รีเซต

เจาะลึกข้อมูล Sputnik-V วัคซีนต้านโควิด-19 ตัวแรกของโลก

เจาะลึกข้อมูล Sputnik-V วัคซีนต้านโควิด-19 ตัวแรกของโลก
TNN ช่อง16
13 สิงหาคม 2563 ( 14:28 )
450
เจาะลึกข้อมูล Sputnik-V วัคซีนต้านโควิด-19 ตัวแรกของโลก

วันนี้ (13ส.ค.63) รัสเซียมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก คือเกิน 9 แสนคนเรียบร้อยแล้ว และเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่เดินหน้าพัฒนาและผลิตวัคซีนของตนเองมาจนกระทั่งประกาศว่านี่คือวัคซีนต้านโควิด-19 ตัวแรกของโลก 

วันนี้พามาทำความรู้จัก “วัคซีน Sputnik-V” ตัวนี้กันให้มากขึ้น

ใครเป็นผู้ผลิต? 

-สถาบันวิจัย Gamaleya ของทางการรัสเซียในกรุงมอสโกว เป็นผู้พัฒนาวัคซีนตัวนี้ ร่วมกับกระทรวงกลาโหมรัสเซีย และกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัสเซีย หรือ RDIF เป็นผู้ออกเงินทุน 

-RDIF และพันธมิตร ได้ลงทุนในโครงการผลิตวัคซีนนี้มากกว่า 4,000 ล้านรูเบิล หรือรวา 16.5 ล้านบาท 

-วัคซีนตัวนี้ ได้ผ่านการทดลองใน 2 ระยะ ในช่วงเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม โดยการทดรองระยะแรกกับอาสาสมัคร ซึ่งเป็นประชาชน 38 คน และทหาร 38 นาย (รวม 76 นาย) และในระยะที่ 2 ทดลองในอาสาสมัคร 100 คน 

-ส่วนการทดลองในมนุษย์ในระยะที่ 3 (เฟสที่ 3) ซึ่งจะต้องทำการทดลองในคนหลายพันคน ได้เริ่มต้นแล้ว พร้อม ๆ กับการจดทะเบียนรองรับ และอนุมัติวัคซีนตัวนี้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทั้งในรัสเซียเอง และจะนำไปทดลองในประเทศอื่น ๆ อีก เช่น ซาอุดิอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรต และฟิลิปปินส์ 

ข้างต้นนี้เป็นการกล่าวอ้างจากรัสเซีย  แต่ทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เปิดเผยรายงานความคืบหน้าวัคซีนล่าสุดวันที่ 31 กรกฎาคม กลับพบว่า วัคซีนตัวนี้ของรัสเซีย เพิ่งอยู่ในขั้นการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 เท่านั้น

ผลิตอย่างไร? 

-วัคซีน Sputnik-V นี้ ใช้วิธีการผลิตที่เรียกว่า Viral vector vaccine คือ การใช้ไวรัสที่ทำให้อ่อนลงแล้วไม่ทำให้เกิดโรค มาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของ coronavirus ลงไป เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน – เช่น วัคซีนอีโบลา ใช้วิธีนี้ 

-ซึ่งวัคซีนของ Cansino ของประเทศจีน เองก็ใช้วิธีการในการผลิต และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกัน

มีใครได้รับการฉีดแล้วบ้าง? 

-Alexander Gintsburg ผู้อำนวยการของสถาบัน Gamaleya บอกว่า เหล่านักวิทยาศาสตร์ของสถาบันได้ทำการฉีดวัคซีนตัวนี้แล้ว – แต่ผู้เชี่ยวชาญวิจารณ์ว่า วิธีการของพวกเขานั้น “นอกรีต” และเร่งรีบจนเกินไป 

-Kirill Dmitriyev. ผู้อำนวยการของกองทุน RDIF ก็บอกว่าคนในครอบครัวของเขาก็ได้รับการฉีดวัคซีนนี้เช่นกัน

-ประธานาธิบดีปูติน แถลงเมื่อวันอังคารว่า ลูกสาวคนหนึ่งของเขา ก็ได้รับการฉีด แต่ไม่เปิดเผยวันและเวลาการฉีด โดยบอกเพียงว่า หลังจากฉีดทั้ง 2 ครั้ง ลูกสาวมีไข้ 38 องศา แต่วันถัดมาก็กลับมาเป็นปกติ 

-สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า อาจมีนักการเมืองรัสเซียและนักธุรกิจหลายร้อยคน ที่ได้รับการฉีดวัคซีนตัวทดลอง ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ด้วยซ้ำ โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนบางคนบอกว่า มีไข้ และปวดกล้ามเนื้อหลังฉีด ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งที่ไม่เปิดเผยตัวตน บอกเพียงว่า เขาไม่มีอาการข้างเคียงใด ๆ

แล้วมันปลอดภัยหรือไม่? 

-แน่นอนว่าผู้พัฒนาย่อมต้องยืนยันว่าวัคซีน Sputnik-V นี้ปลอดภัยดี และปูตินก็บอกว่า “มันมีประสิทธิภาพดีทีเดียว” และยังทำให้เกิด “ภูมิคุ้มกันที่คงที่” ด้วย 

-ด้านนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกต่างแสดงความกังวลถึง “ความเร่งรีบ และรวดเร็ว” ในการผลิตวัคซีนของรัสเซีย ซึ่งอาจทำให้นักวิจัยรัสเซียได้ตัดลดขั้นตอนหลายขั้น จากแรงกกดดันของทางการเพื่อให้ได้วัคซีนออกมา 

-แม้แต่นักไวรัสวิทยาของรัสเซีย ก็ยังเตือนว่า วัคซีนนี้อาจเป็นอันตรายต่อประชาชนที่มีแอนติบอดี้ต้านไวรัสอยู่แล้ว 

-ส่วน WHO ก็ขอให้รัสเซียเดินหน้าตามขั้นตอนในไกด์ไลน์ ให้ครบทุกกระบวนการที่สำคัญในการผลิตวัคซีนเพื่อความปลอดภัย  และการที่ WHO จะประทับตรารับรองวัคซีนนั้น จะต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอนของการทดลอง 

-รัฐมนตรีสาธารณสุขรัสเซีย บอกว่า การทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3 นั้น ก็จะดำเนินต่อไปพร้อมกับการผลิตวัคซีน

ชาวโลกจะได้ใช้เมื่อใด? 

-หลังจากที่จดทะเบียนรับรอง โดยกระทรวงสาธารณสุขรัสเซียไปแล้ว และประกาศจะให้ประชาชนได้ใช้กันในวันที่ 1 มกราคม 2021

-และจะฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนกันยายน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีมากกว่า 20 ประเทศแล้วที่ได้สั่ง พรีออร์เดอร์จากรัสเซีย รวมกว่า 1 พันล้านโดส 



เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com 
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live 
twitter : TNNONLINE 
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE 
Instagram : TNN_ONLINE 
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง