ่งพอเรื่อง ‘City Hunter’ ถูกซื้อสิทธิ์มาทำซีรีส์หรือแม้แต่อนิเมะเอากลับมาทำใหม่ก็ไม่ใครเอาความลามกส่วนนี้ของพระเอกมาเลย แม้แต่ในอนิเมะที่เอามาทำใหม่ก็ลดความลามกโรคจิตไป ที่จะว่าไปตาเรียวก็เข้าข่าย ‘Beauty Privilege’ ได้เหมือนกัน เพราะพี่แกโคตรหล่อโคตรเก่งแต่โคตรลามกคนเลยไม่ว่าอะไร (หมายถึงคนยุคนั้นไม่ว่าอะไร) แต่ถ้าเป็นยุคนี้รับรองโดนด่ายับแม้จะหล่อขนาดไหนก็เถอะ

หญิงสาวเป็นเครื่องตอบสนองทางเพศให้กับตัวละครตาเฒ่าลามก Dragon Ball

ต่อเนื่องจากหัวข้อที่แล้วที่ถ้าเราเปลี่ยนจากพระเอกสุดหล่อแต่เก่งอย่างซาเอบะ เรียว มาเป็นตาแก่ลามกอย่างผู้เฒ่าเต่าในซีรีส์ ‘Dragon Ball’ ที่ระดับความลามกก็เกือบเท่า ๆ กับตาเรียวของเรา (แต่เรียวหนักกว่าเพราะทางนั้นถึงเนื้อถึงตัวทำได้ทำเลย แต่ผู้เฒ่าเต่าแค่ขอดูแอบดู) ที่ถ้าใครเคยตามข่าวมาอาจจะเคยเห็นทางญี่ปุ่นดราม่าเรื่องความลามกของผู้เฒ่าเต่า ที่ถ้ามองในแง่ของคนแก่ที่หื่นก็ผิดจริง ๆ ซึ่งในภายหลังกับภาคต่ออย่าง ‘Dragon Ball Super’ ผู้เฒ่าเต่าเราได้ทำการฝึกจนไม่สนใจสาว ๆ แล้ว (มั้ง) และไม่ใช่แค่เรื่องความลามกของชายแก่ที่ดูไม่เหมาะสม แต่ยังรวมถึงฉากแนว 18+ ที่ผู้หญิงมักตกเป็นเครื่องมือทางเพศที่ตัวละคร บลูม่า (Bulma) ในภาคแรก ๆ จะโดนหนักที่สุด ถือว่ายังโชคดีที่ฉากเหล่านี้มีแค่ในช่วงแรก ๆ ของซีรีส์ ที่ถ้ามีคนไปขุดแล้วเจอฉากที่บลูม่าถูกกระทำต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมดราม่าความเท่าเทียมเรื่องผู้หญิงเป็นแค่เครื่องมือทางเพศต้องมาแน่นอน

ฉาก 18+ ในเยาวชน Jigoku Sensei Nube และ Doraemon

ไหน ๆ ก็พูดถึงเรื่องแบบนี้แล้วก็มาต่อให้จบ กับเรื่องราวของการฉากอาบน้ำของเด็กผู้หญิงในการ์ตูนยุค 90 ที่มักจะเอาฉากเหล่านี้ใส่ลงไปอยู่เสมอ อย่างในซีรีส์ ‘Doraemon’ นี่ตัวดีเลย ที่ถ้าเรานับฉากอาบน้ำของ มินาโมโตะ ชิซุกะ (Minamoto Shizuka) ในฉบับมังงะทั้งหมดจะมีฉากอาบน้ำถึง 107 ช่อง (นับรวมถึงฉากถอดเสื้อเปลี่ยนชุดด้วย) นี่ยังไม่นับในฉบับอนิเมะที่มีฉากเหล่านี้จนกลายเป็นประเด็นมาแล้ว หรือจะเป็นอนิเมะอีกหนึ่งเรื่องที่มักจะใส่ฉาก 18+ ลงไปในตัวละครเด็กประถม (ย้ำว่าตัวละครในเรื่องนี้คือเด็กประถม) กับเรื่อง “นูเบมืออสูรล่าปีศาจ” หรือในชื่อญี่ปุ่นอย่าง ‘Jigoku Sensei Nube’ ที่บอกเล่าเรื่องราวของคุณครูที่มีมือข้างซ้ายเป็นมือปีศาจเพื่อช่วยเด็ก ๆ ปราบปีศาจ ที่ในเรื่องมักจะใส่ฉากแนว 18+ ลงไปเสมอ ที่ในฉบับอนิเมะเองก็มีให้เห็นบ้างแต่เบากว่าในมังงะที่จัดเต็มมาก ๆ ที่ถ้าถามว่ามันมีได้ไหมก็บอกว่ามีได้แต่ก็ไม่ควรมีฉากเหล่านี้กับเด็กประถม ซึ่งก็เรียกว่าโชคดีที่การ์ตูนเรื่องนี้โด่งดังในยุค 90 ถ้ามาดังตอนนี้คงไม่รอดแน่ ๆ ส่วนภาคใหม่ ๆ ของเรื่องนูเบมืออสูรล่าปีศาจก็คงยังมีฉากเหล่านี้อยู่แค่ไม่เป็นกระแสเท่านั้น (ไม่มีรูปประกอบไม่ต้องรอดูเลย)

การทารุณกรรมสัตว์ JoJo’s Bizarre Adventure

อีกสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ในยุคนี้นั่นคือการทารุณกรรมสัตว์ในการ์ตูน ที่ในสมัยนี้ก็แทบจะไม่มีอนิเมะมังงะเรื่องไหนทำแล้ว ที่แม้จะไม่มีใครออกมาห้ามหรือบอกว่าผิดก็เถอะ แต่ไม่ว่ายังไงมันก็ดูไม่ดีเมื่อเทียบกับวิดีโอเกมก็คงจะมีแนวคิดคล้าย ๆ กัน คือมันไม่ผิดไม่ได้ห้ามแต่ก็ไม่ควรมีจะดีกว่า แม้แต่ในช่วงยุค 90 เองก็แทบไม่มีมังงะอนิเมะเรื่องไหนที่จะรังแกสัตว์แบบโจ่งแจ้ง แต่ถ้าถามว่ามีไหมก็คงต้องบอกว่า อย่างซีรีส์ที่เราหลายคนชื่นชอบอย่าง ‘JoJo’s Bizarre Adventure’ หรือชื่อไทยอย่าง “โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ” ที่มีน้องหมาถูกกระทำเยอะมากอย่างหมาที่ถูกเย็บปากจับใส่เตาเผา (เห็นแค่เตาเผาก็พอ) หรือจะเป็นหมาที่ถูกนกเหยี่ยวตัดคอ หมาน้อยที่ถูกผู้ชายเตะจนตายคาเท้า หรือจะเป็นฆาตกรโรคจิตที่จับหมาน้อยมากินเล่น (เพื่อ) นี่ยังไม่นับหมาที่มาในรูปแบบวิญญาณที่น้องถูกปาดคอตายอย่างน่าสงสาร และอีกหลายหมาที่ตายในเรื่องนี้เรื่องเดียว (นี่ยังไม่นับแมวที่โดนอีกนะ) ที่โชคดีในภาคหลัง ๆ อาจารย์แกไม่ได้ใส่พวกนี้ไปแล้วไม่อย่างนั้นคงเป็นเรื่องแน่นอน

ล้อเลียนเพศสภาพ Ranma ½

อันนี้แล้วแต่คนจะตีความกันไป เกี่ยวกับการล้อเลียนเพศสภาพของตัวละครในเรื่อง ‘Ranma ½’ หรือชื่อไทยอย่าง “รันม่า 1/2 ไอ้หนุ่มกังฟู” อนิเมะมังงะชื่อดังในยุค 90 ที่บอกเล่าเรื่องราวของ ซาโอโตเมะ รันม่า (Saotome Ranma) ชายหนุ่มที่เมื่อโดนน้ำเย็นจะกลายเป็นผู้หญิงแต่เมื่อโดนน้ำร้อนจะกลายเป็นผู้ชาย เพราะทั้งคู่ไปฝึกวิชาที่บ่อน้ำต้องสาปจนตกลงไปในนั้น (พ่อตกลงไปในบ่อหมีแพนด้า) ที่เรื่องราวความคิดเรื่องล้อเลียนมันอยู่ตรงที่การกระทำของรันม่าตอนเป็นผู้หญิง ที่มักจะถอดเสื้อและทำกิริยาที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ นี่ยังไม่นับการใช้รูปร่างหน้าตาในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่เหมือนเป็นการล้อเลียนเพศที่สาม ที่ถ้าเรามองแบบผ่าน ๆ ของคนที่ไม่เคยดูเรื่องนี้ก็อาจจะคิดว่าแปลกดี แต่ถ้าคุณได้ลองอ่านลองดูอนิเมะเรื่องนี้คุณจะรู้เลยว่าในเรื่อง ‘Ranma ½’ ล้อเลียนเพศที่ 3 เยอะขนาดไหน นี่ยังไม่นับตาแก่ลามกอีกนะเรียกว่ามาครบเลยทีเดียวสำหรับเรื่องนี้

ความรักต่างวัย Sailor Moon

ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาเราต้องยอมรับก่อนว่าเรื่องราวในอนิเมะมังงะ ‘Sailor Moon’ ถือเป็นการ์ตูนที่เปิดเผยและเอาใจผู้มีความหลากหลายทางเพศมากที่สุด ที่ถ้าใครเกิดทันก็น่าจะรู้ว่าในยุค 90 นั้นการเป็นเพศที่ 3 คือเรื่องน่าอาย อาจจะถูกล้อเลียนจากสังคมถูกจัดให้อยู่ในหมวดตัวตลกที่ถูกกระทำแล้วคนดูขำ ไปจนถึงตัวประกอบที่ใส่มาเพื่อให้ถูกรังแก ที่คนในยุคนั้นต่างขบขันกับมุกแบบนี้ แต่ในซีรีส์ ‘Sailor Moon’ กลับใส่ความเป็นตัวตนของเพศที่สามลงไปได้อย่างลงตัวไม่รู้สึกยัดเยียด แต่ถึงอย่างนั้นในซีรีส์นี้ก็ยังมีบางสิ่งที่ทำให้เราต้องคิดตาม นั่นคือความรักต่างวัยของ สึคิโนะ อุซางิ (Tsukino Usagi) นางเอกของเรื่องกับ จิบะ มาโมรุ (Chiba Mamoru) พระเอกของซีรีส์ ที่ถ้ามองผ่าน ๆ คู่นี้ก็น่ารักดีเป็นคู่ที่เหมาะสม แต่เราก็อย่าลืมว่าตัวมาโมรุนั้นเป็นหนุ่มมหาลัยที่อายุราว ๆ 20 กว่า ๆ (ในข้อมูลไม่ได้บอกอายุเอาไว้) ขณะที่ตัวนางเอกของเรานั้นเป็นเด็กมัธยมต้นที่อายุเพียง 13 ถึง 15 ปีเท่านั้น ที่ถ้ามองในแง่ของการคบกันมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไรที่จะมีแฟนเด็กกว่า แต่ในเนื้อเรื่องฉบับมังงะมันไปไกลกว่านั้นแล้ว ที่ถ้าเป็นยุคนี้คงเป็นการพรากผู้เยาว์แบบไม่ต้องสงสัย แต่เนื้อหาในส่วนนี้ในอนิเมะจะไม่พูดถึง (รอดไป)

ผู้หญิงในรูปแบบหุ่นยนต์ Cobra และ Great Mazinger

ปิดท้ายกับเรื่องราวของหญิงสาวอีกครั้ง แต่คราวนี้จะเป็นตัวละครหุ่นยนต์ผู้หญิงในการ์ตูนยุค 90 ที่ตามปกติพวกเธอเหล่านั้นแทบจะไม่มีบทบาทในเรื่องอยู่แล้ว เพราะในยุคนั้นเราถือคติชายเป็นใหญ่ผู้หญิงคือช้างเท้าหลัง จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นเหล่าตัวละครหญิงเป็นแค่ผู้ช่วย หรือถ้าจะมีบทบาทขึ้นมาในฐานะผู้ช่วยที่เป็นหุ่นยนต์ เธอเหล่านั้นก็จะถูกออกแบบมาโดยเน้นความเป็นเพศหญิงแบบน่าเกลียด แถมยังล้อเลียนการแสดงออกไปทางเพศแบบชัดเจน ยกตัวอย่างหุ่นยนต์ในซีรีส์ ‘Great Mazinger’ ซึ่งมีหุ่นยนต์ผู้ช่วยที่ชื่อว่า วีนัส (Venus) ที่มาพร้อมรูปร่างหน้าตาและหน้าอกแบบผู้หญิงแบบชัดเจน จนเราอยากถามอาจารย์คนออกแบบว่าท่านใช้อะไรคิดออกแบบตัวละครอย่างนี้ออกมา ยังไม่พอยังมีหุ่นผู้หญิงอีกตัวที่มีรูปร่างคล้ายกัน และทั้งคู่สามารถปล่อยจรวดทางหน้าอกได้ (รูปประกอบด้านล่าง) หรือจะเป็นการ์ตูนอีกเรื่องที่มีผู้ช่วยเป็นหุ่นยนต์ผู้หญิงเหมือนกันอย่าง อาร์มานอยด์เลดี้ (Armanoid Lady) ที่ก็มีบทบาทไม่ต่างกับวีนัสใน ‘Great Mazinger’ ที่มาในรูปแบบผู้ช่วยสาวสวย (แต่เป็นหุ่น) ที่บ่งบอกถึงเรื่องมุมมองเรื่องเพศในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ที่ถ้าเป็นยุคนี้คงโดนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศไปแล้ว

ก็จบกันไปแล้วกับประเด็นดราม่าเล็ก ๆ กับหัวข้อที่ว่า “ถ้าการ์ตูนเก่าในอดีตมาโด่งดังในยุคนี้คงมีประเด็นดราม่าตามมาแน่” ซึ่งต้องบอกก่อนว่าเนื้อหาของบทความนี้เราไม่ได้ต้องการก่อดราม่าหรือสร้างประเด็นอะไร แต่เราแค่หยิบมุมมองความคิดของสังคมในยุค 90 ที่สะท้อนผ่านการ์ตูนต่าง ๆ มาพูดถึงเท่านั้น เพื่อให้หลายคนที่เกิดไม่ทันทราบว่าสิ่งเหล่านี้มันมีมานานแล้ว และยังคงอยู่ในสังคมเพียงแค่มันไม่เป็นประเด็นเท่านั้น เอาเป็นว่าอ่านกันเอาสนุกเป็นความรู้ก็แล้วกันอย่าไปจริงจังมาก (แค่รู้ว่ามีก็พอ) ซึ่งถ้าถามว่ามันดูเลวร้ายไหมก็ต้องบอกว่าไม่ดีแต่ก็ไม่ถึงขั้นเลวร้าย เพราะเด็กที่เติบโตมาในยุคนั้นก็เข้าใจมุมมองความคิดและการเปลี่ยนไปของโลกยุคนี้ และพร้อมจะทำตามแถมยังเห็นด้วยกับความเท่าเทียมทางเพศ ยอมรับความต่างและต่อต้านสิ่งที่ผิด ส่วนในอดีตก็คืออดีตตอนนี้หลายเรื่องก็ปรับปรุงแล้วแค่รู้ว่ามันเคยมีก็พอ หวังงาสคนอ่านจะเข้าใจสิ่งที่บทความนี้สื่อออกมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง