รีเซต

ศบค.ขอ 15 วันประเมินตัวเลขติดเชื้อก่อนคลายล็อกเพิ่ม ตั้งเป้าต.ค.ฉีดครอบคลุมทั่วไทย 50%

ศบค.ขอ 15 วันประเมินตัวเลขติดเชื้อก่อนคลายล็อกเพิ่ม ตั้งเป้าต.ค.ฉีดครอบคลุมทั่วไทย 50%
มติชน
1 ตุลาคม 2564 ( 13:28 )
20
ศบค.ขอ 15 วันประเมินตัวเลขติดเชื้อก่อนคลายล็อกเพิ่ม ตั้งเป้าต.ค.ฉีดครอบคลุมทั่วไทย 50%

 

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)แถลงผลการประชุมศบค.ชุดเล็ก ว่า สรุปผลการฉีดวัคซีน 2,288,728 โดส ซึ่งเป็นตัวเลขสะสมจากการฉีดในวันมหิดล วันที่ 24 กันยายน กว่า 1.7 ล้านโดส ส่วนยอดการฉีดวัคซีนวันที่ 30 กันยายนอยู่ที่ 588,205 โดส

 

 

สำหรับเป้าหมายการฉีดวัคซีนในเดือนตุลาคม ต้องครอบคลุมประชากรทั้งไทยและต่างด้าว อย่างน้อยร้อยละ50 อย่างน้อยใน 1 อำเภอต้องมีความครอบคลุม ร้อยละ70 มีต้นแบบCOVID free Area นำร่องเศรษฐกิจอย่างน้อย 1 พื้นที่ซึ่งมีความครอบคลุมร้อยละ 80 เพิ่มความครอบคลุมอย่างน้อย ร้อยละ80 ในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ และครอบคลุมกลุ่มนักเรียนซึ่งจะเริ่มฉีดในสัปดาห์หน้า ตัวเลขที่สธ.สำรวจเบื้องต้นมีประมาณ 4 ล้านคน ให้ได้รับวัคซีนเข็ม 1 อย่างน้อยร้อยละ 70 ส่วนเข็มกระตุ้น เข็ม 3 บุคลากรทางการแพทย์ ถือว่าครบไปแล้ว ส่วนประชาชน ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค2 เข็ม ตั้งแต่เดือนมีนาคม ระดมฉีดตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ช่วงวันที่ 1-15 มิถุนายน จะเริ่มฉีดเข็มกระตุ้นตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม ทั้งนี้ขอให้หน่วยบริการฉีดวัคซีนตรวจสอบหลักฐานการฉีดวัคซีนเพื่อจัดสรรคิวตามวัคซีนที่ได้รับ และขอให้ติดตามอาการไม่พึ่งประสงค์ด้วย

 

 

“สธ.เน้นย้ำให้แต่ละพื้นที่เร่งสำรวจความต้องการ เพราะนอกจากจะดูอัตราผู้ติดเชื้อ อัตราการเสียชีวิต จะดูอัตราการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรในอำเภอ ของแต่ละจังหวัด เพื่อพิจารณามาตรการผ่อนคลาย รวมไปถึงการเปิดบ้านเปิดเมืองอีกด้วย”

 

 

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า สำหรับรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 1 ตุลาคม 2564 รวม 11,754 ราย หายป่วย 12,473 ราย เสียชีวิต 123 ราย เมื่อแยกรายละเอียดจะเห็นว่า ผู้เชื้อกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขติดเชื้อกรุงเทพ ฯ 1,423 ราย และมีรายงานว่าจะมีการปิดศูนย์นิมิบุตร และเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามเลิดสิน เพื่อรองรับผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง อีก 200 เตียง

 

 

สิ่งที่ศบค.ชุดเล็กเป็นห่วง คือกลุ่ม4จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา มีการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ 1,917 ราย ขณะที่รายงานผู้ติดเชื้อในจังหวัดภาคใต้คิดเป็น ร้อยละ17 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 15 รายงานผู้เสียชีวิตในจังหวัดภาคใต้สูงถึง 26 ราย ต้องเน้นย้ำการเฝ้าระวัง เข้มงวดมาตรการสาธารณสุข โดยมีรายงานเข้ามาที่ศบค. ว่าบางจังหวัดภาคใต้ประชาชนอาจละเลยไม่สวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งยังพบการเปิดร้านอาหารเกินเวลา และมีการจำหน่วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

 

“ทั้งนี้ขอให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังสถานที่ กิจการ กิจกรรมเสี่ยงอย่างต่อเนื่องและให้ยังคงมาตรการคัดกรอง ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการและประชาชน แม้วันนี้ตัวเลขจะยังทรง ๆ ไม่เพิ่มขึ้น แต่หลังจากผ่อนคลายมาตรการวันที่ 1 ตุลาคม อาจจะมีผลให้ยอดติดดเชื้อเพิ่มขึ้น ดังนั้นขอความร่วมมือกัน 15 วัน ถ้าทิศทางยังลดลง คงจะมีการผ่อนคลายที่มากขึ้น”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง