รีเซต

“MilliMobile” หุ่นยนต์สี่ล้อจิ๋ว วิ่งได้โดยไม่ต้องใช้แบตเตอรี่

“MilliMobile” หุ่นยนต์สี่ล้อจิ๋ว วิ่งได้โดยไม่ต้องใช้แบตเตอรี่
TNN ช่อง16
2 ตุลาคม 2566 ( 09:23 )
59
“MilliMobile” หุ่นยนต์สี่ล้อจิ๋ว วิ่งได้โดยไม่ต้องใช้แบตเตอรี่

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สร้างหุ่นยนต์สี่ล้อจิ๋วให้ชื่อว่า มิลลิโมบิล (MilliMobile) มาพร้อมจุดเด่นคือความสามารถในการเคลื่อนที่แบบอัตโนมัติในระยะไกลโดยไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่ เน้นการใช้งานที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางได้ไว แต่เดินทางได้ไกลแบบประหยัดพลังงานมากขึ้น 


ภาพจาก washington.edu

 

สำหรับหุ่นยนต์สี่ล้อนี้ ยังเป็นเพียงขนาดต้นแบบสำหรับการทดลองเท่านั้น โดยมันมีขนาดเล็กเพียงแค่ 10 มิลลิเมตร และหนักเพียง 1 กรัม ทำงานโดยใช้การเก็บเกี่ยวพลังงานแสงอาทิตย์ และคลื่นวิทยุมาใช้ในการขับเคลื่อน ด้านในของหุ่นยนต์ ติดตั้งมอเตอร์ 2 ตัว แผงวงจรพิมพ์แบบพับได้ เซ็นเซอร์วัดแสง แผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก เสาอากาศ และใช้วัสดุโครงสร้างเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ เพื่อให้มีน้ำหนักเบายิ่งขึ้น


และถึงแม้จะเห็นตัวเล็กจิ๋วแบบนี้ แต่ มิลลิโมบิล (MilliMobile) กลับสามารถรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 3 เท่าของตัวมันเอง และยังสามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริม เช่น กล้อง และเซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อมเข้าไปได้ด้วย


สำหรับกลไกการทำงานของมัน จะเริ่มจากการที่หุ่นยนต์จะใช้เซ็นเซอร์วัดแสงเพื่อเคลื่อนที่ไปยังแหล่งกำเนิดแสงโดยอัตโนมัติ และจะคอยดูดซับพลังงานจากแสงและคลื่นวิทยุโดยรอบในระยะทางครั้งละสั้น ๆ แต่ต่อเนื่องกัน แทนที่จะพยายามกักเก็บพลังงานให้พอสำหรับการเดินทางแบบต่อเนื่องครั้งเดียว


ภาพจาก washington.edu

 

โดยนักวิจัยได้ทดสอบการทำงานของหุ่นยนต์ ทั้งในที่ร่มและกลางแจ้ง และในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน เช่น ในสวนสาธารณะ และในอาคารสำนักงาน ซึ่งในการทดสอบที่ดำเนินการจนถึงขณะนี้ พบว่าหุ่นยนต์สามารถกักเก็บพลังงานและขับเคลื่อนตัวเองได้ แม้ในสถานการณ์ที่มีแสงน้อยมาก นอกจากนี้ มันยังสามารถถ่ายทอดข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์แสง อุณหภูมิ และความชื้น ที่ติดตั้งบนรถได้สำเร็จ และสามารถขับเคลื่อนตัวเองได้ครอบคลุมระยะทางประมาณ 30 ฟุต หรือ 9 เมตร ได้ในหนึ่งชั่วโมง


ในอนาคต หุ่นยนต์สี่ล้อจิ๋วนี้ อาจจะต่อยอดไปสู่การใช้งานร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อช่วยแบ่งปันข้อมูลการสำรวจพื้นที่แบบไร้สาย รวมถึงการใช้งานสำหรับการตรวจสอบต่าง ๆ  เช่น การตรวจสอบความชื้นในดินที่ฟาร์ม การตรวจสอบเครื่องจักรในโรงงาน หรือการค้นหาแหล่งที่มาของการรั่วไหลของก๊าซ และยังช่วยแก้ปัญหาการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้น้อยลง จากการหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์และคลื่นวิทยุได้ด้วย




ข้อมูลจาก newatlas,  sci.news, cleantechnica, washington.edu


ข่าวที่เกี่ยวข้อง