รีเซต

จาตุรนต์ เปิดชีวิตคนกลางคืน ผลกระทบจากมาตรการป้องโรค ไม่เป็นโควิด แต่ติดหนี้ตาย

จาตุรนต์ เปิดชีวิตคนกลางคืน ผลกระทบจากมาตรการป้องโรค ไม่เป็นโควิด แต่ติดหนี้ตาย
มติชน
23 มกราคม 2564 ( 15:46 )
132

วันนี้ (23 ม.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่อง “ศิลปินไม่ได้ตายเพราะเป็นโควิด แต่จะตายเพราะเป็นหนี้” เผยแพร่ผ่านเพจทางเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า

 

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มนักร้อง นักดนตรี และผู้ประกอบการ สิ่งที่พวกเขาพูดถึงเป็นเรื่องแรก ๆ คือมีเพื่อน พี่น้อง คนรู้จักในวงการดนตรี ที่เสียชีวิตไปหลายคนในช่วงเวลานี้ บางคนเป็นนักดนตรีที่เคยสุขภาพดี เป็นคนร่าเริง แต่พอไม่มีงานทำต่อเนื่องมาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ในรอบแรก ไม่มีเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงครอบครัว จนเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ในที่สุดก็หลอดเลือดในสมองแตกจนเสียชีวิต หรือบางคนก็เลือกที่จะฆ่าตัวตายจบชีวิตตัวเองไป ศิลปินเหล่านี้จึงไม่ได้กำลังจะตายเพราะติดเชื้อไวรัส แต่พวกเขากำลังจะไม่มีกิน

 

เพราะตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2563 จนถึงวันนี้ นับเป็นเวลากว่า 1 เดือนเต็ม ที่ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือร้านที่มีดนตรีสดในหลายจังหวัดถูกสั่งไม่ให้เล่นดนตรี ร้านอาหารใน กทม.ถึงแม้ไม่ได้ถูกสั่งให้ปิดร้าน และไม่ได้ห้ามเล่นดนตรีแต่ก็เปิดได้แค่ 3 ทุ่ม ร้านที่มีดนตรี ปกติลูกค้าไม่ได้มาใช้บริการเพื่อทานอาหารเพียงอย่างเดียว อีกทั้งปกติเวลา 3 ทุ่มกลับเป็นเวลาที่ร้านเหล่านี้เพิ่งเปิดบริการด้วยซ้ำ ทำให้แม้จะเปิดกิจการไปแต่ก็ไม่มีลูกค้ามาใช้บริการ พวกเขาจึงเลือกที่จะปิดร้าน

 

สิ่งที่เป็นปัญหาจากการปิดกิจการที่เป็นแหล่งรายได้ของพวกเขาคือเมื่อไม่ได้รับการเยียวยา เมื่อร้านปิดตัวเองไม่ได้ถูกสั่งให้ปิดก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ประกันสังคม ในการฟื้นฟูเยียวยารัฐกลับมีไม่มีมาตรการที่ช่วยเหลือพวกเขาได้ หรือการระบาดของโควิดรอบใหม่นี้ รัฐมีแต่คำสั่งให้ปิดบริการต่างๆ แต่ไม่มีวี่แววว่า จะชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปอย่างไร เงินเยียวยาเมื่อเทียบกับสิ่งที่สูญเสียไปยังห่างกันมาก โครงการคนละครึ่งหรือที่จะให้อาทิตย์ละ 1,000 บาทก็ไม่ใช่เงินสดไม่สามารถนำเงินเยียวยานี้ ไปจ่ายค่าบ้าน ค่าเช่าร้าน หรือใช้หนี้ ก็กลายเป็นว่าไม่สามารถนำไปใช้ได้ เพียงเพราะข้ออ้างของรัฐบาลที่ว่ากลัวคนจะนำเงิน 3,500 บาทนี้ไปซื้อเหล้า

 

ร้าน Rose22 คือ หนึ่งในร้านที่ปิดตัวลง โดยในโควิดครั้งแรกเมื่อต้นปี 2563 ร้านปิดกิจการตามคำสั่งของรัฐตั้งแต่วันแรกที่มีการประกาศ เจ้าของร้านลองไปกู้เงินในระบบจากธนาคารรัฐแต่กลับสามารถกู้มาได้เพียง 10,000 บาท ทำให้เขาต้องไปกู้เงินนอกระบบมาจำนวน 300,000 บาท เพื่อจ่ายเงินค่าเช่าร้านที่ยังต้องจ่ายอยู่ทุกเดือนแม้ร้านจะไม่ได้เปิดบริการ และยังจ่ายเงินเดือนพนักงานอีกกว่า 30 ชีวิต เป็นจำนวน 50% พนักงานบางคนเลือกไปประกอบอาชีพขับรถส่งอาหาร หรือบางคนก็ขอลาออกไป

 

ร้าน Rose22 เปิดมาให้บริการอีกครั้ง ในเดือนกรกฎาคม และเพียง 5 เดือนที่กิจการค่อยๆ ฟื้นตัว แต่โควิด-19 รอบใหม่ก็กลับมาระบาดอีกครั้ง ซึ่งใน 5 เดือนที่ผ่านมาก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะสามารถกลับมาให้บริการได้อย่างเดิม ร้านต้องรับลูกค้าน้อยลงเพื่อจัดระยะ Social Distancing และเมื่อมาตรการเริ่มผ่อนคลายแต่ลูกค้าเองก็ยังไม่กลับมาใช้บริการตามปกติ ร้านจึงมีลูกค้าเหลืออยู่แค่ 30% เท่านั้นเมื่อเทียบกับภาวะปกติ

 

นั่นจึงหมายความว่าถ้าวันนี้รัฐยอมให้ร้านที่มีดนตรีสดเช่นร้านนี้เปิดให้บริการตามเวลาปกติ ไม่ให้ปิดตั้งแต่ 3 ทุ่ม ผู้ประกอบการจะสามารถวางระบบป้องกันได้ เพราะไม่ได้มีลูกค้าจำนวนมากมานั่งเบียดเสียดอยู่แล้ว และยังสามารถจัดโต๊ะให้ห่างจากเวที รวมทั้งไมค์ของนักร้อง เครื่องดนตรี หรือข้าวของต่าง ๆ ก็หมั่นทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอได้

 

แต่รัฐกลับไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น ทำให้จากระยะเวลา 5 เดือนที่คิดว่า จะสามารถคงสภาพกิจการให้เลี้ยงพนักงานได้ และมีเงินมาใช้หนี้ที่กู้ยืมมาจากปีที่แล้ว วันนี้กลับมองไม่เห็นอนาคต โดยเฉพาะวันนี้ที่กรุงเทพมหานครมีมาตรการปลดล็อก 13 กิจการ แต่กลับไม่รวมร้านที่มีดนตรีสดเหล่านี้ไปด้วย ว่าพวกเขาจะกลับมาเปิดได้ตามปกติเมื่อไหร่

 

นักดนตรีที่มาร่วมพูดคุยคนหนึ่งสะท้อนว่า เขาเล่นดนตรีมา 30 กว่าปี เสียภาษีมาโดยตลอด แต่กลับไม่เคยได้เงินเยียวยาทั้ง 15,000 บาทในรอบที่แล้ว และก็ไม่คิดว่าจะได้ 3,500 บาทในรอบนี้ด้วย ซึ่งจากปกติที่เขาเคยเล่นอยู่ในร้านอาหารตามโรงแรมกว่า 4 แห่ง แต่ขณะนี้ทุกร้านยังไม่สามารถเล่นดนตรีสดได้ (ตามความเข้าใจของนักดนตรีในทุกวันนี้) รายได้ของเขาจึงมาจากงานรับจ้าง ที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนใหญ่คนโต คนในแวดวงราชการเจ้าหน้าที่รัฐ จ้างไปเล่นในงานส่วนตัว ที่ภายในงานนั้นก็ไม่ได้มีการจัด Social Distancing แต่อย่างใด

 

และเมื่อถามว่า พวกเขาต้องการให้รัฐช่วยสิ่งใด คำตอบเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือต้องการเพียงให้กิจการกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ และให้เล่นดนตรีได้ ให้ศิลปินเหล่านี้ได้กลับมาตั้งตัวได้อีกครั้ง ซึ่งถามว่าทำไมเขาไม่ต้องการให้มีการพักชำระหนี้หรือแหล่งเงินกู้ เจ้าของร้าน Rose22 ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ร้านส่วนใหญ่กู้เงินนอกระบบมาทั้งนั้น การพักชำระหนี้ไปก็ไม่มีประโยชน์มากมายนัก หรือถ้าจะให้เงินกู้ ครั้งที่แล้วที่เขากู้เงินจากธนาคารรัฐก็สามารถกู้มาได้แค่ 10,000 บาท ครั้งนี้จะกู้อีกคงกู้ไม่ได้แล้ว ซ้ำหนี้ที่มีอยู่ก็ยังใช้คืนไม่หมด จึงขอเพียงอย่างเดียวคือ “ขอให้เขากลับมามีอาชีพอีกครั้ง”

 

ยังมีนักร้อง นักดนตรีและพนักงานในร้านอาหารอีกจำนวนมากในหลายสิบจังหวัดทั่วประเทศที่ต้องเดือดร้อนครับ

 

ผมคิดว่าทางออกในเรื่องนี้คือต้องรีบเยียวยาให้เพียงพอกับความเดือดร้อนของพวกเขาและที่จำเป็นเร่งด่วนคือต้องรีบเปิดให้เขาประกอบอาชีพได้ ต้องยกเลิกคำสั่งห้ามเปิดร้านอาหารเกิน 3-4 ทุ่ม ไม่ห้ามการเล่นดนตรีหรือคาราโอเกะในร้านอาหาร แต่ให้ปฏิบัติตามระเบียบในการป้องกันการแพร่ระบาดที่จำเป็น นอกจากพื้นที่สีแดงเข้มแล้วควรดำเนินการแก้ไขปรับปรุงคำสั่งเป็นการทั่วไปทั้งประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง