“11 ปี แผ่นดินไหวแม่ลาว” ย้อนรอยเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของไทย

กรมทรัพยากรธรณี ได้เปิดข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ แผ่นดินไหวแม่ลาว แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศไทย โดยระบุว่า “11 ปี แผ่นดินไหวแม่ลาว” ย้อนรอยเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศไทย
“11 ปี แผ่นดินไหวแม่ลาว” แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศไทย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เวลา 18.08 น. ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.3 แมกนิจูด ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลดงมะดง อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ส่งผลกระทบรุนแรงในหลายพื้นที่ ได้แก่ อำเภอแม่ลาว อำเภอพาน และอำเภอเมือง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย
บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายมากกว่า 10,000 หลังคาเรือน โดยกว่า 100 หลังต้องรื้อสร้างใหม่ วัดและโบราณสถานได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น เศียรพระพุทธรูปหักตกลงมา และพื้นถนนแตกร้าวเป็นแนวยาวภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ขนาด 6.3 ที่เชียงรายนั้น
กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันบูรณาการข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือจากภัยแผ่นดินไหว โดยจัดทำศูนย์ธรณีเรียนรู้พิบัติภัยรายภาคในพื้นที่ อำเภอแม่ลาว และ อำเภอพาน จัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งติดตั้งเครื่องมือวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดิน (เครื่องตรวจจับแผ่นดินไหว Seismometers) ครบคลุมรอยเลื่อนมีพลังทั้งหมดในภาคเหนือ
“รอยเลื่อนมีพลัง” ภัยใกล้ตัวที่ควรตระหนัก
จากบทเรียนแผ่นดินไหวแม่ลาว เห็นได้ชัดว่า “รอยเลื่อนมีพลัง” เป็นภัยใกล้ตัวที่ควรตระหนัก กรมทรัพยากรธรณีจึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของรอยเลื่อน เช่น “กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว” พร้อมจัดทำสื่อความรู้และตัวอย่างความเสียหายที่พบจากการสำรวจภาคสนาม เพื่อใช้เป็นองค์ความรู้สำหรับประชาชนและนักวิชาการ นำเสนอในมุมมองของนักธรณีวิทยา เนื้อหาประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว การสังเกตรอยเลื่อนจากภูมิประเทศ และตัวอย่างความเสียหายที่พบจากการสำรวจพื้นที่ประสบภัย
รอยเลื่อนมีพลังของประเทศไทย
สำหรับรอยเลื่อนมีพลังของประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวรอยเลื่อนมีพลังจำนวน 16 กลุ่มรอยเลื่อนเดียวกัน โดยกลุ่มรอยเลื่อนเหล่านี้พาดผ่าน 23 จังหวัด 124 อำเภอ 421 ตำบล 1,520 หมู่บ้าน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ กรมทรัพยากรธรณีได้รวบรวมข้อมูล “รอยเลื่อนมีพลัง” ของประเทศไทยไว้ในสมุดแผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ฉบับ พ.ศ. 2566
ตรวจสอบหมู่บ้านใดมีแนวรอยเลื่อนพาดผ่าน
โดยนำเสนอข้อมูลในรูปแบบแผนที่ เข้าใจง่าย ตรวจสอบได้ว่า หมู่บ้านใดมีแนวรอยเลื่อนพาดผ่าน คลิกอ่านได้ที่ https://anyflip.com/kera/qnhe
ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรธรณี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ภาคอีสานของไทยจะเกิดแผ่นดินไหว ล่าสุดกรมทรัพยากรธรณี ชี้แจงประเด็นนี้แล้ว
เดือนกรกฎาคม 2568 จะเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ แผ่นดินไหว-สึนามิ กรมอุตุฯ เตือนเป็นข่าวปลอม
เตือนประชาชนอย่าแชร์ข่าวปลอม! ภาพพื้นที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหว