นักวิชาการติงรัฐไร้ประสิทธิภาพ ไม่ลงทุนดับไฟป่าเชียงใหม่ ฮ.ขนกระป๋องน้ำ ร้อยเที่ยว แทบไม่ช่วย
ความคืบหน้าเหตุไฟป่าพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ยังอยู่ในภาวะวิกฤตต่อเนื่อง ติดต่อกันมานานหลายวัน โดยล่าสุด เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 26 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุไฟไหม้ป่า หลังวัดพระธาตุดอยคำ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยเพลิงได้ลุกไหม้อย่างรุนแรงเป็นบริเวณกว้าง เจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าดับไฟอย่างเร่งด่วน แต่ยังไม่สามารถคุมเพลิงได้
ผลจากปัญหาไฟป่า เป็นเหตุให้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm2.5) เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ทะลุถึง 1,000 มากสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้มีการประสานเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 กองทัพบกและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบรรทุกน้ำเข้าช่วยเหลือแต่ก็ยังไม่เบาบางลง
มีความเห็นจาก รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี นักวิชาการประจำภาควิชาสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีรายละเอียดดังนี้
“มีมิตรสหายมาถามหน้าวอลเกี่ยวกับการดับไฟป่าที่ไหม้ดอยสุเทพลุกลามกว้างขวางจนเข้าวันที่สามแล้วว่า เหตุใดจึงไม่ใช้เครื่องบินขนาดใหญ่พ่นน้ำเพื่อดับไฟ ดังเช่นในออสเตรเลียกับแคลิฟอร์เนีย”
นั่นน่ะสิ จะให้ตอบว่าอย่างไรดี แทนที่จะเอาเงินภาษีประชาชนไปถลุงกับเรือดำน้ำหลายหมื่นล้านบาท ที่ไม่รู้ว่ามีประโยชน์อะไรต่อประชาชน เหตุใดจึงไม่นำมาซื้ออุปกรณ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาไฟป่า ที่เรื้อรังและลุกลามใหญ่โตกว้างขวางขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชียงใหม่
แม้ว่าปัญหาไฟป่าในออสเตรเลียกับไทย จะมีความต่างกันทั้งในแง่สเกล และระดับของความรุนแรง แต่นั่นไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลในการปล่อยให้ปัญหาไฟป่าในเชียงใหม่ กลายเป็นปัญหาระดับท้องถิ่น เพราะปัญหาที่แม้เกิดในระดับท้องถิ่นนี้ ได้ทำให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่เป็นพิษทางอากาศสูงอันดับหนึ่งของโลกติดกันมายาวนานเป็นอาทิตย์
เมื่อหันไปดูว่ารัฐบาลออสเตรเลีย ทำอะไรบ้างในการรับมือกับปัญหาไฟป่า เราจะพบความแตกต่างที่เรียกได้ว่าระหว่างฟ้ากับเหว เพราะไม่เพียงที่ปัญหาไฟป่าจะถูกยกให้เป็นปัญหาระดับชาติเท่านั้น แต่รัฐยังทุ่มเททั้งงบประมาณ กำลังคน และเทคโนโลยี เพื่อจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง และมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการผจญเพลิงนั้น คือ “ทหาร” ที่มากันทั้งสามเหล่าทัพ ในจำนวนเจ้าหน้าที่ดับเพลิงกว่า 8,000 นายทั่วประเทศนั้น มีทหารอยู่กว่า 3,000 นาย ทั้งทหารบก ทหารอากาศ และทหารเรือ ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครผจญเพลิงอื่นๆ ไม่ได้ปล่อยให้งานดับเพลิง เป็นภาระของกรมอุทยานฯเพียงหน่วยงานเดียว
นอกจากทหารจะมีบทบาทสำคัญในการจัดการปัญหาไฟป่า (ที่ไม่ใช่เอาแต่ไปข่มขู่ชาวบ้านให้เลิกเผาป่าแบบบ้านเรา) แต่ร่วมกับประชาชนในการดับไฟป่าแล้ว รัฐยังลงทุนในด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ รัฐลงทุนซื้อเครื่องบินกว่า 500 ลำ ซึ่งทั้งหมดเป็น fire bombing/air tanker หรือเครื่องบินที่ใช้เพื่อดับเพลิงโดยเฉพาะ ที่จุน้ำ/โฟม/เจลดับเพลิง ขนาดใหญ่ตั้งแต่ 44,000 ลิตร ไปจนถึง 15,142 ลิตร ที่มีไว้ทุ่มมวลน้ำขนาดใหญ่สำหรับดับเพลิงโดยเฉพาะ เฮลิคอปเตอร์ ก็เป็น fire bombing ที่สามารถทั้งบรรทุกคน เพื่อนำไปสู่จุดหมายในการดับเพลิง และทั้งบรรจุน้ำเป็นพันลิตร ซึ่งมีสมรรถนะในการดับเพลิงอย่างสูง ไม่ใช่ฮ.ที่ใช้โดยสาร แต่นำมาห้อยกระป๋องน้ำ บินแกว่งไปมาอย่างน่าเอน็จอนาถ นับร้อยเที่ยวอย่างบ้านเรา (โปรดคลิกเข้าไปดูรูปเพื่อจะได้เห็นภาพ)
ไฟป่าในออสเตรเลีย และไฟป่าที่ไหม้ดอยสุเทพ ต่างก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปีมาเป็นเวลายาวนาน แต่ในขณะที่ในออสเตรเลียนั้น รัฐมีความจริงจังในการพัฒนาแนวทางในการจัดการกับปัญหาและลงทุนกับมัน ในเชียงใหม่นั้น หลายทศวรรษของปัญหาไฟป่า เรายังคงใช้ฮ.แบบเดิม อุปกรณ์ primitive ราคาถูกแบบเดิม ส่งคนเสี่ยงตายไปดับไฟ ที่ปราศจากหลักประกันความปลอดภัย และไร้ประสิทธิภาพในการดับเพลิง มิหนำซ้ำ ยังต้องขอรับบริจาคอาหารและน้ำดื่มจากประชาชน เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเหล่านี้ ราวกับว่าปัญหานี้ ไม่เคยเป็นวาระใดๆของรัฐ และปล่อยให้หน่วยงานท้องถิ่นและอาสาสมัคร แก้ไขกันไปเองตามยถากรรม
“อ่านบทความการจัดการไฟป่าของออสเตรเลียแล้ว คำถามเดียวที่ดิฉันมีคือ กองทัพมีไว้ทำไม?”