ฟังทางนี้!! ไม่มี 'สมาร์ทโฟน' จะลงทะเบียน 'เราชนะ' ได้อย่างไร???
จากกรณีที่ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยส.ส.ของพรรค ร่วมกันแถลงข่าว จะทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ขอให้ทบทวนการรับสิทธิตามมาตรการเราชนะเนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากเข้าไม่ถึงมือถือ ทำให้ขาดโอกาส
อ่าน : ภท.เตรียมแจ้งถึง “บิ๊กตู่” ทบทวนรับสิทธิ “เราชนะ” ชี้ ปชช.จำนวนมากเข้าไม่ถึง”มือถือ”
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า แม้ไม่มีสมาร์ทโฟน ก็สามารถใช้ “เราชนะ” ได้
มีคนเป็นห่วงว่า ประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน จะไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิในโครงการเราชนะ
ตอนที่เราทำแผนกัน ทีมงานคิดละเอียด ทุกเรื่องเพื่อไม่ให้คนที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือตกหล่นไป เราได้วางรูปแบบไว้แล้วว่า แม้จะไม่มีสมาร์ทโฟน ก็สามารถใช้ “เราชนะ” ได้
ทั้งนี้ เราดูจากผลสำรวจเรื่องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พศ. 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่าประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 56.7ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 89.6 ของประชากรที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน เข้าถึงอินเตอร์เน็ตค่อนข้างสูงคือ ร้อยละ 96.4
สำหรับประเด็นนี้ กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.8 ล้านคน ซึ่งไม่ต้องลงทะเบียนเราชนะ แต่จะได้รับเงินโอนเข้าบัตรโดยตรง
คนที่อาจจะไม่มีบัตรสวัสดิการและไม่มีสมาร์ทโฟน เราก็ได้ประสานงานกับธนาคารของรัฐที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ให้ช่วยอำนวยความสะดวกให้คนกลุ่มนี้ลงทะเบียนได้ ซึ่งได้รับการยืนยันมาแล้วว่าทำได้
ทั้งนี้ก็เพราะ เราได้วางรูปแบบให้มีเวลาลงทะเบียน 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม-12 กุมภาพันธ์ ดังนั้น คนที่มีสิทธิตามเงื่อนไขโครงการ เช่น ไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของพ.ร.บ.ประกันสังคม มีรายได้พึงประเมินไม่เกิน 3 แสนบาท ฯลฯ
จะมีเวลาพอที่จะไปรับความช่วยเหลือในการลงทะเบียน
มีคำถามอีกว่า ทำไมไม่จ่ายเงินเข้าบัญชี แล้วให้ถอนเป็นเงินสดได้ จะได้ใช้จ่ายเงินได้ตามใจชอบ เรื่องแรกเลยคือ เรื่องกำลังอยู่ในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด การสัมผัสธนบัตร จึงเป็นเหตุที่อาจติดเชื้อโควิดได้ ไม่เพียงแต่เท่านั้น เรายังคิดถึงเรื่องลดการแออัดที่ประชาชนจำนวนมาก ที่จะไปต่อคิวกดเงินสดออกจากตู้ ATM ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสนับสนุนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของกระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนี้ เหตุผลสำคัญอีกประการก็คือ ความต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า และให้เงินหมุนเวียนอยู่ในชุมชน เพราะร้านค้าที่รับซื้อหรือรับบริการจะเป็นร้านเล็กๆ เรามีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือคนตัวเล็ก และให้เงินหมุนหลายรอบในระบบเพื่อช่วยเหลือการใช้เงินในชีวิตประจำวันของคนตัวเล็กให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
และครั้งนี้จะเปิดกว้างให้เป็นบริการทั่วไปได้ ซึ่งรวมถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ และอื่นๆ อีกมาก คนที่จะจ่ายค่าเช่าบ้าน ก็สามารถให้ผู้รับเงินเปิด แอพพ์ถุงเงิน เพื่อให้เราใช้เงินในแอพพ์เป๋าตังจ่ายได้ หรือแม้แต่นำเงินสดที่ประหยัดได้จากการใช้วงเงินเราชนะ ที่นำไปใช้จ่ายในส่วนนั้นได้
สิ่งที่เป็นประโยชน์มากอีกอย่างก็คือ การสร้างสังคมไร้เงินสด ซึ่งโครงการ “คนละครึ่ง” เริ่มต้นไว้แล้ว “เราชนะ” ก็มาทำให้ต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งอนาคตเราหนีเรื่องนี้ไม่พ้น
อย่างไรก็ดี ผมขอขอบคุณสำหรับคำถาม ข้อสงสัยต่างๆ ทำให้เรามองเห็นเรื่องที่อาจจะเป็นปัญหา หรือที่เราอาจจะมองข้ามไป เราจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อที่ประเทศไทยจะเดินต่อได้ วันนี้พวกเราต้องร่วมมือกันครับ
#ประเทศไทยต้องไปต่อ #ขับเคลื่อนไปด้วยกัน #SupattanapongP
แม้ไม่มีสมาร์ทโฟนก็สามารถใช้ “เราชนะ” ได้
มีคนเป็นห่วงว่าประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน…
โพสต์โดย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เมื่อ วันพุธที่ 20 มกราคม 2021