รีเซต

ยักษ์ใหญ่วงการเทคฯ มีจุดยืนอย่างไรในการเลือกตั้งสหรัฐฯ

ยักษ์ใหญ่วงการเทคฯ มีจุดยืนอย่างไรในการเลือกตั้งสหรัฐฯ
TNN ช่อง16
1 พฤศจิกายน 2567 ( 18:00 )
12
ยักษ์ใหญ่วงการเทคฯ มีจุดยืนอย่างไรในการเลือกตั้งสหรัฐฯ

การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาปี 2024 กำลังมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าทำให้การแข่งขันระหว่างโดนัล ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และกมลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต กำลังเป็นไปอย่างดุเดือดในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้


บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและมหาเศรษฐีของสหรัฐฯ เริ่มมีการแสดงออกเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองต่าง ๆ ชัดเจนมากขึ้นตามสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ทั้งในรูปแบบการบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบ และการแสดงออกบนสื่อโซเชียลมีเดียบนโลกออนไลน์


ฝ่ายสนับสนุนกมลา แฮร์ริส


บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง เมตา (Meta), แอลฟาเบท (Alphabet), แอมะซอน (Amazon) และไมโครซอฟท์ (Microsoft) สนับสนุนทางการเงินให้กับสำหรับแคมเปญหาเสียงของแฮร์ริส รวมไปถึงการบริจาคส่วนตัวของพนักงานหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับแคมเปญหาเสียงของแฮร์ริส ตัวอย่างเช่น พนักงานของแอลฟาเบท (Alphabet) บริจาคเงินให้กับแฮร์ริส มากกว่าบริจาคให้กับทรัมป์เป็นจำนวนอย่างมาก


บุคคลสำคัญด้านเทคโนโลยี เช่น บิต เกตส์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ไมโครซอฟต์ (Microsoft) ซึ่งทุ่มเงินบริจาคกว่า 50 ล้านลอลลาร์สหรัฐให้กับองค์กรไม่แสดงว่าผลกำไรที่สนับสนุนแคมเปญหาเสียงของกมลา แฮร์ริส ตามรายงานของสำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) ซึ่งส่งผลให้แฮร์ริสมียอดมหาเศรษฐีที่สนับสนุนการรณรงค์หาเสียงของรองประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง


นอกจากนี้ยังมีรีด ฮอฟแมน (Reid Hoffman) ผู้ร่วมก่อตั้งลิงค์อิน (LinkedIn) และมาร์ค คิวบาน (Marc Cuban) นักลงทุนมหาเศรษฐีชื่อดัง ต่างออกตัวให้การสนับสนุนกมลา แฮร์ริส อย่างเปิดเผย โดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของเธอในการสร้างเสถียรภาพในธุรกิจและนโยบายก้าวหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการ


ในด้านของนโยบายแฮร์ริสสนับสนุนให้มีการควบคุมที่เข้มงวดยิ่งขึ้นสำหรับบริษัทเทคโนโลยี รวมถึงการรับผิดชอบต่อการกลั่นกรองเนื้อหาและการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล โดยสนับสนุนคำสั่งฝ่ายบริหารของไบเดนเกี่ยวกับการควบคุม AI ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนวทางที่ไม่เข้มงวดของทรัมป์


สำหรับบริษทอื่น ๆ ที่สนับสนุนแคมเปญหาเสียงของกมลา แฮร์ริส เช่น แอปเปิล (Apple), เอ็นวิเดีย (Nvidia), เน็ตฟลิกซ์ (Netflix), อโดบี (Adobe), มอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) และดิสนีย์ (Disney)


ฝ่ายสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์


ผู้สนับสนุนทรัมป์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) และนักลงทุนอย่างบิลล์ แอ็กแมน (Bill Ackman) และเดวิด แซ็กส์ (David Sacks) การสนับสนุนของมัสก์นั้นชัดเจนเป็นพิเศษ โดยใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเอ็กซ์ (X) ที่ตนเองเป็นเจ้าของเพื่อการโปรโมตแคมเปญหาเสียงของทรัมป์ให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ


แคมเปญหาเสียงของทรัมป์สนับสนุนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ปลอดกฎระเบียบสำหรับบริษัทเทคโนโลยีได้แข่งขันได้อิสระมากขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลของทรัมป์เคยพยายามแบนติ๊กต็อก (TikTok) และวิพากษ์วิจารณ์การจัดการข้อมูลเท็จบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ไม่มีกฎระเบียบที่เข้มงวด


อย่างไรก็ตาม ท่าทีของทรัมป์เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเข้าสู่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาในปี 2024 ทั้งการกลับมาใช้งานแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ที่ตนเองเคยถูกแบน และการเปิดบัญชีบนติ๊กต็อก (TikTok) ของตัวเองอย่างเป็นทางการ โดยทรัมป์เรียกติ๊กต็อกว่าเป็นเหมือนโลกใบใหม่ที่มีคนดูคลิปของตนเป็นล้าน ๆ ครั้ง


ในด้านนโยบายของทรัมป์มีท่าทีลดการผูกขาดบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดยได้แสดงท่าทีต่อต้านการผูกขาดธุรกิจเทคโนโลยีจากบริษัทขนาดใหญ่ และวิพากษ์วิจารณ์บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างเปิดเผย


สำหรับบริษทอื่น ๆ ที่สนับสนุนแคมเปญหาเสียงของทรัมป์ เช่น โบอิ้ง (Boeing), ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin), เฟดเอ็กซ์ (FedEx), นอร์ธรอป กรัมแมน (Northrop Grumman) และ เจนเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors)


ความชอบส่วนตัวและอุดมการณ์


ศาสตราจารย์มาร์ค โจนส์ (Mark Jones) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไรซ์ในเมืองฮูสตัน สหรัฐอเมริกา เปิดเผยผ่านสำนักข่าวอานาโดลู (Anadolu) เกี่ยวกับเหตุผลที่ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและมหาเศรษฐีในสหรัฐฯ ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนพรรคการเมืองว่าอาจมาจากความชอบส่วนตัวและอุดมการณ์เป็นหลัก


เนื่องจากเห็นได้จากกลุ่มบริษัทที่มีหัวก้าวหน้ามักแสดงท่าทีสนับสนุนกมลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต ส่วนบริษัทที่ค่อนข้างมีความอนุรักษ์นิยมมักแสดงท่าทีสนับสนุนโดนัล ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน มากกว่าความต้องการที่จะให้ประธานาธิบดีคนใหม่ไปส่งเสริมผลประโยชน์ทางธุรกิจของพวกเขา


ตัวอย่างเช่น มหาเศรษฐีชื่อดังอีลอน มัสก์ ซึ่งศาสตราจารย์มาร์ค โจนส์ (Mark Jones) มองว่าเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้อีลอน มัสก์ เข้าซื้อกิจการของทวิตเตอร์ (Twitter) ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นเอ็กซ์ (X) เนื่องมาจากความต้องการเพิ่มบทบาทของตัวเองในเวทีการเมืองโลก หรือต้องการช่องทางในการสร้างอิทธิพลผ่านทางสื่อให้กับตัวเองเป็นหลัก


สำหรับอีลอน มัสก์ การเลือกตั้งในครั้งนี้ทุ่มสนับสนุนแคมเปญหาเสียงของทรัมป์สุดตัว โดยประกาศแจกเงินให้กับคนที่ลงชื่อในคำร้องออนไลน์สนับสนุนรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เป็นเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 35-37 ล้านบาท ซึ่งจะสุ่มแจก 1 คนต่อวัน ไปจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้งสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในสหรัฐอเมริกาบางส่วนออกมาเตือนว่าอาจผิดกฎหมายการเลือกตั้ง


การสนับสนุนพร้อมผลประโยชน์ทางธุรกิจ


ตามกฎหมายเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา บริษัทเอกชนและบุคคลสามารถบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมืองได้เพื่อใช้จ่ายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ภายใต้กฎหมายที่ควบคุมการบริจาคเงินหาเสียง การใช้จ่าย และเงินทุนสาธารณะได้รับการประกาศใช้ในระดับรัฐบาลกลางโดยรัฐสภาและบังคับใช้โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งของรัฐบาลกลาง (FEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐบาล


แม้ว่าการใช้จ่ายหาเสียงส่วนใหญ่จะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน สหรัฐอเมริกาก็มีเงินทุนสาธารณะให้สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาที่ผ่านคุณสมบัติ ทั้งในช่วงไพรมารีและการเลือกตั้งทั่วไป


อย่างไรก็ตาม การบริจาคเงินสนับสนุนยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันในสหรัฐอเมริกา บริษัทเอกชนหลายแห่งมักถูกต้องข้อสงสัยเกี่ยวกับผลประโยชน์และสิทธิพิเศษทางอ้อมที่ได้รับ หลังจากพรรคการเมืองที่ตนเองสนับสนุนได้เป็นรัฐบาล งานวิจัยในปี 2011 เรื่อง "การบริจาคเพื่อการรณรงค์ การเข้าถึง และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ" โดยคริสโตเฟอร์ วิทโก มหาวิทยาลัยเซนท์หลุยส์ พบว่าบริษัทที่บริจาคเงินให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งในระดับสหพันธรัฐมีโอกาสจะได้รับสัญญาการดำเนินธุรกิจเพิ่มมากขึ้น 


แต่ก็มีงานวิจัยอีกชิ้นที่พยายามหักล้างแนวคิดดังกล่าวตีพิมพ์ในปี 2020 โดยเอลีเนอร์ เนฟ พาวเวลล์ และ จัสติน กริมเมอร์ นักวิทยาศาสตร์การเมืองแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก และมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ได้ระบุว่าไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่แสดงว่าบริษัทต่าง ๆ ที่บริจาคเงินให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ชนะการเลือกตั้ง


เลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 5 พฤศจิกายน


การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2024 ในครั้งนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการการแข่งขันในครั้งนี้มีหลายมิติ โดยเฉพาะการสนับสนุนจากบริษัทเทคโนโลยี การแข่งขันไม่เพียงแค่เกี่ยวกับนโยบายผู้สมัครและพรรคการเมือง แต่ยังเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการรณรงค์หาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย การสนับสนุนจากบริษัทเหล่านี้จึงมีอิทธิพลต่อผลการแข่งขันในการเลือกตั้งอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง


ที่มาของข้อมูล


https://www.aa.com.tr/en/americas/us-elections-where-do-tech-giants-and-billionaires-stand-on-trump-and-harris/3338363 ;

https://www.euronews.com/business/2024/10/28/harris-or-trump-whos-winning-big-business-backing-in-the-us 

https://trilligent.com/2024-us-election-series-tech-insights-with-trilligent/ ;

https://digiday.com/marketing/where-kamala-harris-and-donald-trump-stand-on-big-tech-issues/ ;

https://asia.nikkei.com/Politics/U.S.-elections-2024/Where-will-U.S.-China-tech-decoupling-go-under-Harris-or-Trump ;

https://www.forbes.com/sites/maryroeloffs/2024/10/29/harris-and-trumps-biggest-celebrity-endorsements-and-why-50-cent-turned-down-3m-for-trump-event/ ;

https://www.forbes.com/sites/antoniopequenoiv/2024/10/22/bill-gates-donated-50-million-to-nonprofit-supporting-kamala-harris-report-says/ ;

https://www.forbes.com/sites/antoniopequenoiv/2024/10/22/bill-gates-donated-50-million-to-nonprofit-supporting-kamala-harris-report-says/ ;


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง