รีเซต

คิดเห็นแชร์ : เมกะโปรเจ็กต์(Mega Project) ที่เมดอินไทยแลนด์

คิดเห็นแชร์ : เมกะโปรเจ็กต์(Mega Project) ที่เมดอินไทยแลนด์
มติชน
5 กันยายน 2563 ( 17:50 )
160

สวัสดีแฟนๆ คิด เห็น แชร์ ทุกท่านครับ ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว มีบทเพลงหนึ่งที่สะท้อนภาพของการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นบทเพลงที่ขับร้องโดยวงดนตรีคาราบาว ชื่อเพลงว่า Made in Thailand เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศไทยกำลังเริ่มการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าอย่างจริงจัง มีการออกนโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ มีการกำหนดเงื่อนไขสัดส่วนการส่งออกสำหรับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งในบางอุตสาหกรรมมีการกำหนดเงื่อนไขบังคับให้ต้องมีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบที่ผลิตในประเทศสำหรับสินค้าที่จะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ หรือที่เรียกว่า Local Content

 

ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ภาครัฐมีมาตรการใช้ตลาดในประเทศเป็นเงื่อนไขให้บริษัทรถยนต์ต่างชาติต้องประกอบรถยนต์ในประเทศ และต้องใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ ส่งผลให้เกิดรถยนต์ที่ “ผลิต-Made” “ใน-In” “ประเทศไทย-Thailand” และส่งผลให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีความเข้มแข็งทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก รวมถึงเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ที่สำคัญในภาคเศรษฐกิจของไทยตราบจนปัจจุบัน

 

มีผู้ประกอบการหลายท่านเคยถามผมว่า “มาตรการกำหนดเงื่อนไขให้ต้องมีการผลิตและใช้ชิ้นส่วนในประเทศ เป็นมาตรการที่ได้ผลดีในการสร้างการลงทุน สร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และสร้างงานในประเทศ แต่ด้วยเหตุใดกระทรวงอุตสาหกรรมจึงไม่ดำเนินการต่อ?”

 

ขอเรียนว่า เป็นเพราะข้อผูกพันของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิก WTO ทำให้จำเป็นต้องยกเลิกมาตรการนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 ตามกติกาที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ จะเหลือที่ภาครัฐยังสามารถดำเนินการได้ในปัจจุบัน เฉพาะส่วนของการกำหนดเงื่อนไขในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศทั่วโลกยังไม่ได้ลงนามในข้อตกลง Government Procurement Agreement หรือ GPA ภายกรอบใต้ WTO จึงสามารถกำหนดเงื่อนไขให้สินค้าที่ภาครัฐจะจัดซื้อ ต้องเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศและมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศได้โดยไม่ขัดต่อกฎกติกาการค้าสากล

 

จังหวะนี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยจะมีการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่ามหาศาลโดยเฉพาะใน Mega Project ต่างๆ จึงเป็นโอกาสดีที่สุด ที่จะริเริ่มการนำเงื่อนไขจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมาสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในประเทศ การใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบในประเทศ และการจ้างงานในประเทศได้ ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

 

ครั้งหนึ่ง ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศ ท่านได้สอบถามในที่ประชุมว่า การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางให้เกิดขึ้นในประเทศนั้น เป็นเรื่องที่ควรทำและดำเนินการได้ตั้งนานแล้ว แต่ทำไมที่ผ่านมาจึงยังไม่ได้ริเริ่มดำเนินการกันเสียที?

 

วันนั้นท่านจึงมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบเร่งดำเนินการให้เกิดอุตสาหกรรมระบบรางภายในประเทศโดยเร็ว เพราะอุตสาหกรรมระบบรางถือเป็นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่มีมูลค่ามหาศาล ที่กระทรวงคมนาคมสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแบบมีเงื่อนไข กำหนดให้มีการลงทุนในประเทศ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย และที่สำคัญต้องมีการประกอบตัวรถไฟภายในประเทศ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศ เพราะกระบวนการประกอบตัวรถไฟใช้องค์ความรู้ใกล้เคียงกับกระบวนการประกอบรถยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพและขีดความสามารถสูงมาก และยังสามารถทำให้ผู้ประกอบการไทยผันตัวมาผลิตและประกอบรถไฟรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบรางได้ไม่ยาก

 

นอกจากอุตสาหกรรมระบบรางแล้ว เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา กองทัพอากาศได้จัดงานประชุมสัมมนา RTAF Defence Industrial Cooperation Conference 2020 เพื่อแถลงเจตจำนงและสร้างความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่กองทัพอากาศตระหนักถึงความสำคัญและได้ดำเนินการมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี โดยมีความตั้งใจที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอากาศยานและยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในกองทัพอากาศ ผ่านกลไก Purchase and Development (P&D)

 

กล่าวคือ การจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ ที่กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และต้องให้โอกาสแก่บริษัทของไทยที่มีศักยภาพและความพร้อมเข้ามามีส่วนร่วมกับกองทัพอากาศในการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนา สร้างนวัตกรรมที่เกิดจากปัญญาของคนไทย รวมถึงบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม บีโอไอ อีอีซี และภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการผลิตอากาศยานและยุทโธปกรณ์ให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง

 

ผมดีใจและขอเอาใจช่วยให้ท่านนายกฯสามารถผลักดันนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างแบบมีเงื่อนไขให้ต้องใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศให้สำเร็จได้ในทุกโครงการ Mega Project ของภาครัฐ เพราะเงินงบประมาณที่ภาครัฐลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต

 

ถ้าภาครัฐซื้อของไทย ใช้ของไทย ด้วยปัญญาไทย จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในประเทศ ส่งผลให้จีดีพีของประเทศเพิ่มสูงขึ้น และยังเป็นการสร้างงาน เกิดอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งและก้าวสู่เป็นประเทศที่มีรายได้สูง

 

แม้ระยะเวลาจะผ่านมาเกือบ 40 ปีแล้ว แต่คำว่า Made in Thailand ยังคงเป็นกลไกที่จำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทย เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง