สธ.ปรับระดับ3 เตือนภัยโควิด ชี้ 54 จว.ขาลง จ่อเข้า 'โรคประจำถิ่น' ผับบาร์ รอ ศบค.เคาะ!
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ภาพรวมการติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกลดลง ผู้ติดเชื้อใหม่ไม่ถึง 3 แสนราย แต่หลายประเทศในทวีปอเมริกา และยุโรป ยังพบติดเชื้อวันละหมื่นราย โดยผู้เสียชีวิตเริ่มลดลง ส่วนทวีปเอเชียการติดเชื้อสอดคล้องกับทั่วโลก ประเทศที่ยังพบมาก เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ขณะที่ไทยอยู่ระดับปานกลาง วันนี้รายงานติดเชื้อใหม่ 6,488 ราย เสียชีวิตจากโควิด-19 โดยตรง 55 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบลดลงเหลือ 1,522 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจจากเดิมพันกว่าราย วันนี้ลดเหลือ 738 ราย
นพ.โอภาส กล่าวว่า ทั้งนี้ ตามที่กังวลว่าหลังเทศกาลสงกรานต์จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่จากความร่วมมือทุกภาคส่วน ทำให้เราควบคุมได้ดีไม่มีการระบาดใหญ่ตามมา เป็นที่มาที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือ อีโอซี (EOC) ประกาศลดระดับการเตือนภัยจากระดับ 4 เหลือระดับ 3 ตามที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ประธานที่ประชุมฯ ประกาศเตือนภัยระดับ 4 ไว้เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในการงดไปสถานที่เสี่ยง ร่วมกลุ่มจำนวนมาก การเดินทางเข้าจังหวัดและการข้ามประเทศ อย่างไรก็ตาม การเตือนภัยเป็นส่วนของ สธ.ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมาตรการบังคับของศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.)
“ในวันที่มีการระบาดเยอะ เราเตือนระดับ 4 วันนี้เราขอเตือนลดเป็นระดับ 3 ในส่วนของสถานที่เสี่ยงก็จะอยู่ที่สถานบันเทิง หลีกเลี่ยงเข้าพื้นที่แออัด ส่วนกิจกรรมอื่นๆ สามารถทำได้ แต่ขอเน้นย้ำในกลุ่มผู้อายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่ได้วัคซีนโควิด-19 ครบตามเกณฑ์อย่างน้อย 3 เข็ม ยังให้เลี่ยงไปสถานที่แออัด หรือเดินทางข้ามจังหวัดและเข้าออกประเทศ ส่วนคนทั่วไป รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม ทำกิจกรรมได้ใกล้เคียงปกติมาขึ้นเรื่อยๆ” นพ.โอภาส กล่าว
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า ตามฉากทัศน์ที่ได้คาดการณ์ไว้พบว่า แนวโน้มทั้งการติดเชื้อ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตเส้นกราฟลดต่ำลงเรื่อยๆ มีแนวโน้มดีขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น ตามแผนการทำให้เป็นโรคประจำถิ่น ( Endemic) หรือ Post pandemic แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยในเดือนพฤษภาคม อยู่ระยะทรงตัว (Plateau) พบว่า 23 จังหวัด มีสถานการณ์คงตัว ประกอบด้วย พะเยา ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท กำแพงเพชร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุดรธานี หนองลัวลำภู สกลนคร นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ยโสธร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และมุกดาหาร อีก 54 จังหวัด ดีขึ้น จำนวนติดเชื้อลดลงชัดเจน ฉะนั้น แนวโน้มต่างๆ เข้าสู่ระยะหลังระบาดใหญ่เต็มที
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 จะมีหมุดหมายเรื่องของการเปิดเรียน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม โดยครูและบุคลากรมีการฮีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วมากกว่าร้อยละ 90 ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปีมีการฉีดครบ 2 เข็มแล้วมากกว่าร้อยละ 90 เพราะฉะนั้นต้องฉีดเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) โดยหากเป็นผู้ที่รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ให้รับเข็มที่ 3 เป็นไฟเซอร์ขนาดครึ่งโดส หรือเต็มโดส ส่วนผู้ที่รับวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ให้ฉีดเข็มกระตุ้นเป็นไฟเซอร์เต็มโดส ส่วนเด็กอายุ 5-11 ปี มีจำนวนเป้าหมาย 5.1 ล้านคน ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 2.8 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 54.5 และเข็มที่ 2 แล้ว 8.9 แสนคน คิดเป็น ร้อยละ 17.4 โดยสูตรฉีดเป็นไฟเซอร์ฝาสีส้ม 2 เข็ม ห่างกัน 8 สัปดาห์ หรือซิโนแวค-ไฟเซอร์(ฝาสีส้ม) ห่างกัน 4 สัปดาห์ ซึ่งมีนักเรียนที่ประสงค์รับวัคซีนสูตรนี้เพิ่มเติมจำนวน 1.6 แสนคน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการสถานบันเทิง ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้พิจารณาเปิดพื้นที่นำร่องผับ บาร์ มีความเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า จะต้องมีการหารือในที่ประชุม ศบค.อีกครั้ง แม้สถานการณ์ค่อนข้างดีขึ้น แต่ยังเปลี่ยนเร็ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันหยุดพบว่า ประชาชนเริ่มเดินทางมากขึ้น ทำกิจกรรมต่างๆ ใกล้เคียงปกติมาก แต่ยังให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง
“เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติที่สุด แต่อยากที่เน้นย้ำคือ แต่ละจังหวัดที่จะเปิด ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ไปดูกลุ่ม 608 เพื่อให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข เน้นย้ำว่า หากผู้ว่าราชการจังหวัด อยากดำเนินการมากขึ้น ซึ่งคาดว่า ศบค.จะอนุญาตเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ก็ขอให้เร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้ถึงเป้าหมายมากกว่าร้อยละ 60 เพื่อผู้ที่จะพิจารณาอนุมัติให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น” นพ.โอภาส กล่าวและว่า ขณะมี 5 จังหวัด ที่เข็มกระตุ้นค่อนข้างดี เช่น นนทบุรี และจังหวัดปริมณฑลรอบกรุงเทพมหานคร