โควิด-19 : ศบค.เผยตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนากว่า 5 หมื่นตัวอย่างในรอบ 1 เดือน

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงวันนี้ (5 พ.ค.) ว่าพบผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 1 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต เผยตรวจหาเชื้อกว่า 50,000 ตัวอย่างในรอบหนึ่งเดือนเพื่อยืนยันว่าพบผู้ป่วยรายใหม่น้อยไม่ใช่เพราะตรวจหาเชื้อน้อย
"อาจเป็นเพราะเราใส่หน้ากากอนามัยกันมาตั้งแต่ต้นหรือเปล่าที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้มีแค่ 1 ราย" นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวในช่วงเริ่มต้นของการแถลงสถานการณ์ประจำวัน ก่อนจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าผู้ป่วยรายล่าสุดที่ได้รับการยืนยัน 1 รายนี้เป็นชายไทย อายุ 45 ปี ชาว จ.นราธิวาส มีโรคประจำตัวคือเบาหวาน เข้ารับการรักษาด้วยอาการไข้ ไอ เหนื่อย เจ็บคอ
- โควิด-19 : ตรวจน้อยหรือคุมได้ดี อะไรทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยลดลง
- โควิด-19 : จำนวนผู้ต้องกักใน ตม.สะเดาที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่มจาก 42 เป็น 60 รายในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์
- โควิด-19 : ผลสำรวจชี้คนอังกฤษ-อเมริกัน "กลุ้มจัด" ช่วงล็อกดาวน์ ส่วนคนไทยยังเป็นสุข
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่าผู้ป่วยรายนี้มีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อหลายประเด็น ทั้งการเดินทางไปศาสนสถาน การร่วมศาสนพิธีในต่างประเทศ และมีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อในชุมชน ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนโรค ขณะนี้ไทยมีผู้ป่วยสะสม 2,988 ราย รักษาหาย 2,747 ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยายาล 187 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 54 ราย
ตรวจไปแล้วกี่ราย?
นพ.ทวีศิลป์ให้ข้อมูลว่าระหว่างวันที่ 7 เม.ย.- 4 พ.ค. มีการตรวจหาเชื้อในผู้ที่มีอาการตามนิยามเฝ้าระวังทั้งหมด 50,741 ราย ในจำนวนนี้พบผู้ติดเชื้อ 767 ราย คิดเป็นอัตราการพบเชื้อเป็นบวก 1.51% และจนถึงขณะนี้มีการตรวจหาเชื้อไปแล้วทั้งหมดมากกว่า 200,000 ตัวอย่าง
นอกจากนี้ โฆษก ศบค.ยังได้เผยแพร่กราฟที่ยืนยันว่าจำนวนผู้ที่มีอาการตามนิยามเฝ้าระวังที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นับจากวันแรกที่เริ่มมีการตั้งห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เมื่อวันที่ 4 ม.ค. โดยตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.จนถึงขณะนี้ มีผู้เข้าเกณฑ์ที่ได้รับการตรวจอยู่ระหว่าง 2,000-4,000 รายต่อวัน
กรณียะลา
สำหรับกรณีการตรวจหาผู้ติดเชื้อใน จ.ยะลา ซึ่งพบว่าผลการตรวจมีความคลาดเคลื่อน ทำให้มีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อ 40 คน แต่ผลการตรวจซ้ำพบว่าผลเป็นลบนั้น กระทรวงสาธารณสุขยังอยู่ระหว่างการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งทำการเก็บตัวอย่างจากประชาชนเพื่อนำไปตรวจซ้ำอีกครั้ง โดยในช่วงบ่ายวันนี้ สธ.จะมีการแถลงเรื่องนี้อย่างละเอียด
เผยผลสำรวจความร่วมมือของประชาชน
โฆษก ศบค.รายงานผลการสำรวจออนไลน์ที่จัดทำโดย สธ.ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เรื่องความร่วมมือของประชาชนในการ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" ตลอดเดือนเม.ย. พบว่า
ผู้ตอบแบบสอบถาม 99,865 ราย หญิง 71.6% ชาย 28.4% ทั้งที่เป็นข้าราชการของรัฐ พนักงาน ลูกจ้าง ค้าขาย และอื่น ๆ
- 99.8% เข้าใจว่าควรอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติอย่างไร
- 93.8% คิดว่ามาตรการดังกล่าวช่วยลดการระบาดของโรค
- 91.2% ใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า
- 87.2% ล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์
- 86.1% กินร้อนช้อนตัวเอง
- 65.3% รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร
- 62.9% ไม่เอามือจับหน้า จมูก ปาก
นพ.ทวีศิลป์ ชี้ว่าเป็นเรื่องที่ดีที่การสวมหน้ากากอนามัยสูงกว่า 90% ซึ่งเป็นเกณฑ์ความร่วมมือที่รัฐต้องการให้ประชาชนปฏบัติให้ได้ เพื่อป้องกันการระบาดของโรค แต่การปฏิบัติตามมาตรการอื่น ๆ เช่น การรักษาระยะห่างและการไม่เอามือสัมผัสบริเวณใบหน้ายังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะเป็นเหตุให้ติดเชื้อได้ทั้งสิ้น
การสำรวจยังพบว่า ประชาชนกว่า 69.9% ต้องการให้เปิดตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ขณะที่ 45.7% อยากให้เปิดร้านตัดผม คลินิกเสริมความาม นวดแผนโบราณ สปา
ขณะที่สถานที่ที่ประชาชนเห็นว่าไม่อยากให้เปิด กว่า 90.5% คือ สนามมวย สนามกีฬา สนามแข่งขัน สนามม้า รองลงมาเป็ฯบรรดาสถานบันเทิงต่าง ๆ รวมถึงโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานที่ออกกำลังกาย แหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
