14 นามสกุล ต้องระวัง แพ้ยาสลบเสียชีวิต ?
ศ.นพ.สมรัตน์ จารุลักษณานันท์ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับทีมข่าว tnnthailand ระบุว่า ดมยาสลบแล้วแพ้ถึงขั้นเสียชีวิต ส่งต่อทางพันธุกรรมเป็นเรื่องจริง แต่เกิดขึ้นได้น้อยมาก ซึ่งเกิดจากภาวะ Malignant hyperthermia (MH) เป็นภาวะผิดปกติที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือ อาจจะเกิดขึ้นเองในภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงของยีน เป็นโรคที่มีความผิดปกติของการควบคุมแคลเซียมบริเวณกล้ามเนื้อลาย ซึ่งเกิดจากภาวะเมตาบอลิซึมที่สูงมากจากการได้รับสารกระตุ้น เช่น ยาดมสลบ หรือยาหย่อนกล้ามเนื้อบางชนิด โดยอุบัติการณ์ พบได้น้อยมากประมาณเพียง 0.0005% ในประเทศไทยประมาณ 1 ต่อ 100,000 แต่หากเกิดขึ้นแล้วความรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้สูง
" ส่วนกรณี 14 นามสกุลนั้น เป็นเรื่องจริงบางส่วน โดย ศ.นพ.สมรัตน์ ชี้แจงว่า ตามหลักสากลจะไม่ใช้นามสกุลในการวินิจฉัย แต่วิสัญญีแพทย์ หรือ วิสัญญีพยาบาล จะประเมินผู้ป่วยก่อนผ่าตัด ด้วยการซักประวัติว่าเคยได้รับยาระงับความรู้สึกมาก่อนหรือไม่ หรือใครเคยมีภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบหรือไม่ หากพบผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวมีความเสี่ยงไวต่อยาสลบ จะเลี่ยงไปใช้ยาสลบแบบอื่นแทน "
ศ.นพ.สมรัตน์ ระบุว่า ยาที่ทำให้เกิดภาวะ MH แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ยาหย่อนกล้ามเนื้อ succinylcholine และ ยาดมสลบแบบไอระเหย inhalation anesthetic agents
ในกรณีที่เกิดภาวะ MH สามารถรักษาได้หรือไม่ ?
ศ.นพ.สมรัตน์ ชี้แจงว่า ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการไม่เหมือนกัน อาทิ ภาวะไข้สูงอย่างรุนแรง กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตลดต่ำลง ซึ่งหากพบความผิดปกติและวินิจฉัยว่าเกิดภาวะ MH แพทย์จะหยุดการใช้ยาสลบและการผ่าตัดทันที โดยจะให้ยาแดนโทรลีน (Dantrolene) เพื่อคลายกล้ามเนื้อและลดอุณหภูมิร่างกายลงด้วยการใช้แผ่นประคบเย็น พัดลม เครื่องปรับอากาศ ฉีดสารน้ำเข้าเส้นเลือดดำ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการได้ภายใน 12 - 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยาอื่นรักษาตามอาการของผู้ป่วย เช่น ยาความดัน ยาควบคุมกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น
สุดท้าย คุณหมอย้ำ ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาต้องแจ้งประวัติแก่แพทย์ให้ครบถ้วน ทั้งการแพ้ยาของตนเองและคนในครอบครัว เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้
เรียบเรียงโดย : ธัญรมณ ไพศาลสุนทรกิจ
ผู้สื่อข่าวสายสังคม คอลัมน์ ข่าวนี้จริงไหม?
ช่างภาพTNNถ่าย