เมื่อมีการแจ้งเตือน จะรับมือน้ำท่วมอย่างไร?
ข่าววันนี้ จากเหตุการณ์น้ำท่วมล่าสุด ที่มากับฤดูฝนบวกกับพายุโซนร้อนที่เข้ามากระหน่ำไม่ขาดสาย สร้างความเสียหายให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ หากเราไม่รู้จักวิธีรับมือก็อาจทำให้เราสูญเสียทรัพย์สิน แม้กระทั่งอันตรายถึงชีวิต วันนี้ trueID รวบรวมคำแนะนำดีๆ มาให้ทุกคนหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันดังกล่าว
เมื่อมีการแจ้งเตือน จะรับมือน้ำท่วมอย่างไร?
AFP
การแจ้งเตือนน้ำท่วมแบ่งเป็นกี่ระดับ
การแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมจะมีระดับการเตือนภัยน้ำท่วม เป็น 4 ระดับ คือ
- การเฝ้าระวังน้ำท่วม : มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วมและอยู่ในระหว่างสังเกตการณ์
- การเตือนภัยน้ำท่วม : เตือนภัยจะเกิดน้ำท่วม
- การเตือนภัยน้ำท่วมรุนแรง : เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง
- ภาวะปกติ : เหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ หรือเป็นพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม
การวางแผนรับมือน้ำท่วมหลังได้รับการเตือนภัยน้ำท่วม
กรณีฉุกเฉินมีเวลาเล็กน้อยหลังการเตือนภัย
- ติดตามสัญญาณเตือนภัยฉุกเฉิน จากสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ที่เกาะติดรายงานสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะรายงานข่าวที่เกาะติดในพื้นที่จากเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เป็นต้น website หน่วยงานที่ดูแล เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th , กรมชลประทาน www1.rid.go.th/main/index.php/th กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย www.disaster.go.th
- สังเกตระดับน้ำและความผิดปกติ จากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้ๆ เช่น แม่น้ำ คลอง
- เตรียมสถานที่สองแห่ง เป็นที่นัดหมายสำหรับสมาชิกในครอบครัวสามารถพบกันได้หากพลัดหลง โดยสถานที่แรกให้อยู่ใกล้บริเวณบ้าน และอีกสถานที่อยู่นอกพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง
- ถ้ามีการเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน และหากอยู่ในพื้นที่หุบเขาให้ปฎิบัติดังนี้
• ปีนขึ้นที่สูงให้เร็วสุดเท่าที่จะทำได้
• อย่าพยายามนำสัมภาระติดตัวไปมากเกินไป ให้คิดว่าชีวิตสำคัญที่สุด
• อย่าพยายามวิ่งหรือขับรถผ่านบริเวณน้ำหลาก
กรณีเตือนภัยการเฝ้าระวังน้ำท่วม ยังมีเวลาในการเตรียมแผนรับมือน้ำท่วม
- ให้เตรียมแผนเผชิญน้ำท่วม ซักซ้อมหน้าที่ของสมาชิกครอบครัว หาทางหนีทีไล่ให้เรียบร้อย โดยเน้นความปลอดภัยชีวิตเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ เรื่องทรัพย์สินเป็นเรื่องรองลงมา
- ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ให้พ้นจากระดับน้ำท่วม
- อพยพสัตว์เลี้ยงและเคลื่อนย้ายยานพาหนะไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
- ตัดกระแสไฟฟ้า ปิดสวิตซ์ไฟ สับคัตเอาท์ ป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว
- ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและแก๊ส
- เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น นกหวีด เชือก ถุงพลาสติกสีดำ กระดาษชำระ มีด ที่เปิดกระป๋อง
- เตรียมเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน โฉนดที่ดิน สุดบัญชีธนาคาร พร้อมจัดทำสำเนา และจัดเก็บไว้ในถุงพลาสติก หรือซองกันน้ำ ป้องกันเอกสารได้รับความเสียหาย
- สำรองอาหาร น้ำดื่มสะอาด ใช้การได้อย่างน้อย 3 วัน
- เตรียมยาสามัญประจำบ้านที่จำเป็นไว้ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาใส่แผล ผงเกลือแร่ไว้ในที่ปลอดภัย
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว ขอให้จัดเตรียมยาที่กินประจำไว้ใกล้ตัว หรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัยป้องกันยาสูญหาย
- จัดเตรียมระบบไฟสำรองส่องสว่างภายในบ้าน เช่นไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ เป็นต้น
- จดเบอร์โทรศัพท์เพื่อขอความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน เช่น เบอร์เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เบอร์การแพทย์ฉุกเฉิน1669 เบอร์สายด่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1784
- หากระดับน้ำท่วมสูงไม่สามารถอาศัยภายในบ้านได้ ให้ล็อคประตูบ้านและอพยพขึ้นที่สูง ถ้าไม่มีที่ปลอดภัยบนที่สูง ให้ฟังข้อมูลจากวิทยุหรือโทรทัศน์เกี่ยวกับสถานที่หลบภัยของหน่วยงานต่างๆ
- หากบ้านพักอาศัยไม่ได้อยู่ในที่น้ำท่วมถึง แต่อาจมีน้ำท่วมในห้องใต้ดิน
- ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในห้องใต้ดิน
- ปิดแก๊สหากคาดว่าน้ำจะท่วมถึง
- เคลื่อนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นข้างบน
- ห้ามอยู่ในห้องใต้ดิน เมื่อมีน้ำท่วมถีงบ้าน
สิ่งที่ต้องระวัง คือ
- ห้ามเดินตามเส้นทางที่น้ำไหล แม้ระดับน้ำจะไม่สูงก็ตาม เนื่องจากความเชี่ยวของกระแสน้ำอาจทำให้เสียหลักและล้มได้
- ห้ามขับรถในพื้นที่ที่น้ำกำลังท่วม เพื่อลดความเสี่ยงในการจมน้ำ
- ห้ามเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ เนื่องจากน้ำเป็นสื่อนำกระแสไฟได้
หน้าฝนอะไรก็เกิดขึ้นได้ อย่าคิดว่าน้ำท่วมเป็นเรื่องไกลตัว หากเราประมาทอาจทำให้เราสูญเสียได้ หากเกิดน้ำท่วมควรตั้งสติให้ดี นำวิธีการข้างต้นมาใช้จะทำให้ทุกคนรอดพ้นจากอันตรายได้
ข้อมูล : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย , กรมทรัพยากรน้ำ , Chula International Communication Center