กทพ. จ่อประมูลสร้างทางด่วน เกษตร-นวมินทร์ ตีคู่รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เปิดใช้ปี 68
กทพ. เผยปีหน้าเตรียมประมูลสร้างทางด่วน เกษตร-นวมินทร์ ตีคู่รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดใช้บริการปี 68
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2563 น.ส.กชพรรณ เข็มทอง ผู้อำนวยการกองวางแผนและวิเคราะห์โครงการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วงทดแทน N1 และ N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก ว่า ขณะนี้ กทพ.ได้ ปรับแผนเป็นการก่อสร้างเฉพาะช่วง N2 แนวเส้นทางจากแยกเกษตรเชื่อมถนนกาญจนาภิเษก หรือทางพิเศษ (มอเตอร์เวย์) สาย 9 เป็นอันดับแรก
- กทม. - ดันต่อทางด่วนผ่านม.เกษตรฯ
- ปิดอีกที่! เตรียมรื้อตลาดหัวมุม เกษตร-นวมินทร์ เพื่อสร้างทางด่วน
- กทพ. ทุ่ม 8 หมื่นล้าน ลุยสร้างทางด่วน เชื่อมรามอินทรา-นครนายก-สระบุรี คาดเสร็จปี 68
เบื้องต้นพัฒนาช่วง N2 ไปก่อน เพราะช่วง N1 ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องรูปแบบก่อสร้าง โดยจะมีการเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ต้นปี 2564 เพื่อพิจารณาปรับแก้มติ คจร.ที่ก่อนหน้านี้ให้ดำเนินการก่อสร้างพร้อมกันทั้ง 2 ช่วง
น.ส.กชพรรณ กล่าวต่อว่า หาก คจร.เห็นชอบให้แก้ให้การแบ่งการพัฒนาโครงการเฉพาะช่วง N2 ได้ก่อนตามที่ กทพ. เสนอ คาดว่าจะเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กลางปี 2564 เพื่อเริ่มกระบวนการประกวดราคาจัดหาเอกชนก่อสร้างได้ภายในปี 2564 และเริ่มงานก่อสร้างต้นปี 2565 ใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปี เปิดให้บริการภายในปี 2568
รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า กทพ.ได้เสนอแผนก่อสร้างโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือมายังกระทรวงฯ แล้ว โดยจะขอปรับแก้มติ คจร.เดิม ที่อนุมัติให้ประกวดราคาก่อสร้างพร้อมกัน 2 ช่วง คือ ทดแทน N1 ที่จะพาดผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ N2 ที่เป็นทางเชื่อมจากแยกเกษตร วิ่งไปตามถนนเกษตร-นวมินทร์ และสิ้นสุดถนนกาญจนาภิเษก
สำหรับแผนก่อสร้างใหม่ กทพ.จะเสนอให้ คจร.พิจารณาอนุมัติให้ ประกวดราคาและก่อสร้างเฉพาะช่วง N2 ก่อน เพราะช่วง N1 ยังติดปัญหารูปแบบก่อสร้าง ที่ยังตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ได้ว่า จะให้ก่อสร้างเป็นโดมครอบอยู่ด้านบนทางยกระดับ หรือสร้างอุโมงค์ทางลอด
อย่างไรก็ตาม หาก คจร.อนุมัติช่วง N2 กทพ.จะก่อสร้างงานฐานรากทางด่วนไปพร้อมกับฐานรากของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดย กทพ.จะเป็นผู้ประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างฐานรากของทั้งสองโครงการ และเรียกจัดเก็บค่าก่อสร้างจาก รฟม.ในภายหลัง เพราะทั้งสองโครงการจะใช้ฐานรากร่วมกันตามแนวก่อสร้างทางด่วน N2
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า แนวเส้นทางช่วง N2 จะมีจุดเริ่มต้นโครงการ ทางขึ้น-ลงแห่งที่ 1 อยู่บริเวณถนนเกษตร-นวมินทร์ เลยทางลอดอุโมงค์เกษตรมาราว 200 เมตร หรืออยู่ช่วงก่อนถึงตึก RS หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะคร่อมไปตามถนนเกษตร-นวมินทร์ ก่อนจะเป็นทางแยกเชื่อมไปยังทางต่างระดับฉลองรัช และไปสิ้นสุดโครงการเชื่อมเข้าสู่มอเตอร์เวย์ สาย 9 โดยจะเป็นโครงการที่จะเชื่อมต่อการเดินทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดได้มาก